xs
xsm
sm
md
lg

คนนำเนื้อหาขึ้น OTT ต้องถูกกำกับโดย กสทช.ด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ให้บริการ OTT ที่มีรายได้จากการเก็บค่าสมาชิกจากผู้ใช้บริการ พร้อมร่วมมือ กสทช.เข้าระบบการกำกับ OTT เสนอสร้างกติกากำกับผู้ประกอบไทยแบบไหน ผู้ประกอบการสากลอย่างเฟซบุ๊ก, ยูทูป ก็ต้องแบบเดียวกัน ย้ำคนนำคอนเทนต์ขึ้นระบบก็ต้องถูกคุมด้วย เหตุเนื้อหาไม่ถูกกลั่นกรอง และพบการละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก ย้ำควรกำกับ OTT ทั้งระบบรวมโฆษณา หากโฆษณาลงบนเนื้อหาผิดกฎหมายก็ต้องถูกกำกับ ด้านผู้บริหารระดับสูง สมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (AIC) เข้าพบ “ฐากร” ไขข้อข้องใจเรื่องปิดเฟซบุ๊ก

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top (OTT) กล่าวภายหลังการหารือกับผู้ประกอบการ OTT ที่มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าสมาชิกรายเดือน หรือรายปี (Subscription Video on Demand หรือ SVoD) ว่า คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top ได้มีการนำเสนอรายงานแนวทางการกำกับดูแลบริการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (OTT) ที่จัดทำโดยบริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด ต่อที่ประชุม โดยการประชุมครั้งนี้ผู้ประกอบการ OTT สนับสนุนกระบวนการพัฒนากติกาการกำกับดูแล OTT ซึ่งมีข้อเสนอแนะดังนี้

ผู้ประกอบการ OTT กล่าวว่า ในปัจจุบันมีการให้บริการเนื้อหาที่ไม่ถูกกฎหมาย และละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแพร่หลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการ OTT ได้รับความเสียหายทั้งในแง่ของรายได้ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรม OTT ในประเทศไทย โดยเสนอแนะให้เน้นการกำกับดูแลเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงผู้ที่ลงโฆษณาในเนื้อหาที่เผยแพร่ผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งปกติผู้ประกอบการเมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ เขาก็จะดำเนินการฟ้องศาลตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ ดำเนินการตามกระบวนการศาล ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่หากอยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. ซึ่ง กสทช.มีอำนาจในการระงับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายได้เมื่อมีผู้ร้องเรียน และดำเนินการตามกฎหมายที่ กสทช.มีอยู่ได้

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนให้มีการกำกับดูแล OTT อย่างเท่าเทียม และเป็นสากล โดยเฉพาะระหว่างผู้ประกอบการไทย และต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก, ยูทูป ให้อยู่ในกติกาการกำกับที่เท่าเทียมกันด้วย รวมถึงยังเสนอให้การกำกับดูแล OTT ขยายไปถึงเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นคนสร้างขึ้นเอง (User Generated Content หรือ UGC) เนื่องจากมองว่า เนื้อหาประเภทนี้ไม่มีการคัดกรองก่อนนำเสนอ จึงเกรงว่า หากไม่มีการกำกับดูแล จะเป็นภัยต่อเด็ก และเยาวชนได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวยังได้เสนอให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการกำกับดูแลอย่างรวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ เพราะหากล่าช้า เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และผิดกฎหมายจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งผู้ประกอบการ OTT ยินดีร่วมมือกับ กสทช.ในการสร้าง Roadmap ในการกำกับดูแลร่วมกัน เพื่อให้อุตสาหกรรม OTT ปราศจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และเป็นทางเลือกของประชาชน

“บริการ OTT เป็นบริการกระจายเสียง และโทรทัศน์ที่สำคัญ และเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน ดังนั้น หน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแล คือ การนำสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายที่เผยแพร่อยู่บน OTT ออกจากระบบ โดยจะไม่สร้างผลกระทบ หรือเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอย่างถูกกฎหมาย และยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อกำหนดกติการ่วมกัน”

พ.อ.นที กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ให้บริการ OTT ที่มาประชุมในวันนี้ (23พ.ค.) มีประมาณ 10 ราย ทั้งไทย และต่างประเทศ เช่น AIS PLAY, MONOMAXXX, IFLIX, PRIMETIME, HOLLYWOOD HDTV เป็นต้น ส่วน NETFLIX ยังไม่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะไม่มีผู้บริหาร หรือสำนักงานในไทย จึงขอนัดพบภายหลัง

***AIC รับปากชี้แจงสมาชิกเรื่องปิดเว็บผิดกฎหมาย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า นายเจฟฟ์ เพน ผู้บริหารระดับสูง สมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย Managing Director of the Asia Internet Coalition (AIC) จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือที่มีสมาชิกประกอบด้วย Facebook, Google, LinkedIn, Apple, Twitter and Yahoo!, LINE, Rakuten เข้าร่วมประชุมหารือกับเลขาธิการ กสทช., ตัวแทนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี), ผู้ให้บริการโครงข่ายระหว่างประเทศ (ไอไอจี) เกี่ยวกับนโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงาน กสทช. เนื่องจากกังวลเรื่องการปิดเว็บไซต์ต่างๆ โดย กสทช.ได้ชี้แจงว่า ที่มีข่าวว่าจะปิดเฟซบุ๊ก ไม่เป็นความจริง เพียงแต่เป็นขั้นตอนการร่วมมือกันในการปิดกั้นเว็บที่มีหมายศาลแล้วเท่านั้น จึงขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยด้วย

กสทช.จึงขอให้ AIC ช่วยประสานในเรื่องนี้ให้กับสมาชิกอีกทางหนึ่ง เนื่องจากสมาพันธ์ดังกล่าวมีสมาชิกที่สำคัญ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ กูเกิล ยาฮู จะทำให้การทำงานควบคู่ไปกับกระบวนการของ กสทช.ที่ทำอยู่ เขาจึงรับปากว่า จะดำเนินการไปสื่อสารให้ถูกต้องกับสมาชิกของเขาด้วย เพื่อให้มีแนวทางในการดำเนินการในอนาคตที่ดีเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายต่อไปได้ และแม้ว่าการเข้าพบครั้งนี้จะไม่มีผู้บริหารเฟซบุ๊ก จากประเทศสิงคโปร์มา แต่เชื่อว่าสมาพันธ์จะสามารถสื่อสารให้เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่เข้าใจได้

“กฎหมายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จะมาคิดว่าประเทศนั้น ประเทศนี้ ไม่ทำแบบนี้ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อมีหมายศาล ซึ่งนับเป็นหลักสากลของแต่ละประเทศแล้ว ผมจึงเรียนให้เขาเข้าใจ และขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยด้วย โดยการประชุมครั้งนี้ไม่มีผู้บริหารเฟซบุ๊ก จากประเทศสิงคโปร์มา แต่เขาก็รับปากว่า จะไปสื่อสารให้ เพราะเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฯ เมื่อมีหมายศาลก็คือ หลักสากลตามกฎหมายของแต่ละประเทศ”
กำลังโหลดความคิดเห็น