xs
xsm
sm
md
lg

AIC ตบหน้า กสทช. แทนยูทูป-เฟซบุ๊ก จวกกำกับ OTT ล้าหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top หรือ OTT
สหพันธ์อินเทอร์เน็ตเอเชีย ชื่นชม กสทช. ฉาดใหญ่ ระบุข้อบังคับใหม่เรื่อง OTT ถูกกำหนดขึ้นโดยไร้การปรึกษาหารือกับภาคสาธารณะ แถมข้อบังคับยังมีโอกาสขัดกับข้อตกลงทางการค้าที่ไทยทำไว้กับนานาชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะกีดกันการลงทุนในอนาคต ด้านนักสังเกตการณ์เชื่อสงครามกำลังเริ่มต้นแล้ว และการโต้ตอบของ AIC นั้น มองเหมือนเป็นการพูดแทนยูทูป-เฟซบุ๊ก ที่ยังไม่ยอมมาขึ้นทะเบียน OTT ในนาทีนี้

เจฟฟ์ เพน กรรมการผู้จัดการสหพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (Asia Internet Coalition) แสดงความกังวลว่า ประเทศไทยกำลังหันหลังให้นวัตกรรม เพราะข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับการให้บริการ OTT ของ กสทช. เนื่องจากข้อบังคับเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญที่ธุรกิจไทย หรือผู้สร้างนวัตกรรมเป็นอันดับแรก แถมยังเพิ่มขอบเขตการกำกับดูแลจนอาจจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรม

“ข้อบังคับของ กสทช. ยังอาจปิดกั้นไม่ให้คนไทย และธุรกิจไทย ใช้งานแพลตฟอร์มระดับโลก เพื่อสร้างธุรกิจออนไลน์ของตัวเองอย่างเสรี นอกจากนี้ เรายังกังวลว่า ข้อบังคับนี้อาจจะขัดแย้งกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเคยทำไว้อีกด้วย”

แถลงการณ์ของสหพันธ์อินเทอร์เน็ตเอเชียเกิดขึ้น เพราะสมาชิกในสหพันธ์นี้มีความกังวลเมื่อ กสทช. ของไทยมีนโยบายกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top (OTT) ซึ่งมีรายได้จากการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือน หรือรายปี (Subscription Video on Demand หรือ SVoD) โดยมองว่า การกำกับดูแลของ กสทช. จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งในแง่เศรษฐกิจ และวงการธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึงธุรกิจสื่อดิจิตอลของไทยที่กำลังเติบโต

สหพันธ์ AIC ระบุว่า กสทช. ไม่ได้ประกาศร่างข้อบังคับ OTT ต่อสาธารณชน โดยบอกว่าจากการสังเกตการณ์ผ่านรายงานของสื่อมวลชนเรื่องการขอให้บริษัทต่าง ๆ เข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นบริการ OTT ภายใน 30 วัน แต่กลับไม่มีการประกาศร่างข้อบังคับอย่างเป็นทางการ จุดนี้ทำให้สหพันธ์ AIC ขอเรียกร้องให้ กสทช. ดำเนินการเผยแพร่เนื้อหาร่างข้อบังคับต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใสต่อไป

นอกจากนี้ กสทช. ยังออกแถลงการณ์ผ่านสื่อว่า บริษัทที่ไม่เข้าร่วมประชุมกับ กสทช. จะต้องพบกับมาตรการกดดันหากยังดำเนินธุรกิจต่อไป โดยไม่ขึ้นทะเบียนกับ กสทช. ซึ่งล่าสุด AIC พบว่า กสทช. เริ่มมาตรการกดดันผ่านผู้ลงโฆษณาแล้ว จุดนี้ทำให้อุตสาหกรรม OTT อยู่ในสถานะที่ยากลำบาก เพราะต้องเผชิญกับความกดดันที่จะถูกควบคุมโดยกฎระเบียบที่ไม่ได้มีการประกาศต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ

แม้จะยังไม่รู้ว่าข้อบังคับมีเนื้อหาอย่างไร แต่สหพันธ์ AIC ตั้งแง่ว่า โดยทั่วไป ข้อบังคับของ กสทช. เกี่ยวกับ OTT มีโอกาสส่งผลเสียต่อผู้บริโภค และผู้สร้างเนื้อหาในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น กฎระเบียบใหม่นี้อาจขัดขวางการลงทุน และส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว

AIC ยังลงรายละเอียดว่าข้อเสนอของ กสทช. ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่แตกแยกจากประเทศอื่นทั่วโลกเรื่องการควบคุมบริการ OTT โดยบอกว่า กฎระเบียบใหม่ของ กสทช. จะต้องสอดคล้องกับข้อตกลงว่า ด้วยการค้าบริการ (GATS) ในองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งภายใต้ GATS ประเทศไทยระบุว่า จะอนุญาตให้มีการให้บริการข้อมูล ฐานข้อมูล และข้อมูลออนไลน์แบบข้ามพรมแดนโดยไม่จำกัดอย่างทั่วถึง แน่นอนว่าข้อตกลงนี้ครอบคลุมบริการ OTT ข้ามชาติด้วย ดังนั้น กสทช. จึงควรสร้างความมั่นใจ ด้วยการสร้างความโปร่งใส และเปิดเผยให้กับข้อบังคับใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาเพียงพอในการพิจารณาผลกระทบ และแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะ

AIC ยังบอกว่า นโยบายใหม่ของ กสทช. กำหนดให้ผู้ให้บริการ OTT ต้องยอมรับว่า มีสถานะทางภาษีอยู่ในประเทศไทย โดยไม่คำนึงว่า บริษัทมีการตั้งสำนักงานในประเทศไทยหรือไม่ ข้อตกลงนี้ไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศของไทยและนานาประเทศ ทำให้ประเทศไทยเข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล จึงอาจขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ

สำหรับผลกระทบในประเทศที่อาจเกิดขึ้นทันทีต่อเศรษฐกิจไทย AIC มองว่า ธุรกิจขนาดเล็กของไทยอาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ทำให้อาจเกิดการลงโทษอย่างไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน บริการ OTT อาจแตกต่างจากการออกอากาศแบบดั้งเดิม ทำให้ข้อบังคับใหม่ไม่เหมาะกับทิศทางพัฒนาการของบริการ OTT ในอนาคต

พูดแทนยูทูป-เฟซบุ๊ก?

สมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย เป็นองค์กรความร่วมมือในสิงคโปร์ที่มีสมาชิกประกอบด้วยเฟซบุ๊ก, กูเกิล, ไลน์, ยาฮู, ทวิตเตอร์, ราคูเทน ทำหน้าที่ส่งเสริมความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับนโยบายการให้บริการอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น ขณะที่กูเกิล และเฟซบุ๊ก ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับ กสทช. แถลงการณ์ของ AIC จึงเป็นเหมือนการออกหน้ามาพูดโต้ตอบแทน

สำหรับ กสทช. เหตุที่ทำให้ กสทช. ลุกขึ้นมากำกับดูแลผู้ประกอบการ OTT เพราะในปัจจุบัน บริการวิดีโอออนไลน์มีการให้บริการเนื้อหาที่ไม่ถูกกฎหมาย และละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแพร่หลาย จุดนี้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้ให้บริการออนไลน์เหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับเดียวกับสื่อวิทยุโทรทัศน์ดั้งเดิม

กสทช. ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้ประกอบการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้เสียหายจะต้องดำเนินการฟ้องศาลตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่หากอยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. ซึ่ง กสทช. มีอำนาจในการระงับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายได้เมื่อมีผู้ร้องเรียน ก็จะทำให้การแก้ปัญหาทำได้เร็วขึ้น เพราะสามารถดำเนินการตามกฎหมายที่ กสทช. มีอยู่ได้

กสทช. ระบุว่า ข้อบังคับใหม่จะสนับสนุนให้มีการกำกับดูแล OTT อย่างเท่าเทียม และเป็นสากล โดยเฉพาะระหว่างผู้ประกอบการไทย และต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก, ยูทูป ให้อยู่ในกติกาการกำกับที่เท่าเทียมกันด้วย รวมถึงยังเสนอให้การกำกับดูแล OTT ขยายไปถึงเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นคนสร้างขึ้นเอง (User Generated Content หรือ UGC) เนื่องจากมองว่าเนื้อหาประเภทนี้ไม่มีการคัดกรองก่อนนำเสนอ จึงเกรงว่า หากไม่มีการกำกับดูแล จะเป็นภัยต่อเด็ก และเยาวชน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ให้บริการ OTT ที่มาขึ้นทะเบียนแล้วมีเกิน 10 ราย ทั้งไทย และต่างประเทศ เช่น AIS PLAY, MONOMAXXX, IFLIX, PRIMETIME, HOLLYWOOD HDTV เป็นต้น ส่วน NETFLIX ยังไม่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะไม่มีผู้บริหาร หรือสำนักงานในไทย จึงขอนัดพบในเดือนกรกฎาคม

แต่กรณีของเฟซบุ๊ก และยูทูปนั้น ต่างไป เพราะทั้งคู่ไม่มีการส่งตัวแทนบริษัท แต่ส่งตัวแทนกฎหมายมาสังเกตการณ์ จุดนี้ทำให้ กสทช. ต้องหาทางบีบให้ทั้งคู่พ้นจากเกียร์ว่าง ด้วยการเตือนธุรกิจรายใหญ่ของไทย 47 รายให้ทราบว่า หาก “เฟซบุ๊ก-ยูทูป” ยังไม่ลงทะเบียน OTT ก็ห้ามลงโฆษณา

การที่ กสทช. เรียกประชุม 47 องค์กรไทยขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของเม็ดเงินโฆษณาจำนวนมากบนยูทูป และเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 คือ “มาตรการกดดัน” ที่สหพันธ์ AIC กล่าวถึง โดย กสทช. ขีดเส้นวันที่ 22 ก.ค. ว่า หากคู่หู “เฟซบุ๊ก-ยูทูป” ไม่มาลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT ทั้ง 47 บริษัทจะต้องงดลงโฆษณา ไม่เช่นนั้น กสทช. จะส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ ประณามว่า เป็นบริษัทไร้ธรรมาภิบาล ให้การสนับสนุนบริการเถื่อนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย

ข้อหานี้ถือว่าร้ายแรง แต่ก็เป็นความจริงที่คนไทยหลายคนเห็นด้วย ดังนั้น แบรนด์ธุรกิจไทยที่ไม่ต้องการถูกมองว่า สนับสนุนธุรกิจเถื่อนที่ไม่ยอมทำตามกฎหมายไทย ก็ควรจะหาช่องทางโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มอื่นเตรียมไว้แต่เนิ่น เพราะสงครามรอบนี้น่าจะกินเวลาอีกนาน

ส่วนหนึ่งของ 47 บริษัทไทยที่เข้าร่วมประชุมรับทราบแนวทางจาก กสทช. ได้แก่ 1. กลุ่มยานยนต์ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย), ไทยยามาฮ่ามอเตอร์, ตรีเพชรอีซูซุเซลส์, บี-ควิก จำกัด

2. ธุรกิจการเงินและการธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ 3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) 4. ธุรกิจประกันภัย ได้แก่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 5. ธุรกิจโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด

6. ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด และ 7. ธุรกิจพลังงาน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น