กูเกิล (Google) เจ้าพ่อเสิร์ชเอนจินอเมริกันมีเวลาอีก 90 วันในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ หลังจากสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union) ตัดสินว่า กูเกิลมีความผิดต้องชดใช้เงินมากกว่า 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท ฐานผูกขาดผลเสิร์ชจนทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา โดยหากยังดำเนินธุรกิจเช่นนี้ต่อไปก็จะถูกปรับเพิ่มอีกในอนาคต
คำสั่งปรับกูเกิลนี้ ถูกประกาศโดย มาร์เกร็ต เวสแทเกอร์ (Margrethe Vestager) ประธานฝ่ายการค้ายุติธรรมของอียู ซึ่งระบุว่า ได้สอบสวนกูเกิล มานานกว่า 7 ปี โดยเรียกร้องให้บริษัทลงมือปรับเปลี่ยนกระบวนการให้บริการเสียใหม่ภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะประเด็นการให้บริการเปรียบเทียบดีลซื้อสินค้าออนไลน์
หัวเรือใหญ่อียู มองว่า กูเกิลขัดขวางการค้ายุติธรรมในยุโรป ด้วยการจัดอันดับผลการเสิร์ชบริการเปรียบเทียบดีลซื้อสินค้าออนไลน์ของตัวเองให้โดดเด่นกว่าบริการ comparison shopping services รายอื่น ทำให้บริการเปรียบเทียบรายอื่นยากที่จะแข่งขันด้วย ทั้งหมดนี้ผิดกฎหมายเรื่องผูกขาดการค้าในยุโรป เนื่องจากกูเกิลใช้ความสามารถในการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการค้นหาข้อมูล ลงมือสร้างความได้เปรียบอย่างผิดกฎหมายต่อการให้บริการเปรียบเทียบราคาสินค้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อีกอย่างหนึ่งของกูเกิล
Vestager สรุปว่า กูเกิลทำผิดกฎหมายผูกขาดการค้ายุโรป โดยกูเกิลปฏิเสธที่จะมอบโอกาสให้บริษัทอื่นมีโอกาสแข่งขัน และที่สำคัญ การกระทำของกูเกิล ยังปิดทางไม่ให้ผู้บริโภคยุโรปมีทางเลือกใช้บริการอื่น ซึ่งอาจมีนวัตกรรมที่ดีกว่า
แน่นอนว่ากูเกิลปฏิเสธเสียงแข็ง โดยบอกปัดทุกข้อกล่าวหาจากอียู โดยในแถลงการณ์ล่าสุด กูเกิล ระบุว่า บริษัทจะยังคงแสดงผลเสิร์ชที่จะช่วยให้ผู้บริโภคค้นหาสินค้าที่ต้องการได้เร็ว และง่ายขึ้นต่อไป
“นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้กูเกิลแสดงโฆษณาสินค้าบนหน้าผลการเสิร์ช (shopping ads) เราเชื่อมโยงผู้ใช้เข้ากับนักโฆษณาหลายพันรายทั้งใหญ่ และเล็ก ในรูปแบบที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย” เคนต์ วอลเกอร์ (Kent Walker) ตัวแทนฝ่ายกูเกิลระบุบนบล็อกโพสต์ “เราไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปที่ประกาศในวันนี้ เราจะทบทวนการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการในรายละเอียดเพื่ออุทธรณ์ต่อไป”
คำตัดสินของคณะกรรมาธิการยุโรปครั้งนี้ถือเป็นการลงโทษขั้นหนัก หลังจากที่มีการยกเลิกการไต่สวนกูเกิลโทษฐานผูกขาดธุรกิจค้นหา โดยไม่มีการลงโทษอย่างจริงจังในปี 2013 นอกจากนี้ คำสั่งปรับนี้ยังถูกมองว่า เป็นการเริ่มต้นลงดาบตรวจสอบกูเกิลเพียงส่วนเดียว เพราะ Vestager เคยตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) และแนวทางปฏิบัติด้านการโฆษณาออนไลน์ของกูเกิลนั้น เข้าข่ายทำให้เกิดปัญหาเช่นกัน
สำหรับผู้ที่ออกโรงร้องเรียนกูเกิลในอียูนั้น ถูกมองว่าบางส่วนก็เป็นคู่แข่งของกูเกิลในสหรัฐฯ เช่น Yelp, News Corp. และ Oracle ซึ่งได้เขียนรายงานอีกครั้งในวันอังคาร (27 มิ.ย.) เพื่อตีแผ่วิธีการที่กูเกิล พยายาม “ทำลายการแข่งขัน” ของธุรกิจทั่วโลก
ขณะที่ค่าปรับ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น คิดเป็นเงินจำนวน 2.42 พันล้านยูโร จุดนี้วงเงินค่าปรับดังกล่าวถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในคดีต่อต้านการแข่งขัน เพราะสูงกว่าที่อียู เคยสั่งปรับบริษัทอินเทล 1.06 พันล้านยูโร ในปี 2009
หากพ้นเวลา 90 วันที่กูเกิล จะมีโอกาสยุติพฤติกรรมดังกล่าว กูเกิลอาจจะถูกปรับเพิ่มอีก 5% ของรายได้เฉลี่ยต่อวันทั่วโลกของบริษัทอัลฟาเบ็ต (บริษัทแม่ของกูเกิล) ในกรณีที่อียู ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ถือเป็นสัดส่วนค่าปรับที่โหดเอาเรื่องตามสไตล์อียู