สำหรับใครก็ตามที่นิยมการโพสต์ภาพอาหารลงบนโซเชียลมีเดียนั้น หลายครั้งภาพถ่ายเหล่านั้นก็ไหลไปตามฟีดข่าว และไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากนัก แต่นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ของสถาบันเอ็มไอที (Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory หรือ CSAIL) มองว่า ภาพถ่ายอาหารจะช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของอาหารต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงเข้าใจในพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ด้วย
โดยในเอกสารที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยด้านคอมพิวติ้งกาตาร์ (The Qatar Computing Research Institute) ระบุว่า ทีม CSAIL ได้เทรนปัญญาประดิษฐ์ชื่อ Pic2Recipe ให้ดูภาพอาหารต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ AI สามารถทำนายพฤติกรรมการบริโภคของคน และบอกส่วนผสมของเมนูต่าง ๆ ได้
“จากมุมของคอมพิวเตอร์ ต้องบอกว่า ฐานข้อมูลภาพอาหารในระดับ Large-Scale นั้น ยังขาดแคลน ซึ่งการมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่จะทำให้การทำนายของปัญญาประดิษฐ์แม่นยำมากขึ้น” ดร.ยูซุฟ ไอตาร์ (Yusuf Aytar) ทีมวิจัยจาก CSAIL กล่าว โดยทางทีมวิจัยมองว่า การโพสต์ภาพถ่ายอาหารบนโซเชียลมีเดียที่เคยถูกมองว่าไร้ประโยชน์ อาจกลายเป็นข้อมูลชั้นดีในการบอกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพ และพฤติกรรมการบริโภคได้เลย
ทั้งนี้ ทางทีมได้เข้าถึงเว็บไซต์ด้านเมนูอาหารต่าง ๆ เช่น Food.com เพื่อรวบรวมมาสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ชื่อ “Recipe1M” หรือดาต้าเบสที่มีข้อมูลเมนูอาหารมากกว่า 1 ล้านเมนู พร้อมระบุส่วนผสม แล้วนำฐานข้อมูลนี้มาเทรนระบบ Neural Network เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างอาหารกับส่วนผสมต่าง ๆ
ดังนั้น เมื่อให้ AI ได้ดูภาพอาหาร ด้วยฐานข้อมูลที่มี มันจึงสามารถระบุได้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้างในเมนูนั้น ๆ เช่น แป้ง, ไข่, เนย โดยในตอนนี้ ทางทีมได้เปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ลองทดสอบ AI ดังกล่าวแล้วผ่านออนไลน์ โดยผู้ที่สนใจสามารถอัปโหลดภาพถ่ายอาหารขึ้นไปให้ AI ลองทายดูได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คริสโตป แทรตต์เนอร์ (Christoph Trattner) จาก MODUL University Vienna คาดการณ์ว่า ในอนาคต การนำไปใช้อาจอยู่ในรูปของแอปพลิเคชันด้านสุขภาพ ที่ระบบจะคำนวนให้ว่า สารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันนั้นครบถ้วนหรือไม่ หรือว่าไปรับประทานเมนูนี้จากร้านอาหารข้างนอกมาแล้ว จะต้องรับประทานอะไรที่บ้านจึงจะได้รับสารอาหารครบถ้วนทุกหมู่
จุดแข็งของ AI นี้คือ การระบุส่วนผสมของขนม เช่น คุ๊กกี หรือมัฟฟิน แต่สำหรับเมนู เช่น ซูชิ หรือสมูธตีนั้น ยังทำได้ไม่ดีนัก
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์อย่าง Calum Chace และเป็นผู้เขียนตำราเรื่อง The Economic Singularity กล่าวว่า เป็นการใช้เทคโนโลยี Deep Learning ที่น่าสนใจมาก “นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์ไม่เพียงทำในสิ่งที่คนทำไม่ได้ แต่มันยังมองโลกในมุมที่ต่างจากเราอีกด้วย เช่น อัลฟาร์โกะ (AlphaGo) ที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการเล่นโกะแบบใหม่”