ไซแทนเทค ชี้ หาก IoT มา โอเปอร์เรเตอร์ต้องลงระบบรักษาความปลอดภัยระดับเกตเวย์ เหตุต้องเชื่อมต่อผ่านซิมการ์ด เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการถูกแฮกข้อมูล หรือปล่อยมัลแวร์เรียกค่าไถ่
นายแมทเธียส เยาว์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียไซแมนเทค กล่าวว่า จากสถิติทั่วโลกพบว่า มีการพบมัลแวร์บนอุปกรณ์แอนดรอยด์มากขึ้น 105% ขณะที่มัลแวร์มีสายพันธุ์ที่ไม่เหมือนกันถึง 401 มัลแวร์ ขณะที่แนวโน้มการถูกโจมตีทางไซเบอร์ในประเทศไทยนั้นพบว่า มีแนวโน้มเหมือนกับทั่วโลกนั่น คือ อีเมลจะเป็นช่องทางที่มัลแวร์ชอบใช้มากที่สุด แต่จะมีพัฒนาการการหลอกที่แนบเนียน และซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ได้รับอีเมลหลงเชื่อ และคลิกตามไฟล์ หรือลิงก์ที่แนบมา จากนั้นก็จะปล่อยมัลแวร์มาฝัง และนำไปสู่การเรียกค่าไถ่ข้อมูลในที่สุด
สำหรับอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคารนั้น ยังคงเป็นเป้าหมายแรกของแฮกเกอร์ และผู้ปล่อยมัลแวร์ในการโจมตี เนื่องจากทำแล้วได้เงิน ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอี จะเป็นกลุ่มเป้าหมายรองลงมาเพราะเอสเอ็มอีไม่มีงบประมาณในการลงทุนระบบความปลอดภัยไซเบอร์ จึงมีช่องโหว่ให้โจมตีได้ ส่วนการโจมตีภาครัฐ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะมีผู้สั่งการอยู่เบื้องหลังมากกว่า
ขณะที่ IoT ที่ไม่ได้อยู่บนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เช่น รถยนต์ ตู้เย็น การลงระบบความปลอดภัยต้องลงที่ระดับเกตเวย์ เนื่องจากหากเป็นอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือจะสามารถลงระบบความปลอดภัยที่ตัวเครื่องได้ แต่ IoT เช่น รถยนต์ จะมีความเสี่ยงทันทีเมื่อต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านไวไฟ ข้างนอกองค์กร หรือเชื่อมต่อผ่านซิมการ์ดกับเน็ตเวิร์ก 3G หรือ 4G ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ในการลงระบบความปลอดภัยซึ่งจะดีที่สุดคือต้องลงที่เกตเวย์
นายแมทเธียส กล่าวว่า สำหรับบริการของไซแมนเทค สามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกระดับ ตั้งแต่อุปกรณ์ของผู้ใช้ ตลอดจนการลบไฟล์ที่ติดไวรัส รวมถึงสามารถป้องกันได้ในระดับเซิร์ฟเวอร์ ไปจนถึงการปิดช่องโหว่ที่ดาต้า เซ็นเตอร์ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบเว็บไซต์ คอนเทนต์ ที่มีไวรัสได้ ตลอดจนมีบริการสร้างหน้าเว็บเสมือนเพื่อปกป้องไวรัสไม่ให้เข้าถึงเว็บจริงขององค์กรได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลในการวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ส่งมาผ่านอีเมล และข้อความนั้นปลอดภัยหรือไม่