ไมโครซอฟท์ เผยผลสำรวจความเห็นเยาวชนไทย เด็กไทยคาดว่า AI และ Internet of Things จะมีผลกระทบกับชีวิตในอนาคตมากที่สุด โดย 30% หวั่นใจเรื่องความเป็นไปได้ที่อาจตกงาน ขณะที่ 29% มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนจะกลายเป็นเรื่องผิวเผิน ห่างเหิน และ 17% เท่านั้นที่กังวลเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว
“คนรุ่นใหม่อยากเห็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงคนกับงานได้มากขึ้น แต่ยังคงกังวลในผลกระทบต่ออาชีพและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล” ไมโครซอฟท์ ระบุโดยย้ำว่า ผลสำรวจของไมโครซอฟท์ แสดงถึงความเชื่อของคนรุ่นใหม่ที่ว่า นวัตกรรมใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things : IoT) นวัตกรรมที่ผสมผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกความจริงอย่าง Virtual Reality (VR), Mixed Reality (MR) และ Augmented Reality (AR) จะส่งผลกระทบต่อชีวิตในอนาคตมากที่สุด
ในบรรดาเทคโนโลยีเหล่านี้ เยาวชนไทยจัดอันดับให้ AI และ IoT เป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด และจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ข้อสรุปนี้มาจากผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ หัวข้อ อนาคตด้านดิจิทัลในเอเชีย (Microsoft Asia Digital Future Survey) กลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มคนอายุ 18-24 ปี จำนวน 1,400 คนทั่วเอเชียแปซิฟิก อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม โดยมีตัวแทน 100 คนจากประเทศไทย
ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยจัดอันดับ 3 สถานการณ์ที่เชื่อว่า AI จะสร้างการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ที่สุดต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขาในอนาคต โดยยกอันดับหนึ่งให้รถยนต์ที่ติดต่อกันได้ และไม่ต้องมีคนขับ (46%) อันดับ 2 คือ ซอฟต์แวร์บอตที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (25%) และอันดับที่ 3 คือ หุ่นยนต์ (20%)
สำหรับ IoT เด็กไทยเชื่อว่า จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตใน 3 เรื่อง เรื่องที่ใหญ่ที่สุด คือ สมาร์ทโฮม บ้านแสนฉลาดที่อุปกรณ์ไฟฟ้าสามารถ “พูดคุย” กันเองได้ (42%) รองลงมา คือ ระบบจัดการจราจรที่สามารถช่วยย้ายถ่ายเทรถยนต์ไปยังท้องถนนที่โล่งกว่าได้อย่างเรียลไทม์ (24%) อันดับ 3 คืออาคารชาญฉลาดที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในอาคารได้ตามสภาวะอากาศ และจำนวนผู้อยู่อาศัย (24%)
นอกจาก AI เทคโนโลยีอันดับสองที่คนรุ่นใหม่กล่าวถึงกันมากรองลงมา คือ VR/MR/AR กลุ่มคนเจเนอเรชันนี้เชื่อว่า เทคโนโลยีเสมือนจริงจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อพวกเขาเข้ากับเพื่อนร่วมงานมากที่สุด รองลงมา คือ ช่วยยกระดับสุขภาพทางร่างกาย และจิตใจ และช่วยเสริมความสามารถ เพิ่มโอกาสการจ้างงานมากขึ้น
นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าประชากรเยาวชนมากกว่า 60% ของทั้งโลกอยู่ในโซนเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเป็นภูมิภาคที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติดิจิตอลให้กับโลก จึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะได้ทำความเข้าใจกับความคิดอ่านของกลุ่มคนไทยเจเนอเรชันใหม่กลุ่มนี้ว่า พวกเขามีมุมมองต่อนวัตกรรมในอนาคตอย่างไรบ้าง
แม้ว่ากว่า 70% ของเยาวชนไทยที่เข้าร่วมทำการสำรวจนี้จะรู้สึกว่าประเทศไทยมีความพร้อมต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิตอลที่จะพลิกรูปแบบการดำเนินชีวิต แต่พวกเขาก็ยังมีข้อกังวลใหญ่อยู่จำนวนหนึ่ง ข้อกังวลมากที่สุด คือ ความเป็นไปได้ที่อาจตกงาน (30%) อันดับ 2 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกลายเป็นเรื่องผิวเผิน ห่างเหิน (29%) และอันดับ 3 คือ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว (17%)
“คนจำนวนมากมีความกังวลถึงเรื่องที่อาจจะตกงาน หรือไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ สะท้อนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับทั่วโลกที่จะต้องให้ความรู้ และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลเพื่อการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21” นางสาวศิริพร กล่าวเสริม “อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่องของความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในยุคดิจิตอล เนื่องจากมีอุปกรณ์จำนวนมหาศาลรอบตัวเราที่เชื่อมต่อถึงกัน จึงทำให้ช่องโหว่ หรือความเสี่ยงเพียงจุดเดียวสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวง ดังนั้น ทุกภาคส่วนในสังคม นับตั้งแต่นักวิจัย และนักพัฒนาไปจนถึงผู้ใช้งานทั่วไป จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน และประพฤติตนอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของทุกคน”
เมื่อถามถึงชีวิตในวันข้างหน้า เยาวชนไทยเชื่อว่า การจะประสบความสำเร็จในอนาคตได้นั้น จะต้องอาศัยสถาบันการศึกษาที่สามารถสร้างความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะที่ทันยุคสมัย เพื่อนำเอานวัตกรรมในอนาคตมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (57%) ตามด้วยการทำให้เทคโนโลยีในอนาคตมีราคาไม่แพง และสามารถเข้าถึงได้ (17%) และการสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อสตาร์ทอัป (13%)
นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน (49%) จะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการที่รัฐบาลเดินหน้าอยู่เพียงฝ่ายเดียว (20%) หรือภาคเอกชนทำเพียงลำพัง (16%).