นับตั้งแต่รัฐบาลดำเนินโครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) นอกจากระบบพร้อมเพย์ ซึ่งเป็นระบบรับและโอนเงินแบบใหม่แล้ว อีกหนึ่งนโยบายก็คือ การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังลงนามเอ็มโอยู ให้กลุ่มธนาคาร 2 กลุ่ม ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องรูดบัตร (EDC) 5.6 แสนเครื่องทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2561 ประกอบด้วย
- กลุ่มกิจการร่วมค้าโครงการอีเพย์เมนต์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย สองธนาคารนี้มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% ของธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศ
- กลุ่ม TAPS หรือ Thai Alliance Payment System ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต ติดตั้งเครื่อง EDC รวมฟังก์ชัน 5 ธนาคารในเครื่องเดียว
หลังลงนามเอ็มโอยูเกิดขึ้น มีผลทำให้ทุกธนาคาร คิดค่าธรรมเนียมการรับบัตรแก่ร้านค้า สำหรับบัตรเดบิต ที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศไทย เหลือเพียง 0.55% เท่านั้น จากปกติ 1.5 - 1.8% เช่นเดียวกับบัตรเครดิตธรรมดา
ส่วนบัตรเครดิตยังคงคิดค่าธรรมเนียมตามเดิม ทั้งบัตรทั่วไป 1.5 - 1.8% บัตรแพลทินัม/ไทเทเนียม 2.10-2.50% บัตรซิกเนเจอร์ และบัตรระดับสูง 2.4% ขึ้นไป เพราะยังต้องจ่ายให้กับระบบการชำระเงิน วีซ่า และมาสเตอร์การ์ดอยู่
สงครามโปรโมชั่นเครื่องรูดบัตรสำหรับผู้ประกอบการ ร้านค้า โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจึงเกิดขึ้น
เช่น ธนาคารทหารไทย ออกแคมเปญค่าติดตั้งเครื่อง EDC ฟรี และค่าธรรมเนียมรับบัตรเดบิตเพียง 0.30%
ธนาคารกรุงไทย ฟรีค่าแรกเข้า ฟรีค่าเช่าเครื่อง EDC รายเดือน ฟรีค่าซิมการ์ด ฟรีค่ากระดาษเซลล์สลิป
ธนาคารธนชาต ฟรีค่าเครื่อง EDC แบบไม่มีเงื่อนไข พร้อมรับส่วนลด MDR เพิ่มสำหรับบัตรเครดิต
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ลูกค้า SCB SME ที่กู้เงินและสมัครใช้บริการภายใน 31 มีนาคม 2560 รับสิทธิ์ฟรีค่าธรรมเนียมบริการรักษาเครื่อง EDC จากปกติกรณียอดรูดต่ำกว่า 80,000 บาทต่อเดือนคิด 500 บาทต่อเดือน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ถือบัตรเครดิตรวมกัน 24 ล้านใบ และบัตรเดบิตรวมกัน 48 ล้านใบ แต่พบว่าที่ผ่านมาผู้ถือบัตรเดบิตมีการใช้จ่ายไม่มากนัก เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคถนัดใช้เงินสดมากกว่า
อีกทั้งโครงสร้างค่าธรรมเนียมบัตรที่เหลื่อมล้ำกัน ทำให้ร้านค้าที่รับบัตรใช้วิธีกำหนดวงเงินขั้นต่ำในการรูดบัตร
เช่น ซื้อสินค้าตั้งแต่ 100-300 บาทขึ้นไป จึงจะสามารถรูดบัตรได้ หรือบางร้านค้าขอลูกค้าคิดค่ารูดบัตรเพิ่มอีก 3% ก็มี
ช่วงนี้พนักงานธนาคาร อาจจะต้องทำยอดเครื่องรูดบัตรเครดิตกับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า
ส่วนหนึ่งใช้บัญชีรายชื่อร้านค้าที่กระทรวงการคลังให้มา 5.5 แสนรายชื่อ แต่รายชื่อเหล่านั้น ไม่ได้ระบุว่า ยังดำเนินกิจการอยู่ หรือเลิกกิจการไปแล้ว
อุปสรรคที่สำคัญในการเพิ่มเครื่องรูดบัตร โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจแก่ร้านค้าก็คือ ประการแรก ร้านค้าบางร้านมีเครื่องรูดบัตรอยู่แล้ว ธนาคารแต่ละแห่งก็แจ้งค่าธรรมเนียมรูดบัตรอัตราใหม่แก่ร้านค้า
อย่างต่อมา คือ ร้านค้าปฏิเสธไปตรง ๆ ว่า ไม่ต้องการติดตั้งเครื่องรูดบัตร ด้วยสารพัดเหตุผล เช่น เป็นธุรกิจที่ไม่ได้ใช้เงินสด แต่เป็นการรับเงินโอนเข้าบัญชี หรือไม่ต้องการความยุ่งยาก
ร้านค้าบางแห่งเลิกกิจการไปแล้วก็มี!
ความยุ่งยากของร้านค้าในการรับบัตร คือ เมื่อซื้อขายสินค้าแล้ว หากชำระเป็นเงินสด ร้านค้าก็จะได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แต่หากชำระด้วยบัตร ร้านค้าจะต้องถูกธนาคารหักค่าธรรมเนียมรับบัตร คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อครั้ง
ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ว่าทุกร้านค้าจะมีเครื่องรูดบัตรได้ เพราะธนาคารมีมาตรฐานในการออกเครื่องรูดบัตรแก่ลูกค้า
ธุรกิจบางประเภทไม่สามารถออกเครื่องรูดบัตรได้เลย ต้องแสดงหลักฐานก็มี เช่น ธุรกิจทัวร์ ประกัน เวชกรรม ฯลฯ
นอกจากนี้ ด้วยเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด เช่น ต้องรักษายอดขายต่อเดือนเท่าไหร่ จึงจะยกเว้นค่าธรรมเนียมบริการรักษาเครื่อง
บางร้านค้าขายสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ยอดขายไม่ได้มากมายเป็นแสนบาท ก็ไม่อยากติดตั้งเครื่องรูดบัตรก็มี
อย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐให้ติดตั้งเครื่องรูดบัตร ธนาคารอาจจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้ร้านค้าใหม่ ๆ สามารถมีเครื่องรูดบัตรได้ง่ายขึ้น
บางครั้งอาจจะนำเหตุผลที่ร้านค้าไม่ต้องการมีเครื่องรูดบัตร หรือผู้ถือบัตรไม่ต้องการใช้รูดสินค้า มาประเมินและแก้ไข
โดยเฉพาะเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ต้องรักษายอดขายต่อเดือน จะปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นได้หรือไม่
สิ่งที่ท้าทายนอกเหนือจากการส่งเสริมเครื่องรูดบัตร ก็คือ พฤติกรรมของผู้บริโภค เนื่องจากเงินสดยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้า
แม้ธุรกิจในปัจจุบันจะเน้นช่องทางออนไลน์และมีการโอนเงินมากขึ้นก็ตาม
ในส่วนของร้านค้า แม้จะมีการปรับลดค่าธรรมเนียมการรับบัตร โดยเฉพาะบัตรเดบิตลง แต่ร้านค้าหลายแห่งก็ยัง "เหมารวม" ค่าธรรมเนียมแบบกลมๆ อยู่ดี
และอย่างที่บอก ยังคงใช้วิธีรูดบัตรเฉพาะคนที่มียอดซื้อสินค้าขั้นต่ำตามที่กำหนดขึ้นไป
ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง แม้จะมีเครื่องรูดบัตรให้บริการ แต่ยังคงกำหนดยอดซื้อสินค้ามากกว่า 300 บาทขึ้นไปถึงจะรูดบัตรได้
ร้านสุขภาพและความงามแห่งหนึ่ง ก็กำหนดยอดซื้อสินค้ามากกว่า 200 บาทขึ้นไปถึงจะรูดบัตรได้เช่นกัน
ยังมีร้านค้าและห้างค้าปลีกบางแห่ง ที่ไม่กำหนดยอดซื้อสินค้าขั้นต่ำ แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ลูกค้าต้องคอยถามร้านค้า เคาน์เตอร์บริการลูกค้า หรือแคชเชียร์เอาเองว่า ถ้าจะรูดบัตรที่นี่ ต้องซื้อของขั้นต่ำเท่าไหร่
แม้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจะดูเหลื่อมล้ำ แต่ร้านค้าหรือห้างร้านต่าง ๆ สามารถใช้โอกาสนี้จูงใจขึ้นมาได้
อาจจะติดประกาศว่า "ผู้ถือบัตรเดบิตที่ออกในประเทศไทย รูดบัตรได้ไม่มีขั้นต่ำ" แต่ที่สุดแล้วร้านค้าไหนจะกล้าทำ?
การสร้างสังคมไร้เงินสดในอนาคต ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีเครื่องมือทางการเงินมากมายก็ตาม
ระบบอีเพย์เมนท์ที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมอยู่ จึงขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมผู้บริโภค หรือร้านค้าจะเปลี่ยนตามหรือไม่
หรือสุดท้ายแล้ว การเพิ่มเครื่องรูดบัตรอาจจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ของร้านค้า พร้อมค่าธรรมเนียมที่ธนาคารผลักภาระมาให้ในอนาคต
หากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงผักชีโรยหน้าตามสโลแกน "ไทยแลนด์ 4.0" อันสวยหรู แต่ไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่าจะเอาจริงเอาจังอะไรเลย.