ดีอี ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างมีการเผยแพร่ในระบบ e-Procurement ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเพื่อความโปร่งใสอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกแฮกข้อมูลแต่อย่างใด ย้ำ สพธอ.มีระบบป้องกันดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และด้านอีคอมเมิร์ซอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยง และแก้ปัญหาที่อาจกระทบการทำอีคอมเมิร์ช หรือการให้บริการของรัฐตลอดเวลา พร้อมเตือนผู้ปลอมอี-สลิป มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลของกลุ่มบุคคลระบุจะทำการเจาะระบบข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งกล่าวอ้างว่า ได้มีการแฮกข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างมาได้นั้น ดีอีได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ซึ่งพบว่า เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับประกาศการจัดซื้อจัดจ้าง หรือระบบ e-Procurement โดยเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะตามแนวนโยบายของรัฐบาลเรื่องความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ดังนั้น จึงไม่ใช่ข้อมูลที่ได้มาจากการแฮกระบบแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “เจเอเอ็ม บีเอเอส” โพสต์ข้อความ และภาพ เตือนแม่ค้าออนไลน์ให้ระวังมิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นลูกค้าส่งอี-สลิป (e-Slip) ปลอมการโอนเงินมาให้ โดยระบุว่า โอน 1 บาท เพื่อให้ได้สลิป 1 ใบ แล้วแก้ไขยอดเงิน จากนั้น ส่งมาให้เพื่อยืนยันการโอนเงิน โดยพบพฤติกรรมนี้ เนื่องจากยอดที่เข้าในบัญชีไม่ตรงกับยอดเงินที่ลูกค้าส่งมาให้ เมื่อสอบถามไปยังธนาคารต้นสังกัด จึงพบว่า มีการปลอมแปลงจำนวนเงินในอี-สลิปนั้น
กระทรวงดีอี ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นการนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมแปลงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่ผู้กระทำความผิดกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 14 วรรคสอง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดอันยอมความได้ โดยกระทรวงดีอี จะได้ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กระทรวงดีอี ได้มีการประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนประชาชนถึงความเสี่ยง และภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ไม่ว่าจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่ก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะหากเป็นการติดต่อกับผู้ที่ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว กรณีการซื้อขายต่างๆ ต้องตรวจสอบจำนวนเงินที่ได้รับในบัญชี กับจำนวนเงินในสลิปให้ถูกต้องตรงกัน สำหรับผู้ซื้อก็ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายก่อนจะมีการโอนเงินด้วย ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปยังช่องทางของภาครัฐ อาทิ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC1111) โทร.1111 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง