ปณท เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก 2560 รายได้รวมทั้งสิ้น 13,473 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,979 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ที่ 18% พร้อมเปิดตัว “พี่ตู้รู้ทุกเรื่อง” นวัตกรรมตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะยุค 4.0 เปลี่ยนตู้ไปรษณีย์ธรรมดาให้สามารถให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร เครื่องดื่ม แหล่งของฝากและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเริ่มนำร่องติดตั้งที่จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 15 ตู้ ก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไปในอนาคต
พล.อ.สาธิต พิธรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวถึงผลการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยในช่วงครึ่งปีแรก ระหว่างมกราคม-มิถุนายน 2560 ว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้น 13,473 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,979 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 ที่ 18% โดยรายได้จากการเติบโตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มบริการขนส่งและลอจิสติกส์ ซึ่งมาจากการเกิดเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ คิดเป็น 42% หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เป้าหมายรายได้ของปี 2560 อยู่ที่ 26,000 ล้านบาท และประมาณการผลกำไรสุทธิ ประมาณ 3,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยด้วยการผลักดันเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายของไปรษณีย์ ที่มีที่ทำการไปรษณีย์กว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ น้อมนำแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ประยุกต์ใช้เพื่อผลักดันสังคม และชุมชน กระตุ้นการหมุนเวียนของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และยกระดับอีคอมเมิร์ซระดับชุมชนให้มีประสิทธิภาพ ได้รับมาตรฐาน มีตลาดรองรับที่กว้างขวาง
จึงเริ่มนำร่องด้วยการปรับปรุงตู้ไปรษณีย์เพื่อบริการประชาชนด้วยคิวอาร์โค้ด ภายใต้ชื่อ “พี่ตู้รู้ทุกเรื่อง” นวัตกรรมตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะยุค 4.0 ที่เปลี่ยนตู้ไปรษณีย์ธรรมดาให้สามารถให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงได้เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเป็นการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยว และผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้มีความไหลเวียนมากขึ้น โดยปัจจุบันจะทำการนำร่องติดตั้งตู้ดังกล่าวในจังหวัดพิษณุโลก จำนวนทั้งสิ้น 15 ตู้ กระจายไปทุกอำเภอในจังหวัด พร้อมมีแผนเตรียมขยายไปพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศภายในปีนี้
พร้อมกันนี้ ไปรษณีย์ไทยในฐานะผู้ให้บริการด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ที่เติบโต และอยู่เคียงข้างกับประเทศไทยมาโดยตลอด พร้อมรองรับนโยบาย และโครงการต่าง ๆ ของทางรัฐบาล อาทิ แผนงานอีคอมเมิร์ซ 4.0 ร่วมกับส่วนงานราชการ และหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ พัฒนาผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซและสร้าง “ดิจิตอลชุมชน” ให้บริการมาร์เกตเพลส (Marketplace) ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน แผนการรองรับการขยายตัวของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วางแผนการจัดตั้งศูนย์ลอจิสติกส์ฮับที่ครอบคลุมเข้มแข็ง เชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
“คาดว่าภายในปีนี้จะมีข้อสรุปว่า เราจะสามารถทำลอจิสติกส์ในพื้นที่ EEC คือ ที่ศรีราชา ได้หรือไม่ แม้ว่าเราจะมีต้นแบบที่ จ.พิษณุโลก ที่เราทำอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อแตกต่างกัน เพราะพิษณุโลกมีการขนส่งแค่เครื่องบิน และรถไฟ แต่ที่ศรีราชา มีการขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้นมาด้วย จึงต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้เสียก่อน”
ขณะที่ นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวถึงความคืบหน้าการทำลอจิสติกส์ EEC ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรายชื่อคณะทำงานที่ทำร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลการ, การท่าเรือ, สนามบินอู่ตะเภา จึงยังไม่มีการหารือถึงรายละเอียดร่วมกัน ซึ่งโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ต้องอยู่ที่การวิเคราะห์ถึงต้นทุนในการให้บริการด้วย หากทำแล้วต้นทุนสูงกว่า ก็ไม่น่าทำ ทำให้ยังไม่สามารถตั้งงบประมาณสำหรับการทำโครงการนี้ได้
สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง ปณท ยังคงยึดหลักในการดำเนินการที่จะต้องเติบโตควบคู่กับชุมชน สังคม และประเทศชาติ พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ผ่านการพัฒนา 3 ส่วนหลัก ตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการชุมชน ได้แก่ 1. e-Marketplace & Platform ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ต (www.thailandpostmart.com) เพื่อเป็นมาร์เกตเพลสระดับประเทศ พื้นที่ฝากขายสินค้าที่รวบรวมสินค้าชุมชนจากผู้ประกอบการทุกพื้นที่ในประเทศไทย 2. e-Logistics คิดค้นและพัฒนาช่องทางส่งของให้กลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซ อาทิ กล่องฟอร์คอมเมิร์ซ กล่องลดต้นทุน หนุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ บริการนำจ่ายให้ผู้รับปลายทาง C2C Fulfillment Solution เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองให้ได้รับสิ่งของที่รวดเร็วขึ้น และบริการกำหนดจุดรับสินค้า (Drop Off) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกสถานที่รับสินค้าที่สะดวกได้ 3. e-Payment พัฒนาระบบการชำระค่าสินค้าและบริการได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สู่การเป็นดิจิตอลวอลเลต (Digital Wallet) รองรับสังคมไร้เงินสด
ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยมุ่งหน้ายกระดับสู่ “ไปรษณีย์ 4.0” ด้วยการขับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับระบบงานในทุกกระบวนการ ได้แก่ กระบวนการรับฝาก คัดแยก ส่งต่อ และนำจ่าย เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานที่เข้มข้นมากขึ้น โดยจะทำการจัดตั้งเครือข่ายรถยนต์สำหรับรับฝากสิ่งของ ณ ที่อยู่ลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซ นำร่องที่ที่ทำการไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพฯ 10 แห่ง ได้แก่ สามเสนใน, หลักสี่, ปากเกร็ด, จระเข้บัว, รังสิต, คลองจั่น, ภาษีเจริญ, ยานนาวา, พระโขนง และพระประแดง เพิ่มจำนวนตู้บริการ iBox เพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการบริเวณห้องรอจ่าย จัดตั้งจุดรับสิ่งของที่อยู่ใกล้บ้าน (Drop Station) โดยตั้งเป้าในการจัดตั้งทั้งหมด 80 จุด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการทั่วประเทศ