ดีอีโชว์ผลงาน นายกฯ เปิดใช้เน็ตประชารัฐ สร้างฐานรากเชื่อมเหนือ-ใต้-ออก-อีสาน-กลาง พร้อมเปิดเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ นำไทยสู่ศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของภูมิภาค (ASEAN Digital Hub)
วันนี้ (29 ก.ย. 2560) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล จังหวัดสตูล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดใช้งานเน็ตประชารัฐทั่วประเทศ และเปิดบริการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ระบบ Asia-Africa-Europe-1 (AAE-1) โดยมี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติร่วมงาน พร้อมด้วย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่โมเดลใหม่ “ประเทศไทย 4.0” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายพิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบัน เน็ตประชารัฐได้ติดตั้งแล้วเสร็จ จำนวน 16,375 หมู่บ้าน (ณ 26 กันยายน 2560) คิดเป็น 66.29 % แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13,435 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 9,007 หมู่บ้าน ภาคเหนือ จำนวน 4,398 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 2,761 หมู่บ้าน ภาคใต้ จำนวน 4,398 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 2,287 หมู่บ้าน ภาคกลาง จำนวน 2,072 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 1,348 หมู่บ้าน ภาคตะวันออก จำนวน 1,542 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 913 หมู่บ้าน กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 81 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 59 หมู่บ้าน
สำหรับโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ระบบ Asia-Africa-Europe-1 (AAE-1) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ โดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มทุนจากบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระหว่างประเทศอีก 17 ประเทศ (France, Italy, Greece, Egypt, Saudi Arabia, Djibouti, Yemen, Oatar, UAE, Oman, Pakistan, India, Myanmar, Cambodia, Vietnam, Hong Kong, Malaysia และ Singapore) ในการก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำความจุสูงระบบแรกที่มีเส้นทางหลักผ่านประเทศไทย
โดยมีแนวเส้นทางเคเบิลจากฮ่องกง พาดผ่านภาคใต้ ซึ่งมีจุดขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสงภาคพื้นดิน Thailand Crossing ไปยังจังหวัดสตูล เชื่อมโยงไปยุโรป โดยโครงการระบบ AAE-1 ใช้เทคโนโลยีล่าสุด 100Gbps ต่อหนึ่งคลื่นนำแสง มีความจุอย่างน้อย 32 ถึง 40 Tbps มูลค่าการลงทุน 20,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ 90% โดยในเฟสแรก เส้นทางประเทศไทย-ยุโรป ได้เปิดใช้งานแล้ว และเส้นทางประเทศไทย-สิงคโปร์ อยู่ระหว่างการทดสอบ สำหรับเฟสที่ 2 เส้นทางประเทศไทย-ฮ่องกง จะสามารถเปิดใช้งานได้ประมาณไตรมาสสุดท้ายของปี 2560
ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย ทีโอทีได้ติดตั้งอุปกรณ์สถานีเคเบิลใต้น้ำปากบาราที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล และได้ดำเนินการติดตั้งเคเบิลใยแก้ว Thailand Crossing เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ ระบบ AAE-1 จะสร้างประโยชน์โดยรวมให้กับประเทศไทย คาดว่าภายในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นฮับในภูมิภาค CLMV