เฟซบุ๊ก (Facebook) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ทวิตเตอร์ (Twitter) และยูทูป (YouTube) ผนึกกำลังต้านกลุ่มก่อการร้ายบนโลกออนไลน์ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับตรวจจับข้อความจากกลุ่มก่อการร้ายร่วมกัน รวมไปถึงการร่วมมือกับภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ ด้วย
โดยสโคปของฟอรัมนี้อาจมีการพัฒนาขึ้นได้หลากหลายรูปแบบตามการพัฒนาของกลุ่มก่อการร้าย แต่หัวใจของฟอรัม คือ การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับคอนเทนต์จากกลุ่มก่อการร้ายให้ได้ รวมถึงการกำหนดให้ได้ว่า ข้อความที่สร้างความเกลียดชังออนไลน์นั้นควรเป็นอย่างไร และการแชร์ข้อมูลร่วมกันระหว่างสมาชิก รวมถึงการจัดเวิร์กช็อปร่วมกับคณะกรรมการของสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย
สำหรับตัวอย่างแนวทางที่ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ เทคโนโลยี Redirect Method ของ Google Jigsaw ที่จะวางโฆษณาต่อต้านก่อการร้ายไว้ข้าง ๆ คีย์เวิร์ดยอดนิยมของกลุ่ม ISIS
โดย Google Jigsaw เป็นทีมเทคโนโลยีผู้พัฒนาอัลกอริธึมที่ถูกฝากความหวังเอาไว้ว่า จะสามารถตรวจจับคอนเทนต์จากกลุ่ม ISIS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งบนแพลตฟอร์มเสิร์ชเอนจิน และยูทูป โดย Redirect Method ที่ทาง Jigsaw พัฒนาขึ้นนั้น จะวางโฆษณาที่สร้างมาเพื่อต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายเอาไว้ข้าง ๆ คีย์เวิร์ด และวลีที่ Jigsaw วิเคราะห์ว่า กลุ่มที่ฝักใฝ่กลุ่ม ISIS จะเสิร์ชหา เช่น คลิปนำเสนอพฤติกรรมการคอรัปชันของกลุ่ม ISIS หรือคลิปแอบถ่ายที่แสดงถึงพฤติกรรมเลวร้ายของกลุ่ม ISIS ที่เกิดขึ้นในซีเรีย และอิรัก โดยทีม Jigsaw เชื่อว่า คลิปเหล่านี้จะช่วยเรียกสติให้กับคนที่ถูกกลุ่ม ISIS ล้างสมองไปแล้วได้
ซึ่งผลที่ได้จากโปรเจกต์ทดลองนี้มีสูงเกินคาด โดยทีม Jigsaw เผยว่า ในช่วง 2 เดือนของการทดสอบนั้น มีผู้ใช้งานถูกดึงเข้ามาที่ช่องยูทูป สำหรับต่อต้านการก่อการร้ายกว่า 300,000 คน และยังพบว่า บรรดานักเสิร์ชคลิกที่โฆษณาของทีม Jigsaw สูงกว่าแคมเปญโฆษณาทั่วไป 3-4 เท่า และเมื่อคลิกเข้าไปแล้ว ยังพบว่า คนเหล่านั้นใช้เวลารับชมนานมาก ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม การจับมือกันครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันของประเทศในสหภาพยุโรปที่กดดันบริษัทเทคโนโลยีให้หาทางจำกัดการเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งความยากของบริษัทเทคโนโลยี คือ การประเมิน หรือวัดว่าข้อความระดับใด จึงจะจัดว่าเป็นข้อความที่สร้างความเกลียดชัง เพราะในสหรัฐอเมริกานั้น มองว่าประเทศของตนเองให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งบางครั้งข้อความแห่งความเสรีดังกล่าวอาจสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ก็เป็นได้