xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. ชุดใหม่ ต้องพร้อมรับมือ ยุคไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสทช. ฝากพันธกิจถึง กสทช. ชุดใหม่ เตรียมรับมือยุค 4.0 ทั้งการมาของ 5G และ IoT ขณะที่การคุ้มครองผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายในงาน “เสวนาวิชาการ 6 ปี กสทช. พันธกิจโทรคมนาคม สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0” ว่า 6 ปีที่ผ่านมาได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งระดับชาติ และระดับโลก พันธกิจของ กสทช. ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การมาของ 5G และ IoT (Internet of Thing) ที่เข้าสู่บริการเชิงพาณิชย์เร็วกว่าที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ประมาณการไว้ว่าจะมาในปี 2563 ทำให้ กสทช. ต้องเร่งกำหนดแนวทางกำกับดูแลและส่งเสริมให้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยี ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เบื้องต้น จะมีการจัดทำร่างประกาศเกี่ยวกับ IoT และเตรียมให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับการเข้ามาของ 5G

ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่สำคัญในเวลานี้ คือ ความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ภัยคุกคามไซเบอร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งเมื่อการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายทำได้ง่าย และเกิดขึ้นกับทุกอุปกรณ์ที่มี IoT โอกาสที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องโหว่ที่ถูกมองข้ามโจมตีเข้าสู่ระบบ ทำให้เกิดความเสียหายจึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การดูแลเรื่องความปลอดภัยจึงต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ผลิตเทคโนโลยี ผู้นำเทคโนโลยีมาให้บริการ ผู้กำกับดูแลที่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบ และเอาผิดกับมิจฉาชีพเป็นหลักเกณฑ์ที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ผู้บริโภคเองต้องเข้าใจถึงความเสี่ยง และตื่นตัวที่จะป้องกันตัวเอง ปัญหาของผู้บริโภคในอนาคตไม่ได้อยู่แค่อินเทอร์เน็ตหลุด สัญญาณไม่ดี ราคาค่าบริการแพง แต่จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย กสทช. มีความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการวางแนวทางให้เกิดความปลอดภัยในการการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเงิน และการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การรอดพ้นจากปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์ ผู้บริโภคจะต้องรู้เท่ากันกับภัยคุกคาม และผู้กำกับดูแลต้องตื่นตัวที่จะกำหนดแนวทางที่เหมาะสม

ขณะที่นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องเป็นความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ภาครัฐและผู้กำกับดูแลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มีแนวทางส่งเสริมและดูแลที่เป็นธรรมและเหมาะสม เอกชนต้องตื่นตัว เตรียมบริการและแอปพลิเคชันที่จะให้บริการ ขณะที่ผู้บริโภคต้องหาความรู้และทำความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น