xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ รมว.ดีอีคนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
รมว.ดีอี คนใหม่ เข้าทำงานวันแรก ออกตัวขอเวลาศึกษางานก่อน ยันเป็นคนทำงานเร็ว เพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ตามแผนแม่บทไอซีทีเดิม พร้อมแจ้งข้อกังขา พ.ร.บ.คอมพ์ ไม่ได้เกี่ยวกับซิงเกิ้ล เกตเวย์

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า วันนี้ (21 ธ.ค.) เพิ่งเข้ากระทรวงวันแรกเพื่อรับฟังงานของหน่วยงานต่างๆ เพียงแค่หน่วยงานละ 10-15 นาที ดังนั้น จากนี้ไปตนเองจะเข้าพบทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับฟังแผนการดำเนินงาน รวมถึงปัญหา ในแต่ละองค์กรเพื่อตั้งใจนำมาแก้ไขอย่างจริงจังด้วย โดยเฉพาะเรื่องของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ดังนั้น จึงต้องขอเวลาก่อน แต่ตนเองเป็นคนทำงานเร็ว เพื่อให้ยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทไอซีทีเดินหน้า เพราะเหลือเวลาไม่มากในการทำงานแล้ว

ดังนั้น โครงการที่ต้องเดินหน้าให้เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดในปีหน้าก็คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ทั้งในโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเน็ตหมู่บ้าน จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ดำเนินงานโดย ทีโอที และโครงการเคเบิ้ลใต้น้ำใยแก้วน้ำแสง ที่ดำเนินงานโดย กสท โทรคมนาคม ต้องเริ่มดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2560-ต้นปี 2561 ตลอดจนการสร้างศูนย์ดิจิตอลชุมชนให้รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วย

*** แจง 13 ข้อข้องใจ พ.ร.บ. คอมพ์

นอกจากนี้ รัฐมนตรีดีอี คนใหม่ยังชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังขาใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ว่า ขออย่าให้กังวล โดยมี 13 ข้อที่ชี้แจงดังนี้

1.ประเด็นต่อต้าน เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมฯ

พ.ร.บ.คอมฯ ให้อำนาจรัฐจัดตั้ง Single Gateway และ Single Command เพื่อสอดแนมข้อมูลประชาชน และทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตช้าลง

ข้อเท็จจริง คือ พ.ร.บ.คอมฯ ไม่มีมาตราใดที่กำหนดให้ประเทศไทยมีเกตเวย์ (Gateway) ในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่างประเทศเพียงจุดเดียว จึงยืนยันว่า ไม่มี Single Gateway แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยมีเกตเวย์มากกว่า 10 แห่งที่ให้บริการโดยภาคเอกชนที่สามารถยื่นขออนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่เปิดให้ภาคเอกชนสามารถให้บริการตามกลไกการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม

ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ จึงไม่ได้ให้รัฐเข้าไปสอดแนม หรือล้วงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของประชาชน อีกทั้งการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ยังต้องทำตามกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน จึงจะดำเนินการได้ เช่น ทำสำเนา, ถอดรหัส, การตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูล, ยึดอายัด ตามมาตรา 18 มาตรา 19 แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่แม้มีการแก้ไขด้วยในร่าง พ.ร.บ.คอมฯ นี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกลไกการตรวจสอบที่กำหนดไว้ดังกล่าว

นอกจากนี้ การสอดแนม หรือล้วงข้อมูลการติดต่อสื่อสารของประชาชน ยังถือเป็นความผิดตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ฐานดักรับข้อมูลโดยไม่ชอบอีกด้วย และหากมีการใช้อำนาจในทางมิชอบ กฎหมายก็กำหนดบทลงโทษ เช่น ม. 22 และ ม.23

2.ตาม พ.ร.บ.คอมฯ ม. 14 (1) (2) ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น/ปิดปากการตรวจสอบโดยประชาชน/ปิดปากคนเห็นต่าง เพราะถ้อยคำ หรือเงื่อนไขที่ใช้ไม่มีชัดเจนในตัวเอง ทำให้สามารถตีความขยายได้

ข้อเท็จจริง ม. 14 ที่แก้ไข ไม่ได้ต้องการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ปิดปากการตรวจสอบของประชาชน

3.ทำไมต้องมีการปรับแก้ พ.ร.บ.คอม เพราะกฎหมายเดิมก็ยังใช้ได้อยู่

ข้อเท็จจริง คือ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิม ใช้บังคับเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยที่ผ่านมา พบว่า กฎหมายมีปัญหาในการตีความจนกระทบกับการบังคับใช้ เช่น การนำฐานความผิดที่ใช้กับเรื่องฉ้อโกงปลอมแปลงทางออนไลน์ไปใช้กับการหมิ่นประมาท ทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จนทำให้เกิดการโจมตีจากประชาคมโลก และเกิดกระแสสังคมเรียกร้องหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นขึ้น กอปรกับเพื่อเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้เท่าทันกับเทคโนโลยี และภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป

4.ร่างประกาศฯ ภายใต้ ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจรัฐจัดตั้งศูนย์กลาง Block web ที่เชื่อมต่อตรงระบบของผู้ให้บริการ

ข้อเท็จจริง คือ ร่างประกาศเป็นการบูรณาการการระงับการทำให้แพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นเอกภาพ และตรวจสอบได้ อีกทั้งยังเป็นการให้เกิดความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการ

ข้อกังวลของภาคประชาชนดังกล่าวเป็นไปตามร่างประกาศฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการ ปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ให้ บริการ พ.ศ. .... ที่ออกภายใต้ร่าง ม. 20 ที่กำหนดเรื่อง การระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือ เว็บไซต์ (Web Blocking) ที่เป็นความผิด ดังนี้

(1) ผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

(2) ผิดประมวลกฎหมายอาญา ที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้าย

(3) ผิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

(4) ผิดกฎหมายอื่น และข้อมูลคอมพิวเตอร์มีลักษณะขัดต่อความสงบฯ หรือศีลธรรม

(5) ข้อมูลที่มีลักษณะขัดต่อความสงบฯ หรือศีลธรรม

ทั้งนี้ ในการระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ตามร่าง ม. 20 นั้น ต้องดำเนินการตามกลไกที่ผ่านการกลั่นกรองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศาลก่อน เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจ และในกรณีที่เป็นข้อมูลที่มีลักษณะขัดต่อความสงบฯ หรือศีลธรรม แต่ไม่ผิดกฎหมายใดนั้น ร่าง ม. 20 ก็ได้เพิ่มกลไกดูแลเนื้อหาที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยกำหนดให้ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เพื่อช่วยให้กระบวนการพิจารณามีความรอบคอบมากขึ้น โดยในชั้นการพิจารณาของ สนช.มีการเพิ่มเติมจำนวน คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จาก 5 คนเป็น 9 คน และกำหนดว่า อย่างน้อยต้องมาจากภาคเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลไม่ให้กระทบเสรีภาพในการแสดงความเห็น

ดังนั้น ร่างประกาศฯ ที่ออกภายใต้ร่าง ม. 20 จึงไม่ได้ให้อำนาจรัฐ หรือเจ้าหน้าที่เชื่อมต่อระบบผู้ให้บริการ เพื่อปิดเว็บไซต์โดยไม่รับอนุญาตจากศาล ส่วนการจัดตั้งศูนย์กลางตามร่างประกาศฯ ไม่ได้จัดตั้งเพื่อหวังผลในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน แต่เป็นการจัดตั้งเพื่อให้มีช่องทางในการประสานงานกับผู้ให้บริการ และติดตามการดำเนินการตามหมายศาล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเนื้อหาของร่างประกาศฯ จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อีกครั้ง เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินการมีความเหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้

5.ร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ทำให้ผู้ให้บริการในฐานะตัวกลาง ต้องเซ็นเซอร์ (Censor) ตัวเอง เพื่อไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล

ข้อเท็จจริง โดยปกติผู้ให้บริการจะมีกลไกให้ผู้ใช้บริการรายงานเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เช่น การกดปุ่มแจ้งของ Facebook หรือ Youtube ซึ่งเป็นกลไกปกติที่มีให้บริการอยู่แล้ว และช่วยลดข้อพิพาทโดยไม่ต้องใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

6.ความกังวลเรื่องความชัดเจนในการออกประกาศภายใต้ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

ข้อเท็จจริง ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีการออกกฎหมายลูก หรืออนุบัญญัติ 2 ประเภท ได้แก่

1) ส่วนที่ปรากฎใน พ.ร.บ.เดิมอยู่แล้ว

2) ประกาศกระทรวงฯ ซึ่ง รมว.ดท.มีนโยบายว่า ก่อนจะประกาศใช้ให้มีการทำประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชน เพื่อให้มีการตรวจสอบที่รัดกุม ทั้งร่างประกาศฯ ที่ออกภายใต้ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในเรื่องต่างๆ

1.ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะ และวิธีการส่ง ลักษณะ และปริมาณของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการปฏิเสธการตอบรับได้โดย ง่าย พ.ศ. ....

2.ประกาศเรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนการระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....

3.ประกาศเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....

4.ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูล คอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. ....

5.ประกาศเรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความ 7 ผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ....

7.ถ้าเน็ตล่ม คือ ล่มทั้งประเทศใช่ไหม

ข้อเท็จจริง ประเทศไทยเปิดเสรีในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และมีผู้ให้บริการเกตเวย์ และอินเทอร์เน็ตหลายราย จึงมีโอกาสน้อยมากที่ผู้ให้บริการทุกรายจะไม่สามารถให้บริการได้พร้อมกัน อนึ่ง ความสามารถในการให้บริการอย่างต่อเนื่องขึ้นอยู่กับรูปแบบสถาปัตยกรรมระบบ ปริมาณข้อมูลที่จะส่งผ่านระหว่างอุปกรณ์ เครือข่ายต้นทาง และปลายทาง และความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

8.การเข้าถึงเว็บต่างประเทศจะทำได้ยากขึ้น

ข้อเท็จจริง คือ ความรวดเร็ว และความสามารถในการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างประเทศยังเหมือนเดิม เนื่องจาก พ.ร.บ. คอมฯ ไม่ได้ลดจำนวนช่องทางการใช้อินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ซึ่งการสื่อสารยังต้องผ่านผู้ให้บริการเกตเวย์ ต่างประเทศกว่า ๑๐ รายที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.เชื่อมต่อประเทศไทยกับต่างประเทศผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำ หรือเคเบิ้ลบนบกหลายเส้นทาง เช่น เส้นทาง AAG (Asia-America-Gateway), SEA-ME-WE 4 (South East Asia-Middle East-Western Europe 4), SEA-ME-WE 3 (South East Asia - Middle East-Western Europe 3), TIS (Thailand-Indonesia-Singapore), FLAG (Fiber Optic Link Around the ๙ Globe), APCN 2 (Asia Pacic Cable Network 2), Japan-USA เป็นต้น

9.ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไรจากการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ในครั้งนี้

ข้อเท็จจริง การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม กฎหมายที่ปรับแล้วมีความชัดเจนขึ้นกว่าเดิม เป็นการแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเดิม เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และลดความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการ

10.เปิดให้รัฐสอดแนมข้อมูลประชาชน (การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิม)

ข้อเท็จจริง คือ การเปิดโอกาสให้รัฐเข้าถึงข้อมูลของประชาชน เพื่อหวังผลในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการ เป็นการเข้าใจผิด และตีความเกินขอบเขต

ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจรัฐสอดแนม และไม่มีการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นมาจากร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการ ปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. ....คำว่า มาตรการทางเทคนิคใดๆ ถูกตีความว่า สามารถเจาะ แฮก หรือเข้าถึงข้อมูลส่วน บุคคลจากระบบผู้ให้บริการ อาจได้ไปซึ่งข้อมูลธุรกรรมทางการเงินได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว หมายถึงวิธีการบล็อกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถเขียนได้ว่า ต้องใช้โปรแกรมใด และไม่ได้หมายถึงว่า จะเป็นการถอดรหัส เพราะการถอดรหัสต้องมีคำสั่งศาลเท่านั้น ตามมาตรา 18

ส่วนการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่หลักการไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่เพิ่มเติม คือ ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์สามารถเข้าไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นที่ไม่เชี่ยวชาญเมื่อได้รับการร้องขอ เพื่อให้สังคมได้รับความยุติธรรม และเป็นคุณมากขึ้น

11.ให้อำนาจปิดเว็บที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ขัดศีลธรรม ปิดกั้นสิทธิประชาชน เพราะไม่รู้ว่า อะไรที่เรียกว่า ขัดต่อศีลธรรมหรือความสงบ

ข้อเท็จจริง คือ การปิดเว็บตามร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการปิดกั้นสิทธิของประชาชน เพราะมีกลไกการสร้างสมดุลในการระงับการแพร่หลายที่สังคมรับไม่ได้ บางกรณีต้องบังข้อมูลนั้นไว้ เช่น เว็บโชว์ฆ่าตัวตาย เว็บสอนวิธี การปล้น หรือเว็บสอนวิธีทำอาวุธ จึงต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลฯ พิจารณาคำร้องดังกล่าวมีจำนวนรวม 9 คน 6 คนมาจากภาครัฐ 3 คนมาจากเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการตั้งหลายคณะให้เหมาะสมกับคำร้องแต่ละฉบับ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ให้บริการ และประชาชนสูงสุด เมื่อตรวจสอบเรียบร้อย ต้องส่งต่อให้รัฐมนตรีเห็นชอบ และส่งให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาอีกครั้ง จึงจะออกคำสั่งได้ ซึ่งศาลจะพิพากษาให้ระงับหรือลบข้อมูลเท่านั้น ส่วนอะไรที่ถือว่าเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลได้มีแนวทางการพิจารณาอยู่แล้ว ประกอบกับพิจารณาจากสิ่งที่สังคมรู้สึกรับไม่ได้

12.กระทรวงดิจิทัลจะผลักดัน Thailand 4.0 ได้อย่างไรภายใต้สภาพภัยคุกคามแบบนี้

ข้อเท็จจริง ในอดีตรัฐบาลได้มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดี ทุกภาคส่วนน่าจะมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีมาสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศเรามากกว่าใช้เป็นเวทีโจมตีกัน ในการสร้าง Cyberspace ของไทยให้น่าอยู่เป็นที่ทำมาหากิน จำเป็นต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

13.พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลกระทบเช่นใดต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และการผลักดัน Thailand 4.0

ข้อเท็จจริง พ.ร.บ.คอมฯ เป็นหลักพื้นฐานสาคัญที่สร้างระเบียบ และสภาวะแวดล้อมความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ Thailand 4.0
กำลังโหลดความคิดเห็น