หุ่นยนต์เปปเปอร์ (Pepper) จากค่ายซอฟต์แบงก์ (SoftBank) เจอคู่แข่งคนใหม่จากบริษัทผลิตหุ่นยนต์สัญชาติจีน Suzhou Pangolin แล้ว โดย Pangolin มีแผนจะส่งหุ่นยนต์ของบริษัทบุกตลาดร้านอาหารทั่วประเทศด้วย
ตลาดหุ่นยนต์เพื่องานบริการเริ่มร้อนแรง เมื่อหุ่นยนต์จากจีนกำลังเริ่มหาโอกาสเติบโต โดยปัจจุบัน หุ่นยนต์จากบริษัท Pangolin ได้เริ่มให้บริการอยู่ในร้านคาเฟแห่งหนึ่งในสำนักงานใหญ่ของ Pangolin ที่เมือง Kunshan ซึ่งมันสามารถนำอาหารไปส่งที่โต๊ะของลูกค้า และเดินกลับมาในครัวได้เองแล้ว
“ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่น่าสนใจจากหุ่นยนต์ของเราเมื่อพวกเขาได้เห็นการทำงานของมัน” Ding Jinsong หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ Pangolin กล่าว
ปัจจุบัน โรงงานกำลังเร่งผลิตหุ่นยนต์ดังกล่าวเพื่อกระจายไปยังร้านอาหารต่างๆ ทั่วประเทศ
ด้าน มร. Song Yugang ซีอีโอของ Pangolin กล่าวว่า “คู่แข่งของเราคือเปปเปอร์” ซึ่งเขามองว่า เห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจนี้สดใสมาก
ในปี 2016 ที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 12 ล้านหยวน ซึ่งทางซีอีโอของ Pangolin ตั้งเป้าว่า ในปี 2017 จะเพิ่มให้ยอดขายกลายเป็น 150 ล้านหยวน เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปรียบเทียบความสามารถระหว่างหุ่นยนต์ Pangolin กับหุ่นยนต์เปปเปอร์ พบว่า หุ่นยนต์เปปเปอร์ มีความสามารถมากกว่า เนื่องจากมีการใช้งาน AI ทำให้ตัวหุ่นสามารถพูดตอบโต้กับลูกค้าได้ ขณะที่หุ่นจาก Pangolin นั้น จะทำได้แค่งานง่ายๆ เช่น เสิร์ฟอาหาร เท่านั้น
แต่สิ่งที่ทำให้ซีอีโอของ Pangolin มองว่า หุ่นยนต์ของบริษัทมีโอกาสเติบโตนั้น มาจากเทคโนโลยีที่จะพัฒนาเพิ่มลงไปในหุ่นยนต์รุ่นใหม่ เช่น ฟังก์ชันแผนที่ เพื่อให้หุ่นยนต์รู้ว่าตัวมันอยู่ตรงไหน และมีระบบเซนเซอร์ที่สามารถวัดระยะห่างจากสิ่งต่างๆ ได้
โดยในหุ่นยนต์รุ่นใหม่จะมีจอแอลซีดี ขนาด 20 นิ้ว เพื่อให้ผู้ใช้งานป้อนคำสั่งง่ายๆ ลงไปได้ และยังสามารถต่อกับเครื่องพรินเตอร์ และ Card Reader ด้วย
นอกจากนี้ ทาง Pangolin ยังได้มีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเหล็กสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Kikuchi Seisakusho ด้วย โดย Pangolin จะเข้ามาเรียนรู้กระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรมของ Kikuchi และ Kikuchi ก็มองว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะได้บุกตลาดจีนที่มีความต้องการด้านหุ่นยนต์ช่วยงานสูงมากขึ้น
นอกจากนั้น ทาง Pangolin ยังได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นอย่าง University of Electro-Communications ในด้านงานวิจัย และมองหาทีมงานชาวญี่ปุ่นไปร่วมงานด้วย
สำหรับตัวเลขประชากรในวัยทำงานของจีนเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2012 และจีนเริ่มปรากฏผลของการขาดแคลนแรงงานแล้ว ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า หุ่นยนต์ให้บริการจะกลายเป็นตัวเสริมภาคอุตสาหกรรมแทนในอนาคตอันใกล้นี้