กระทรวงดีอี เพิ่มโจทย์ ปั้น ปณท เป็นลอจิสติกส์ฮับ สอดรับแผนอีอีซี ลั่นต้องบรรจุลงแผนยุทธศาสตร์เร่งด่วน 3 ปี พร้อมเป็นตัวกลางคุยกรมศุลกากร เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบหวังเป็นเขตปลอดภาษีนำเข้า-ส่งออก ไปยังประเทศที่ 3 คาด 23 มิ.ย. เข้าบอร์ดพิจารณา
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า หลังจากหารือร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ ปณท จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2560-2564 ให้เป็นแผนระยะสั้น 3 ปี คือ 2560-2562 และ 10 ปี ตามลำดับเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น ตนเองได้ให้โจทย์กับ ปณท ไปคิดเพิ่มจากแผนเดิมที่คิดไว้ด้วย คือ การปรับ ปณท ให้รองรับการเป็นลอจิสติกส์ฮับ ให้สอดรับกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ด้วย
ทั้งนี้ ปณท เองก็มี ศูนย์บริการอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามโครงการดิจิตอล พาร์ค ไทยแลนด์ จึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพให้เป็นลอจิสติกส์ฮับ ได้ เพื่อเป็นที่พักสินค้าก่อนส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งโจทย์ตรงนี้ ปณท ต้องคิดว่า จะทำแผนยุทธศาสตร์ให้เห็นภายใน ปี 2562 ได้อย่างไร ขณะที่ดีอี เองก็จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหารือกับกรมศุลกากร เพื่อปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ในการทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เขตปลอดภาษี และจะเป็นการดึงดูดให้เอกชนที่ต้องการส่งของผ่านประเทศของไทยมาใช้บริการของ ปณท
ส่วนเรื่องกำลังคนจะต้องมีเพิ่มขึ้นตามภารกิจที่มีมากขึ้นหรือไม่นั้น ตนคิดว่า ยังไม่จำเป็น เพราะการบริหารจัดการคนที่ดี การเกลี่ยคนให้เหมาะสมกับงานจะช่วยตอบโจทย์ภารกิจที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ ขณะเดียวกัน ปณท ก็มีแผนหลายอย่างในการนำระบบไอทีมาใช้เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของคนในงานบางส่วนได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ ปณท ต้องจัดกำลังพลให้เหมาะสม ส่วนงบประมาณจะสามารถเพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใดนั้น ตนขอดูแผนยุทธศาสตร์ที่ออกมาก่อนว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่
ด้าน พล.อ.สาธิต พิธรัตน์ ประธานกรรมการบริษัท ปณท กล่าวว่า เมื่อ 15 มิ.ย. ได้นำโจทย์ของ รมว.ดีอี ไปคิดเพิ่ม และจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ โดยแนวทางใหม่ ระบบของ ปณท จะถูกแบ่งออกมาเป็น 4 ส่วน คือ 1. รับฝาก ที่จะรับผ่านที่ทำการไปรษณีย์ หรือช่องทางใดก็ตามเข้ามารวมกัน โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 2. คัดแยก ที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาการทำระบบคัดแยกแบบอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้รวดเร็วขึ้น 3. ส่งต่อ จะให้ทางบริษัทลูก หรือ บริษัท ไปรษณีย์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด หรือ ดบ. รับผิดชอบในการนำส่งตามที่ทำการไปรษณีย์กระจายไปสู่ระดับจังหวัด และเขตต่อไป และ 4. นำจ่าย ที่ยังจำเป็นต้องใช้พนักงานระดับปฏิบัติการ แต่ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำอุปกรณ์ และระบบที่ทันสมัยเข้าไปช่วย
ด้าน นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวว่า จากเดิมการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ จุดกระจายสินค้าของไทยจะเป็นบริษัทเอกชนต่างชาติเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งมีการจัดเก็บค่าบริการ 2 ต่อ โดยไม่ได้จัดส่งผ่าน ปณท ซึ่งในส่วนนี้จะต้องให้ทางกระทรวงดีอี หารือกับกรมศุลกากรว่า สามารถทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่มีกฎหมายระบุไว้
ทั้งนี้ กรอบความคิดที่จะปรับแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น และระยะยาวนั้น ได้จ้างบริษัท ไพรซ์วอเตอร์ เฮาส์ คูเปอร์ จำกัด (พีดับบลิวซี) ได้รวบรวมข้อมูล และมีผลการศึกษาให้กับ ปณท ประกอบการตัดสินใจ