xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมโฆษณา หนุน กสทช.กำกับ OTT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พ.อ.นที” เผยสมาคมโฆษณาทุกสมาคมหนุน กสทช.กำกับ OTT เตรียมหารือเฟซบุ๊ก ยูทูป ไลน์ และบล็อกเกอร์ต่อไป คาดได้ข้อสรุปเบื้องต้นกลางเดือน มิ.ย. ด้านผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยังเหลืออีก 5 รายไม่ยื่นขยายเวลาจ่ายค่าธรรมเนียม

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวภายหลังการประชุมการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย เรื่อง การแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต Over The Top (OTT) สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อดิจิตอลแห่งประเทศไทย, สมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย, และสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ว่าคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ได้มีการนำเสนอรายงานแนวทางการกำกับดูแลบริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ (OTT) ที่จัดทำโดยบริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด ต่อที่ประชุมฯ 

การประชุมครั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณาสนับสนุนกระบวนการพัฒนากติกาการกำกับดูแล OTT ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้ผู้ประกอบการฯ ตระหนักถึงปัญหาการแพร่ภาพ และเสียงเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเจ้าของเนื้อหาได้รับผลกระทบด้านรายได้ ดังนั้น จึงเสนอให้มีการกำกับดูแลบริการ OTT ครอบคลุมการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ อันจะทำให้ธุรกิจโทรทัศน์ และบริการ OTT พัฒนาต่อไปได้

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการฯ ยังเสนอให้มีการส่งเสริมการพัฒนาการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพโดยผู้ผลิตคนไทยเพื่อออกอากาศบนบริการ OTT เนื่องจากปัจจุบัน เนื้อหาที่ออกอากาศบนบริการ OTT เป็นเนื้อหาที่มาจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนา และสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด โดยใช้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหา และป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ประกอบการฯ จึงสนับสนุนให้ผู้ให้บริการ OTT เข้าสู่ระบบเพื่อการกำกับ และส่งเสริมการประกอบกิจการต่อไป

“กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีสำคัญในการสร้างเม็ดเงินโฆษณา และเขาเห็นด้วยที่จะนำ OTT เข้าระบบและกำกับโดย กสทช. แต่ไม่มีการพูดคุยว่า OTT ที่ไม่ถูกกำกับจะไม่ได้เม็ดเงินโฆษณา”

พ.อ.นที กล่าวต่อว่า การประชุมเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นให้ครบทุกด้าน ยังไม่มีการสรุปใดๆทั้งสิ้น โดยในวันอังคารที่ 23 พ.ค. จะหารือกับกลุ่มผู้ให้บริการ OTT ที่เก็บค่าบริการ เช่น AIS PLAY, MONOMAXXX, NETFLIX, IFLIX, PRIMETIME, HOLLYWOOD HDTV เป็นต้น

และในวันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ค. จะหารือกับกลุ่มผู้ให้บริการ OTT เช่น กูเกิล (ยูทูป), เฟซบุ๊ก และ LINE เป็นต้น นอกจากนี้ ช่วงต้นเดือน มิ.ย. จะมีการรับฟังความเห็นจากผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีคนติดตามจำนวนมากด้วย เช่น บล็อกเกอร์ และ 13  มิ.ย. จะรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการทีวี เป็นครั้งที่สอง คาดว่ากลางเดือน มิ.ย. จะสามารถได้ข้อสรุปคร่าวๆ ได้

***5 รายยังไม่ยื่นขยายเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมทีวีดิจิตอล

เลขาธิการ กสทช.ย้ำวันนี้ (22 พ.ค. 60) เป็นวันสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะสามารถยื่นขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ตาม ม.44

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (22 พ.ค. 2560) เป็นวันสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะสามารถมายื่นขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะได้

สำหรับวันที่ 23 พ.ค. 2560 จะเป็นวันครบกำหนดชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ งวดที่ 4 หากผู้ประกอบรายใดที่ไม่ได้มายื่นขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ จะต้องนำเงินมาชำระตามอัตราเดิม 

สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มายื่นขอขยายระยะเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ขณะนี้เหลือเพียง 5 ราย ได้แก่ 1.บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด 2.บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด 3.บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด 4.บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด และ 5.บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น