หนึ่งในสตาร์ทอัปที่มีอัตราการเติบโตที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น แกร็บ (Grab) ที่ให้บริการแพลตฟอร์มในการเรียกรถโดยสาร โดยมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการสร้างความปลอดภัยในการโดยสารรถแท็กซี่ในมาเลเซีย
โดยในช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แกร็บ เพิ่งได้โอกาสฉลองครบรอบ 5 ปี ในการให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถโดยสาร ที่จับกลุ่มผู้ใช้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก ด้วยการนำความเข้าใจรูปแบบวัฒนธรรม และพฤติกรรมของผู้ใช้ในภูมิภาคที่ใกล้เคียงกันมาปรับใช้ในการให้บริการ
แอนโธนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ ให้ข้อมูลว่า ช่วงแรกของการเริ่มต้นให้บริการ แกร็บ วางตัวเป็นแพลตฟอร์มในการเรียกรถแท็กซี่ ในมาเลเซีย ที่ต้องการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการ ว่าจะได้รับความปลอดภัยในการขับขี่จากพนักงานขับที่มีการยืนยันตัวตนชัดเจน ไว้ใจได้ และอำนวยความสะดวกในการเรียกบริการผ่านแอปพลิเคชัน
การเติบโตของแกร็บในช่วงแรกจึงเพิ่มขึ้นตามจำนวนรถแท็กซี่ที่เข้ามาร่วมให้บริการ จนได้รับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสขยายบริการออกมาสู่ประเทศอื่นๆในภูมิภาค พร้อมไปกับการรีแบรนด์ในช่วงปีที่ผ่านมา จากแกร็บ แท็กซี่ (Grab Taxi) มาเป็นแบรนด์ 'แกร็บ'
เมื่อรีแบรนด์เรียบร้อยแล้ว ก็จะทำให้แกร็บ สามารถขยายรูปแบบบริการเรียกรถโดยสารให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ยึดติดกับการให้บริการแท็กซี่เพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันที่ในประเทศไทยมีให้บริการทั้ง แกร็บ แท็กซี่ (Grab Taxi) แกร็บ คาร์ (Grab Car) แกร็บ ไบค์ (Grab Bike)
รวมถึงบริการที่ให้บริการในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น แกร็บ โค้ช (Grab Coach) แกร็บชัตเทิล (Grab Shuttle) ที่เป็นบริการเดินทางแบบหมู่คณะ, แกร็บ ฟู้ด (Grab Food) บริการสั่งซื้ออาหาร ,แกร็บ แชร์ (บริการแชร์รถโดยสาร) ซึ่งในบางบริการยังไม่สามารถนำเข้ามาให้บริการในไทยได้ เนื่องจากกฏหมายยังไม่รองรับ
แน่นอนว่า ถ้าสังเกตทิศทางในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่า แกร็บ พยายามที่จะเพิ่มรูปแบบบริการให้หลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เข้าไปทำความเข้าใจกับภาครัฐ เพื่อทำให้ทุกอย่างถูกต้อง และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
โดยล่าสุด ได้เพิ่มบริการอย่าง แกร็บนาว (Grab Now) ไว้ใช้ในการเรียกรถโดยสารประเภทใดก็ได้ ที่เร็วที่สุด โดยจะเริ่มให้บริการกับรถมอเตอร์ไซค์ก่อนในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย โดยใช้รูปแบบของการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เมื่อพนักงานขับเข้ามาอยู่ในระยะที่ใกล้กัน ตัวแอปจะทำการเชื่อมระบบผ่านบลูทูธ เมื่อเดินทางถึงที่หมายก็หักเงินจากบัญชีแกร็บ เพย์ได้ทันที
ประกอบกับการเพิ่มฟีเจอร์อย่าง Grab Chat มาให้ผู้โดยสารสามารถติดต่อสื่อสารกับพนักงานขับรถในการระบุตำแหน่งเพิ่มเติม หรือบอกเวลานัดหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เริ่มให้บริการมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และพบว่าอัตราการยกเลิกโดยสารลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
***ยึด 3 ภาคส่วน พนักงานขับ ผู้โดยสาร และสังคม
เมื่อดูถึงระบบนิเวศน์ในการให้บริการของแกร็บในปัจจุบันพบว่า หัวใจหลักของ แกร็บ ในตอนนี้อยู่ที่ 3 ส่วนหลักๆ คือในเรื่องของ พนักงานขับรถ หรือพาร์ทเนอร์ ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 9.3 แสนราย และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือการเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้แก่พนักงานขับรถ
โดยจากข้อมูลของแกร็บระบุว่า พนักงานขับของแกร็บสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงถึง 32% ในแต่ละชั่วโมงที่ทำงาน (ในไทยอยู่ที่ราว 19%) ขณะเดียวกัน แกร็บ ยังช่วยให้พนักงานขับกว่า 6.4 แสนราย ได้เข้าสู่โลกของการฝากเงินในธนาคาร รวมถึงเข้าสู่การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป
อีกส่วนหนึ่งคือการเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรม การให้ความรู้ สอนภาษาอังกฤษ ให้แก่พนักงานขับในประเทศไทย รวมถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสังคม ในการเข้าไปช่วยเหลือโครงการต่างๆ
ถัดมาคือฝั่งของผู้โดยสาร แกร็บ ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ 5 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุบัติเหตุจากรถยนต์ส่วนบุคคลในภูมิภาค ที่สำคัญคือ 8 ใน 10 ของผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิงรู้สึกปลอดภัยมากกว่าเมื่อเรียกใช้งานแกร็บ ขณะเดียวกัน แกร็บ ยังช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้สูงสุดถึง 50% เมื่อเทียบกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ
สุดท้ายคือในภาคของสังคม แกร็บ มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ไปแล้วเกือบ 3.2 ล้านกิโลกรัมต่อปี และที่สำคัญคือช่วยลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน เมื่อทำให้ผู้โดยสารรู้สึกถึงความสะดวกในการเดินทาง ไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนบุคคลก็สามารถเดินทางถึงที่หมายได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ ในสิงคโปร์ แกร็บยังมีการร่วมมือกับภาครัฐในการนำข้อมูลการเดินทางต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ พื้นที่จราจรติดขัดในแต่ละช่วงเวลา ทำแผนบริหารจัดการระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยแกร็บสามารถลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลในสิงคโปร์ลงกว่า 1.3 หมื่นคันในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
***ยกระดับระบบชำระเงิน
ทิศทางที่เริ่มเห็นชัดได้มากขึ้นในปัจจุบันคือแกร็บ พยายามทำให้ทั้งผู้ขับ และผู้ใช้มีการเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อนำมาใช้งานระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ด้วยการให้บริการ แกร็บ เพย์ (Grab Pay) ที่เป็นรูปแบบการชำระเงินของแกร็บที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ
จุดที่ทำให้ แกร็บ ได้รับความนิยมในการใช้บริการคือ การที่เปิดให้ลูกค้าสามารถชำระค่าบริการด้วยเงินสดได้ ก่อนที่จะขยายการชำระเงินด้วยการผูกบัตรเข้ากับบัญชีผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เพื่อชำระเงินผ่านระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที
ล่าสุด ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แกร็บ ได้ยกระดับบริการ แกร็บ เพย์ ขึ้นมาอีกขั้น ด้วยการเพิ่ม แกร็บ เพย์ เครดิต ที่ทำหน้าที่เป็นอีวอลเล็ต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ใช้เติมเงินเข้าไปในระบบ เพื่อใช้จ่ายค่าโดยสารโดยไม่ต้องพกเงินสด ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง 90% ในทุกเดือนตั้งแต่เปิดให้บริการ
สำหรับในประเทศไทย รูปแบบการชำระเงินผ่าน แกร็บ เพย์ เครดิต กำลังอยู่ในช่วงขอใบอนุญาตในการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถ้าได้ใบอนุญาตเรียบร้อย ก็พร้อมที่จะผูกระบบเข้าด้วยกัน และเชื่อมการโดยสารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ง่ายขึ้น
***สู่แพลตฟอร์ม เชื่อมโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ (O2O)
เมื่อยกระดับรูปแบบของการชำระเงินแล้ว ในระยะยาว แกร็บจึงมุ่งเป้าที่การเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจ O2O แบบเต็มรูปแบบ เพราะจากข้อมูลการสำรวจมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียผ่านรูปแบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายจะมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 17 ล้านล้านบาทในปี 2025
ประกอบกับการที่แกร็บ วางเป้าเพิ่มยอดพนักงานขับอีก 5 เท่าภายในปี 2025 พร้อมกับอัตราการเติบโต 5 เท่าต่อเนื่องจึงทำให้วางเป้ารายได้ในปี 2025 ไว้ที่ 1.3 หมื่นล้านเหรียญ (ราว 4.4 แสนล้านบาท) ส่วนในประเทศไทยคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ 20% หรือราว 2 พันล้านเหรียญ (ราว 6.8 หมื่นล้านบาท)
โดยสิ่งสำคัญที่จะทำให้แกร็บ แข็งแรงในการให้บริการ O2O ในการเป็นแพลตฟอร์มที่จะกลายเป็นตัวกลางในแง่ของการจัดส่งสินค้า คือเรื่องของความน่าเชื่อถือ จากปริมาณของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และระบบรับชำระเงินผ่านแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมรับทั่วภูมิภาคเอเชีย
***เดินหน้าสานสัมพันธ์ภาครัฐ
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้แกร็บ ยังไม่สามารถนำบริการต่างๆ เข้ามาสู่ประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อกฏหมายของระบบขนส่งในแต่ละประเทศ ซึ่งอย่างในสิงคโปร์ แกร็บสามารถให้บริการได้อย่างถูกกฏหมาย ส่วนเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ก็มีการกำหนดขั้นตอนในความร่วมมือ อย่างการทำใบอนุญาตเพิ่มเติม
โฮย หลิง ตัน ผู้ร่วมก่อตั้ง แกร็บ กล่าวเสริมว่า ในเวลานี้ แกร็บ ได้เข้าไปทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อให้บริการของแกร็บเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนดอย่างเต็มที่ และเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าต้องรอดูว่าจะออกมาในรูปแบบไหนที่จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย
ดังนั้น หลังจากนี้ต้องจับตาดูกันว่า รูปแบบในการให้บริการแกร็บที่ถูกต้องจะออกมาในรูปแบบไหน อย่างการขึ้นทะเบียนคนขับ ทำใบอนุญาตติดรถให้ชัดเจน เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้