LINE ใช้เวทีแสดงวิสัยทัศน์ประจำปี (LINE Conference 2017) เสนอแผนที่จะมุ่งไปในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถัดจากการก้าวเข้ามาเป็นผู้ให้บริการสมาร์ทพอร์ทัล (Smart Portal) เต็มรูปแบบ ด้วยการดึงการติดต่อสื่อสารมาเป็นหัวใจหลัก (Communication First) ในการพัฒนาบริการให้ครอบคลุมการใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
พร้อมเผยถึง 3 แนวทางหลักที่จะมุ่งไปในช่วงนี้ ประกอบไปด้วยการเชื่อมต่อทุกบริการเข้าหากัน (Everything Connected) นำพาบริการเข้าสู่ยุคที่เป็นวิดีโอคอนเทนต์ (Everything Videolized) และผู้ช่วยอัจฉริยะในทุกบริการ (Everywhere AI) เพื่อเข้าสู่ยุคหลังของสมาร์ทโฟน (Post Smartphone Era)
ทาเคชิ อิเดซาว่า ประธานกรรมการบริหาร ไลน์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ด้วยเทรนด์การใช้งานแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ใช้งานรายโหลดแอปพลิเคชันมาใช้งานเพียงครั้งเดียว แล้วก็ไม่เคยได้ใช้งานอีกเลย ทำให้รูปแบบของการพัฒนาแอปพลิเคชันเปลี่ยนแปลงไป
“บริการหลายๆ รูปแบบถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับแชต แพลตฟอร์มของ LINE ในการให้บริการแก่ลูกค้า ทั้งบริการหลังการขาย บริการสั่งอาหาร ส่งสินค้า ดังนั้น LINE จึงมองว่า ทิศทางต่อไปของอุตสาหกรรม คือ การร่วมกันพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าเป็นหลัก”
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิด 3 แนวทางหลักมาเป็นจุดให้ LINE พัฒนาบริการต่อเนื่องไปข้างหน้า เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล แบรนด์ องค์กรธุรกิจ และบริการต่างๆ ให้เชื่อมเข้าสู่โลกของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม
***เพิ่มฟีเจอร์ให้แพลตฟอร์มแชต
ภายในงานนี้ LINE ยังได้มีการเพิ่มฟีเจอร์เพื่อให้ผู้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอัปเกรดความสามารถของการถ่ายภาพภายในแชต เพื่อใส่เอฟเฟกต์ และฟิลเตอร์ต่างๆ ด้วยระบบตรวจจับใบหน้า (คล้ายๆ Snapchat)
ถัดมา คือ เพิ่มการแสดงผลรูปภาพแบบ สไลด์โชว์ พร้อมใส่เพลง และเอฟเฟกต์ภาพ รวมถึง Chatlive ที่จะถ่ายทอดวิดีโอสดให้เพื่อนภายในกลุ่ม และเปิดแพลตฟอร์ม Chat App ให้นักพัฒนาสามารถนำไปประยุกต์ใช้งาน อย่างการติดตั้งแอปซ้อนเข้าไป สร้างตารางนัดหมาย หรือเล่นเกมกับเพื่อนๆ
ในส่วนของ Timeline จะมีการเพิ่มโหมด Story ให้ผู้ใช้สามารถโพสต์ข้อความ หรือวิดีโอบนไทม์ไลน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น (คล้ายๆ ใน Instagram และ Facebook) เพื่อเปลี่ยนให้ไทม์ไลน์การเป็นอีกช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้ใช้ด้วยกัน
***เข้าสู่ยุคของวิดีโอ
การติดต่อสื่อสารผ่านคลิปวิดีโอ กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ LINE ให้ความสำคัญ ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน LINE Live มาให้ผู้ใช้สามารถแชร์คลิปวิดีโอให้เพื่อนๆ ที่ติดตามได้รับชม ก็จะมีการพัฒนา LINE Live ให้เข้ามาผูกการใช้งานบนแอปพลิเคชันหลัก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถ LIVE ได้ทันที
นอกจากนี้ ยังเข้าสู่การเป็นวิดีโอแพลตฟอร์มในการให้บริการโฆษณาผ่าน LINE Live แก่แบรนด์ที่สนใจ หรือผู้ใช้ที่ต้องการสร้างรายได้จากจำนวนผู้ชม รวมถึงการโต้ตอบระหว่างผู้ LIVE กับผู้ชมที่คอมเมนต์เข้ามา และมีฟังก์ชันอย่างการให้ของขวัญแก่ผู้ Live ด้วย
ประกอบกับการให้บริการอย่าง LINE TV ในประเทศไทย ที่มีการนำออริจินัลคอนเทนต์มาสร้างความต่างจากผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์รายอื่นๆ และถือว่าเป็นบริการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบริการหนึ่ง
***ผู้ช่วยอัจฉริยะ Clova
อีกหนึ่งความน่าสนใจ คือ การที่ LINE มองว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคของ Post Smartphone Era ที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องยึดติดกับสมาร์ทโฟนในการใช้งานอีกต่อไป แต่สามารถสื่อสารกับ AI ผ่านอุปกรณ์อย่างลำโพงอัจฉริยะ เพื่อควบคุมอุปกรณ์ IoT หรือเชื่อมต่อเข้ากับระบบคลาวด์ได้
โดย LINE ได้มีการเผยโฉมผู้ช่วยอัจฉริยะ Clova ตั้งแต่งานโมบายเวิร์ลคองเกรซ เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบ AI มาให้บริการแก่ลูกค้า ล่าสุด ได้มีการเปิดตัวอุปกรณ์ลำโพงอัจฉริยะ Wave ที่มาพร้อมผู้ช่วยอัจฉริยะ เพื่อใช้งานภายในบ้าน
ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะจัดตารางนัดหมาย เช็กพยากรอากาศ เชื่อมต่อกับระบบ IoT และควบคุมการแชตผ่านแอปพลิเคชัน LINE พร้อมความสามารถเรื่องของการฟังเพลงจากเพลงใน LINE Musiv กว่า 40 ล้านเพลง
เบื้องต้น WAVE จะเริ่มวางจำหน่ายในฤดูใบไม้ผลิ สนนราคาเริ่มต้นที่ 15,000 เยน แต่ในช่วงแรกจะมีการพรีเซล WAVE ที่จะรองรับแค่ฟังก์ชันการเล่นเพลงก่อนในราคา 10,000 เยน ในเร็วๆ นี้ แน่นอนว่าหลังจากนี้ก็จะได้รับการอัปเดตให้สมบูรณ์แบบในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจำหน่ายอุปกรณ์ผู้ช่วยอัจฉริยะอีก 2 รุ่น คือ Champ ลำโพงที่ทำเป็นรูปบราวน์ และเซลลี่ และ Face ที่มาพร้อมหน้าจอแสดงผลในอนาคค
***สำรวจสถิติผู้ใช้งาน
สำหรับสถิติการใช้งาน LINE ล่าสุด เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมา ยังคงประกอบด้วย 4 ประเทศหลักๆ ที่มีการใช้งาน คือ ญี่ปุ่น ไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซีย มีจำนวนผู้ใช้ประจำในแต่ละเดือนมากกว่า 171 ล้านราย โดยมีสัดส่วนการใช้งานทุกวันต่อเดือน อยู่ที่ 72%
ระยะเวลาใช้งานเฉลี่ยในแต่ละวันอยู่ที่ 40.2 นาที และเคยทำสถิติในการส่งข้อความมากที่สุดถึง 2.7 หมื่นล้านครั้งในวันเดียว (ในช่วงไตรมาส 1) ขณะที่รายได้จากการจำหน่ายสินค้าภายใต้ลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์ LINE เติบโตขึ้น 47% หรือราว 5.57 หมื่นล้านเยน ส่วนรายได้จากโฆษณาเติบโต 49.6% หรือราว 1.39 หมื่นล้านเยน
LINE News และ LINE Today เมื่อรวมกันมีผู้ใช้งานประจำวันในละเดือนมากกว่า 151 ล้านราย แบ่งเป็น 59 ล้านราย และ 92 ล้านราย ตามลำดับ จากจำนวนพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตสื่อกว่า 600 ราย บริการอย่าง LINE Pay จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีจำนวนผู้ใช้ลงทะเบียนใช้งาน 38 ล้านราย มีการทำธุรกรรมผ่านระบบไปกว่า 7.9 หมื่นล้านเยน ในไต้หวัน ใช้ชำระภาษีได้
ส่วนแอปพลิเคชันอย่าง B612 เมื่อสิ้นเดือนมกราคม มียอดดาวน์โหลดใช้งานมากกว่า 300 ล้านครั้ง SNOW มียอดดาวน์โหลดกว่า 150 ล้านครั้ง สุดท้าย LINE Live และ LINE TV มียอดดาวน์โหลด 13 ล้านครั้ง และ 14 ล้านครั้งตามลำดับ