xs
xsm
sm
md
lg

ชมภาพล่าสุด “รถบินได้” ที่ญี่ปุ่นวางแผนคลอดช่วงโตเกียวโอลิมปิก 2020

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Tsubasa Nakamura (ขวาสุด) มั่นใจว่าจะสามารถส่งคนขับขึ้นบินได้สำเร็จในปลายปี 2018
ทีมวิศวกรที่ได้รับการสนับสนุนจากโตโยต้า (Toyota Motor Corp) เปิดสาธิตระบบการทำงานของรถยนต์บินได้ หรือ flying car เมื่อวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดเผยความคืบหน้าล่าสุด หลังจากมีการเปิดตัวคลิปภาพจำลอง พร้อมกับยืนยันกำหนดการว่า รถบินได้คันนี้ถูกวางตัวเป็นสีสันในการจุดคบเพลิงที่พิธีเปิดโอลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ปี 2020

มหกรรมกีฬาโลกครั้งถัดไปนั้น ได้ชื่อเรียก Tokyo 2020 ตามชื่อเมืองเจ้าภาพจัดงาน สิ่งหนึ่งที่โลกเทคโนโลยีจับตามองมากที่สุดจากโอลิมปิกครั้งนี้ คือ การเตรียมพิธีเปิดงาน ซึ่งมีการเปิดเผยแล้วว่า ญี่ปุ่นจะพัฒนารถบินได้เพื่อเป็นยานพาหนะไฮเทคให้นักกีฬาผู้ทรงเกียรติ เดินทางสู่เวหาเพื่อจุดไฟในกระถางคบเพลิง
ทีมวิศวกร Cartivator วางเป้าหมายพัฒนาให้รถบินได้ของตัวเองเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก
รถบินได้สัญชาติญี่ปุ่นนี้มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “สกายไดร์ฟ” (SkyDrive) เป็นผลงานของกลุ่มสตาร์ทอัปชื่อ “คาร์ติเวเตอร์” (Cartivator) ซึ่งเป็นกลุ่มรวมดาววิศวกร จำนวน 30 คน ส่วนหนึ่งของวิศวกรกลุ่มนี้เป็นพนักงานรุ่นใหม่ของโตโยต้า ซึ่งริเริ่มพัฒนา SkyDrive มาตั้งแต่ปี 2014 บนงบประมาณสนับสนุนจากหลายแห่ง หรือ crowdfunding

ล่าสุด หัวหน้ากลุ่ม Cartivator “ซึบาสะ นากามูระ” (Tsubasa Nakamura) ให้สัมภาษณ์ว่า แม้การพัฒนารถไฮเทคจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เชื่อมั่นว่า จะสามารถส่งคนขับขึ้นบินได้สำเร็จในปลายปี 2018
ระหว่างการขึ้นบินและลอยบนอากาศนานหลายวินาทีของต้นแบบ SkyDrive
ระหว่างการสาธิต ต้นแบบรถรุ่นทดสอบสามารถขึ้นบิน และลอยบนอากาศได้นานหลายวินาที จุดนี้นากามูระ อธิบายว่า ทีมยังต้องปรับปรุงต้นแบบให้มีความเสถียรมากขึ้น เพื่อให้รถสามารถบินได้นาน และไกลพอที่จะจุดไฟในกระถางคบเพลิง



เบื้องต้น ทีมวิศวกร Cartivator วางเป้าหมายพัฒนาให้รถบินได้ของตัวเองเป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เพื่อให้สามารถใช้งานในพื้นที่ใจกลางเมืองขนาดย่อม โดยหวังว่าจะสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์จริงจังในปี 2025

พฤษภาคมที่ผ่านมา Toyota Motor และบริษัทในเครือประกาศตกลงเทงบประมาณกว่า 42.5 ล้านเยน (ประมาณ 13 ล้านบาท) อัดฉีดโครงการนี้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยนากามูระ ระบุว่า กลุ่มกำลังพยายามเต็มที่ในการพัฒนาเทคนิก และการออกแบบ รวมถึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากบริษัทอื่นเพิ่มเติมในอนาคต



ข่าวนี้ถือเป็นการตอกย้ำว่า นานาบริษัทชั้นนำกำลังพยายามพัฒนารถบินได้ที่สามารถขึ้นบิน และลงจอดในแนวดิ่ง (vertical take-off and landing : VTOL) ที่ผ่านมา อูเบอร์ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกาศแผนให้บริการแท็กซี่บินได้ในปี 2020 โดยวางแผนนำร่องที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา รวมถึงดูไบ

ยังมีบริษัทแอร์บัสกรุ้ป ที่กำลังพัฒนารถบินได้ในชื่อยูเอเอ็ม (Urban Air Mobility) ด้วยแผนกงานของบริษัท ไล่เลี่ยกับที่ผู้ก่อตั้งกูเกิล “แลร์รี เพจ” ให้การสนับสนุนกลุ่ม “คิตตี ฮอว์ก” (Kitty Hawk) สตาร์ทอัปผู้ผลิตรถบินได้ที่ส่งรถต้นแบบขึ้นบินทดสอบไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทุกบริษัทกำลังเผชิญความท้าทายที่หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องข้อกำหนดทางกฎหมายที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังพยายามควบคุม และออกกฎงดใช้โดรน หรือรถไร้คนขับเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจตามมา นอกจากนี้ ประธานฟอร์ด (Ford) ค่ายรถยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ยังเคยเผยความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดพัฒนารถบินได้ว่าฟอร์ดยังไม่คิดเริ่มพัฒนารถบินได้ในขณะนี้ หนึ่งในเหตุผลเป็นเพราะการขับขี่รถขึ้นอากาศนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และน้อยคนนักที่จะสามารถขับรถ ซึ่งเคลื่อนที่ได้แบบ 3 มิติ
กำลังโหลดความคิดเห็น