เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แจงนิวส์วัน ยันไม่ได้ให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี แต่เป็น 50 ปีแรก ถ้าทำต่อต่อสัญญาได้อีก 49 ปี ชี้ เป็น พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์ปกติ แต่ต้องดูโครงการแบบไหนได้ยาว ยันคนละเรื่องกับเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ระบุให้แค่พื้นที่ ไม่ใช่ทั้งจังหวัด หวังยกกระบวนการสิ่งแวดล้อมเป็นกรณีศึกษานำร่องใช้กับประเทศ เผยถ้าโดน สนช. ตัดออกก็ไปใช้ กม. เดิม
วันนี้ (20 เม.ย.) นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้สัมภาษณ์กับรายการคนเคาะข่าว ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนิวส์วัน ถึงประเด็น ร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปี ว่า การเข้ามาเช่าที่ดินเป็นเรื่องปกติของกฎหมายไทย ที่บอกว่า 99 ปี นี่ไม่ใช่ เราใช้คำว่า 50 บวก 49 ปี นี่เป็นไปตามกฎหมายเดิมที่เป็นอยู่ ชื่อว่า พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากเดิม เพียงแต่เราเอามาเขียนไว้ใน พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งหมายความว่า ที่ให้เช่าได้จริงๆ คือ 50 ปี แต่ว่าถ้ายังทำต่อ หรือตกลงได้ว่าจะทำต่อ ก็จะขยายได้อีกครั้งหนึ่ง ไม่เกิน 49 ปี
“ยกตัวอย่าง มาเลเซียเขาให้ 60 ปี เขาไม่เคยเขียน clause ที่ 2 ว่าครั้งที่ 2 จะเป็นเท่าไร หมายความว่าครั้งที่ 2 เขาก็สามารถให้ต่อสัญญาได้ 60 ปีเช่นเดียวกัน แต่ของเรานี่เขียนไว้ค่อนข้างรัดกุมกว่านั้น โดย พ.ร.บ. 2542 เขียนไว้ว่า ระยะแรกไม่เกิน 50 ปี แล้วต่อได้อีกครั้งหนึ่งไม่เกิน 49 ปี แค่นั้นเอง” นายคณิต กล่าว
นายคณิต กล่าวว่า ทั้งนี้ เงื่อนไขในการต่ออยู่ที่ความตกลงของรัฐบาลกับของคนที่จะมาเช่า ถ้าธุรกิจมันต่อไปก็ทำได้ ในกรณีของ พ.ร.บ. การนิคมฯ ก็ใช้ clause นี้อยู่เป็นเงื่อนไขปกติที่ทำอยู่แล้ว เอามาจากกฎหมายเดิม ไม่ได้ทำอะไรพิเศษพิสดาร แต่กรณีของอีอีซี เราต้องการนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูง เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอากาศยาน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมที่เป็นระดับสูงของการรักษาพยาบาล อุตสาหกรรมที่เป็นไบโออีโคโนมี ซึ่งนักลงทุนเป็นได้ทั้งนักไทยและต่างชาติ แต่ต้องมาพร้อมเทคโนโลยี กระบวนการเทรนคนไทยให้รับรู้เทคโนโลยี อันนี้เป็นเงื่อนไข ขณะที่ฝั่งนักลงทุนก็จะบอกว่า ถ้าเขามาก็ต้องมีที่ดินเพื่อจะทำธุรกิจ เขาก็ขอความมั่นใจมีการเช่าที่ดินได้ในระดับไหน ในกรณีไทย เราให้อยู่แล้ว 50 + 49 อันที่ 2 เขาไปประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เขาให้เกินอยู่แล้ว เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ลาว ตนคิดว่า 50 ปีนี่เป็นเงื่อนไขปกติ ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ลาวเลิกให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปีนั้น ที่ลาวเขียนไม่ได้เขียน 50 + 49 เขาเขียน 99 ปี ไม่เหมือนไทย
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติต้องการระยะของการเช่าที่ดินแค่ไหน นายคณิต กล่าวว่า 50 + 49 อันนี้เป็นเงื่อนไขสูงสุดที่ให้ได้ เราก็จะดูว่าโครงการไหนเหมาะสมที่จะให้เท่าไร สมมติว่า เขามาทำเรื่องเทคโนโลยีจริงๆ ขาดทุนมโหฬาร กว่าจะฟื้นตัวนาน ฉะนั้น ก็อาจจะให้ระยะเวลานานหน่อย ยิ่งระยะเวลานานเท่าไรมันก็หมายความว่าการลงทุนมันก็จะแรงมากขึ้นเท่านั้น มันเหมาะสำหรับการลงทุนที่ต้องการลงทุนใหญ่ๆ ทำให้การคืนกำไรมันใช้เวลานาน มันเลยกลายเป็นว่า ระยะเวลาของการให้เรื่องที่ดิน มันขึ้นอยู่กับจำนวนของความยากในการลงทุน และการได้คืนซึ่งรายได้จากการลงทุนนั้น แต่เงื่อนไขพวกนี้ มันจะเปิดช่องให้ทบทวนเอาไว้อยู่แล้ว สมมติว่า จำนวนของการผลิตหรืออะไรไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็มาแก้สัญญากัน ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในขณะเดียวกัน สมมติว่า มันทำแล้วดี ประเทศได้ประโยชน์มากขึ้น ก็อาจจะพิจารณาต่อขยายในช่วงหลัง
นายคณิต กล่าวว่า ถ้าสมมุติว่าการที่ไทยให้ไปแล้ว แล้วประเทศได้ผลประโยชน์มากกว่าเงินที่ให้ไป ก็ถือว่าเราพอจะยอมรับเป็นเงื่อนไขได้ อย่างโครงการในอีอีซี มันเป็นโครงการที่ชัดเจนอยู่แล้ว และมันได้ผ่านการดูแลของภาครัฐมาแล้ว เช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบังก็มีแผนขยาย มีการทำการศึกษา ทำ Value for money ว่ามันคุ้มเวลาเอาเอกชนมา จะให้เช่ากี่ปี กรณีสนามบินก็กำลังทำอยู่ แต่ว่ากรณีรถไฟความเร็วสูงนี่พิเศษนิดหนึ่ง เพราะว่าการทำรถไฟมันขาดทุนอยู่แล้ว แต่ว่าการทำรถไฟให้มันเชื่อม 3 สนามบินได้ เราสามารถใช้สนามบินอู่ตะเภาได้เต็มที่ มันมีผลประโยชน์ในอนาคต ปกติทำรถไฟความเร็วสูงเส้นหนึ่ง ที่เขาคำนวณ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะตกประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศได้อยู่แล้ว แต่ว่าเงินลงทุน คนลงทุนจริงๆ อาจจะขาดทุน ก็ต้อง subsidize เป็นเรื่องปกติ
ส่วนที่ภาคประชาชนกังวลในเรื่องการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้น นายคณิต กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน และสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นสัญญาแยกต่างหาก ว่าการปกครองพื้นที่นั้นเป็นของประเทศอื่น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการให้เช่าที่ดินโดยสิ้นเชิง ตนคิดว่าเมืองไทยมีที่ดินอยู่จำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ การที่เราสามารถพัฒนาให้มันมีมูลค่าขึ้นมาได้ ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศน่าจะได้ประโยชน์จากมูลค่าที่ดินที่มากขึ้น นอกจากค่าเช่า สมมติว่า ไปเอาที่ว่างเปล่ามา เอามาทำเป็นเมือง กรณีแบบนี้ก็เหมาะสมที่จะให้มีระยะเวลาพอสมควรเพื่อการพัฒนา แต่หลังจากนั้นมันก็คืนเรามา เราก็เป็นเจ้าของใหม่ ตอนคืนเรามา มูลค่าของที่ดิน มูลค่าของสิ่งก่อสร้างบนที่ดิน มันมากกว่านั้นเยอะ โดยคณะกรรมการอีอีซี จะเป็นคนดูแล แล้วก็เข้าไปที่ ครม. เหมือนกัน
เมื่อถามถึงเรื่องพื้นที่ ใน จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา นายคณิต กล่าวว่า สมมติว่า เราเพิ่งประกาศเขตสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบิน เราก็ประกาศไป 6,500 ไร่ คือแค่นี้ สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็คือแค่นี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ตรงไหนใน 3 จังหวัดก็ได้ เฉพาะพื้นที่เป้าหมาย แล้วก็ไฮเทคจริงๆ ขณะที่เสียงตอบรับจากนักลงทุน เขาอยากจะให้ดูว่าเมื่อผลิตออกมาแล้ว ช่วยหาช่องทางให้เขาทำการตลาดระยะแรกก่อนได้ไหม มีตลาดรองรับ ตลาดส่งออกก็ได้ และถ้ามาผลิตไฮเทค ช่วยดูแลผู้เชี่ยวชาญ ไฮเทคโนโลยีที่เขาต้องนำเข้ามาหน่อย ซึ่งเราก็บอกว่าได้ แต่ต้องไปเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาของไทย สอนหนังสือ พัฒนาคนไทยให้เข้าถึง นี่เป็นเงื่อนไข ขอวีซ่าให้ยาวหน่อยได้ไหม ขอให้มีเมืองที่ทันสมัย ที่ครอบครัวเขามาอยู่ได้ไหม
นายคณิต กล่าวว่า มันเป็นเรื่องลำบากเหมือนกัน คือต้องตอบคนไทยว่าให้เขามากไปหรือเปล่า ในขณะเดียวกันก็ต้องไปถามนักลงทุนต่างชาติว่าให้เขาพอหรือเปล่า มันเป็นการบาลานซ์สองอัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำยากพอสมควร ระยะแรกไม่ต้องตกใจหรอก เพราะว่าเมืองไทยห่างจากเทคโนโลยีเยอะ การเทรนคนเข้าอุตสาหกรรมพวกนี้ก็คงยาก แต่ว่าการรับต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือคนไทยที่อยู่ต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ กลับเข้ามาประเทศ จะเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเป็นการต่อเชื่อมเทคโนโลยีให้กับคนไทย มันก็จะสร้างงาน การลงทุนมันจะ spin of ทำให้เกิดเทคโนโลยีภายในประเทศ ไม่มีประเทศไหนที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยไม่มีเทคโนโลยี นี่เป็นการ study ของ World Bank ที่ชัดเจน เขาก็ challenge ไทยกับมาเลเซียพร้อมกัน บอกว่า คุณประกาศว่าอยากจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มีเทคโนโลยีไหม
ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น นายคณิต กล่าวว่า กระบวนการเหมือนเดิม แต่ขอช่วยทำฟาสต์แทร็กให้หน่อยได้ไหม เพราะมันช้า ถ้าเป็นโครงการสำคัญของประเทศ ฝากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้มันเสร็จภายใน 1 ปี ได้ไหม แล้วถ้าขาดเหลือเงิน ไม่มีคนอ่าน หรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาลจะหาเงินไปช่วยให้ เพราะว่าเราอยากได้ โครงการพวกนี้มันเป็นโครงการที่เราได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ได้จากอะไรที่เป็นโครงการไม่ปกติ ซึ่งกรณีสิ่งแวดล้อม ที่มันไม่เร็วเพราะว่าคนอ่านมันน้อย ถ้าใช้คนที่ไม่เก่งทำ ส่งไปรายงานก็ไม่ครบ แก้ไปแก้มา ใช้เวลาเยอะ แล้วก็ให้เงินอ่านน้อย ก็อ่านช้า การทำตรงนี้มันไม่ใช่การลัดขั้นตอน มันเป็นการทำให้กระบวนการดีขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งในอนาคตประเทศไทยก็อาจจะต้องเดินไปตามนั้น คือทำสิ่งแวดล้อมเป็น 1 - 2 ปี กระบวนการของอีอีซีก็เลยกลายเป็น test case ถ้าแบบนี้ทำได้ในอนาคตก็จะปรับกระบวนการใหญ่ของประเทศเป็นอย่างนั้น
เมื่อถามว่า ถ้าสุดท้ายร่าง พ.ร.บ. อีอีซี เกิดมีเสียงคัดค้านมากเรื่อง 99 ปี นายคณิต กล่าวว่า ก็ต้องไปแก้กฎหมาย พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ ด้วย ถ้าไม่แก้ตัวนี้ คนอื่นก็ยังใช้อยู่ ถ้าเป็นแบบนี้ การนิคมฯ จะเหนื่อยมาก เพราะว่าการนิคมฯ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน ใช้มาตรฐานเดียวกัน ก็ต้องตามไปแก้ด้วย ซึ่งหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เอาตัวนี้ออกไป ก็ไปใช้ พ.ร.บ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์ฯ เหมือนเดิม
เมื่อถามถึงเป้าหมายของอีอีซี นายคณิต กล่าวว่า ตนอยากจะเห็นเมืองไทยมีฐานเทคโนโลยี คนไทยมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองทางด้านเทคโนโลยี ก็คือ Thailand 4.0 นั่นเอง แต่ว่าระยะสั้น มีระยะ 1 ปี ต้องทำ 5 เรื่องให้เสร็จ คือ 1. ต้องหาคนมาลงทุนสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนาไปเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก 2. รถไฟความเร็วสูง ต้องเชื่อม 3 สนามบิน ระยะเวลาที่เคลื่อนย้ายคนไม่เกิน 1 ชั่วโมง 3. ต้องทำ 3 ท่าเรือ ดูแลชัดเจน 4. ต้องมีอุตสาหกรรมนำ เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า เมดิคัลฮับ ซึ่งพื้นที่นี้คนไทยกับต่างชาติร่วมกันลงทุนนะ ไม่ใช่ต่างชาติอย่างเดียว และ 5.ต้องมีการพัฒนาเมือง พัฒนาที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ
********************
คำต่อคำ : คนเคาะข่าว 20 เมษายน 2560
เติมศักดิ์- สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 256 คนเคาะข่าววันนี้เรามาคุย สนทนากันในเรื่องที่ภาคประชาชนกำลังเป็นห่วง ว่าร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือว่าร่างกฎหมายอีอีซี นั้นกำลังสร้างความกังวล โดยเฉพาะการยินยอมให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินในพื้นที่ได้ยาวนานถึง 99 ปี ฉะนั้นวันนี้เราจึงจะมาถามเหตุผลที่มาที่ไปของเรื่องนี้จากทางภาครัฐ วันนี้เรามาที่กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อมาสนทนากับเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ดร.คณิต แสงสุพรรณ ครับ สวัสดีครับอาจารย์คณิต
คณิต- สวัสดีครับคุณเติมศักดิ์
เติมศักดิ์- ดร.คณิต ครับ ทำไมร่างกฎหมายอีอีซีจึงต้องมีเรื่องให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปี ภาค
ประชาชนกำลังตั้งคำถามอยู่
คณิต- อันแรกคือ การเข้ามาเช่าที่ดินเป็นเรื่องปกติของกฎหมายไทย ทีนี้ต้องบอกคุณเติมว่า ที่บอกว่า 99 ปี นี่ไม่ใช่ อันนี้เป็นข้อมูลที่ผิด เวลาที่เราเขียนเรื่องนี้ในกฎหมาย เราใช้คำว่า 50 บวก 49 ปี 50 ปีนี่คือ ... ทั้ง 50 บวก 49 ปีนี่เป็นไปตามกฎหมายเดิมที่เป็นอยู่ ชื่อว่า พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 อันนี้ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากที่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.เดิม ซึ่งเขามีสิทธิทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราเอาอันนั้นมาเขียนไว้ใน พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เวลาที่ต่างชาติมาดู จะได้ดู พ.ร.บ.เดียว ก็เลยเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็น 50 บวก 49 หมายความว่าอย่างนี้ หมายความว่าที่ให้เช่าได้จริงๆ คือ 50 ปี แต่ว่าถ้ายังทำต่อ หรือตกลงได้ว่าจะทำต่อ ก็จะขยายได้อีกครั้งหนึ่ง ไม่เกิน 49 ปี อีกครั้งหนึ่ง
ทีนี้ เรียนคุณเติมศักดิ์ว่า กรณีประเทศอื่น ยกตัวอย่าง มาเลเซีย มาเลเซียเขาให้ 60 ปี เขาไม่เคยเขียน clause ที่ 2 ว่าครั้งที่ 2 จะเป็นเท่าไร หมายความว่าครั้งที่ 2 เขาก็สามารถให้ต่อสัญญาได้ 60 ปีเช่นเดียวกัน แต่ของเรานี่เขียนไว้ค่อนข้างรัดกุมกว่านั้น โดย พ.ร.บ.2542 เขียนไว้ว่า ระยะแรกไม่เกิน 50 ปี แล้วต่อได้อีกครั้งหนึ่งไม่เกิน 49 ปี แค่นั้นเอง
เติมศักดิ์- เงื่อนไขในการต่อ ได้หรือไม่ได้ จะพิจารณาจากปัจจัยอะไร
คณิต- อยู่ที่ความตกลงของรัฐบาล ของเรากับของคนที่จะมาเช่าว่าเป็นอย่างไร ถ้าธุรกิจมันต่อไป มันก็ทำได้ ผมเรียนแบบนี้ ตัวนี้ใช้อยู่แล้ว ในกรณีของ พ.ร.บ.การนิคมฯ ก็ใช้ clause นี้อยู่ ใช้ภาษาอย่างเดียวกัน คือตอนนี้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุน แล้วก็เช่าที่ดิน หรือแม้แต่คนไทยที่ไปเช่าที่ดิน ต่างชาติมาเช่าที่ดินง่ายกว่า ก็คือบอกว่า ในเขตการนิคมฯ ก็ใช้ 50 แล้วก็ต่อได้ไม่เกิน 49 อันนี้ก็เป็นเงื่อนไขปกติที่ทำอยู่แล้ว ก็จะสรุปตอนนี้ว่าที่จริงแล้ว พ.ร.บ.อีอีซี ไม่ได้ให้อะไรเป็นพิเศษในเรื่องที่ดินกับนักลงทุน เหมือนเดิม
เติมศักดิ์- เหมือนเดิม? เหมือนกฎหมายเดิม
คณิต- เหมือนกฎหมายเดิม เอามาจากกฎหมายเดิม เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่จะต้องแตกตื่น ไม่ได้ทำอะไรพิเศษพิสดารอะไร แต่เรียนว่ามีความจำเป็นแบบนี้ คุณเติมถามต่อว่ามีความจำเป็นไหมที่จะต้องให้แบบนี้กับต่างชาติ ผมเชื่อว่าทุกประเทศที่อยู่แบบนี้ เมื่อจะมีนักลงทุน คือประเทศจะต้องมองทั้งสองฝั่ง ฝั่งของเราด้วย ที่เป็นของคนไทย กับฝั่งที่เป็นนักลงทุนด้วย คำถามแรกที่ต้องถาม เราต้องการนักลงทุนต่างชาติหรือเปล่า บางกรณีต้องการ แต่ไม่ใช่ต้องการทุกกรณี กรณีของอีอีซีเราต้องการนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูง การลงทุน เช่น อุตสาหกรรมเกี่ยวกับอากาศยาน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมที่เป็นระดับสูงของการรักษาพยาบาล อุตสาหกรรมที่เป็นไบโออีโคโนมี พวกนี้เราต้องการไหม ก็บอกว่าเรายังไม่มี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องการ เมื่อต้องการก็ต้องหานักลงทุนมา ซึ่งนักลงทุนนี่เป็นได้ทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ
กรณีเดียวกัน อย่างไบโออีโคโนี คนที่จะนำหนักๆ ก็จะเป็น ปตท. ก็จะเป็นนักลงทุนไทย เมดิคัลฮับ ที่พูดถึง ก็อาจจะเป็นนักลงทุนไทย มีนักลงทุนไทยหลายเจ้า เพราะฉะนั้นอีอีซีนี่ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนไทยก็ได้ ต่างชาติก็ได้ แต่ต้องมาพร้อมเทคโนโลยี แต่ต้องมาพร้อมสิ่งที่เราอยากจะได้คือ หนึ่ง เอาเทคโนโลยีมา อันที่สอง ต้องมีกระบวนการเทรนคนไทยให้รับรู้เทคโนโลยีพวกนั้นด้วย อันนี้เป็นเงื่อนไข เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ถ้าเราอยากได้สิ่งเหล่านี้มา ก็มองทางฝั่งนักลงทุน ฝั่งนักลงทุนก็จะบอกว่า ถ้าอย่างนั้นถ้าเขามา เขาก็ต้องมีที่ดิน เพื่อจะทำธุรกิจของเขา หรือจะมาเทรนคนหรืออะไร เขาก็ขอความมั่นใจ ก็มีการเช่าที่ดิน ได้ในระดับไหนก็ว่ากันไป ในกรณีของประเทศไทย เราให้อยู่แล้ว 50+49 .. 50 คำมั่น ต่อได้อีกครั้งหนึ่งไม่เกิน 49 เป็นเงื่อนไขปกติที่ให้ ข้อแรกก็คือประเทศไทยให้อยู่แล้ว เขาเข้ามาวันนี้ก็ได้อยู่แล้ว
อันที่ 2 เขาไปประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เขาให้เกินอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซีย อย่างเช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ประเทศพวกนี้เขาให้อยู่แล้ว ผมคิดว่า 50 ปีนี่เป็นเงื่อนไขปกติที่ทำอยู่
เติมศักดิ์- พูดถึงลาว เห็นมีข่าวไม่กี่วันก่อนว่า ลาวเขาเลิกแล้วนะ เรื่องเงื่อนไขให้ต่างชาติเช่าที่ดินได้ 99 ปี
คณิต- เขาให้ไปแล้ว ให้มาเป็นสิบปี ตอนนี้ก็มีคนเข้าไปอยู่ในเขตลาว แล้วที่ลาวเขียน ไม่ได้เขียน 50+49 นะ เขียน 99 ปี ไม่เหมือนกับกรณีไทย การที่ย้อนกลับมา เขาย้อนมาเข้ามาทางฝั่งเรา ไม่ได้ย้อนออกไป อันที่สองก็คือต้องระวัง เรื่องพวกนี้ ต้องเรียนคุณเติมศักดิ์ ต้องระวังสำหรับนักลงทุนต่างชาติ นี่คือความมั่นใจของการลงทุน คำถามแรกที่ต้องถามให้ขาด คือ อยากได้ไหม ถ้าอยากได้เขาเข้ามา ต้องสร้างความมั่นใจให้เขา ก็คือเรื่องเงื่อนไขพวกนี้ เมื่อให้แล้ว อย่าไปบิดพลิ้ว อย่าไปเอาคืน ขอโทษนะ อย่างที่ลาวกำลังจะทำเนี่ย มันจะส่งผลกระทบทางด้านลบมากกว่า
กรณีของเรา เราถึงบอกว่า 50+49 เป็นตามกฎหมายเดิม เราก็ยืนยันใน พ.ร.บ.นี้ว่าเหมือนเดิมนะ you มา เราก็ยืนยันว่ามันเหมือนเดิม ไม่ถอย ไม่ก้าว อยู่แค่นี้
เติมศักดิ์- ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเขาต้องการตัวเลขแค่ไหน ระยะของการเช่าที่ดิน
คณิต- แล้วแต่กรณีครับ เป็นคำถามที่ดีมาก คุณเติมศักดิ์ คือหนึ่ง คำว่า 50+49 ไม่ใช่ใครมาก็ได้ 50+49 นะ เข้ามาเนี่ย อันนี้เป็นเงื่อนไขสูงสุดที่ให้ได้ เราก็จะดูว่าโครงการไหนเหมาะสมที่จะให้เท่าไร อย่างไร สมมุติว่าเราทำรถไฟความเร็วสูง ถ้าต่างชาติจะมาลงทุน หรือว่าจะต้องเช่าที่อะไรที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูง หรือที่สนามบิน ก็จะมีการศึกษาว่าเงื่อนไขอันนี้ควรจะให้กี่ปี แล้วถึงจะกำหนดในเงื่อนไขที่จะให้ว่าจะได้กี่ปี เช่น กำหนดว่าได้ 40 ปี ก็ 40 ปี จะต่ออย่างไรก็เขียนเงื่อนไข แต่อย่างไรก็ตาม 50+49 คือเขียนไว้ว่าสูงสุดได้ไม่เกินเท่านี้ แต่จะได้เท่าไรอย่างที่คุณเติมศักดิ์ถาม แล้วแต่กรณี
สมมุติว่าเขามาทำเรื่องเทคโนโลยีจริงๆ ขาดทุนมโหฬาร กว่าจะฟื้นตัวนาน ฉะนั้นก็อาจจะให้ระยะเวลานานหน่อย say ว่า 30-40 ปี อะไรก็ว่าไป ถึง 50 ปีก็ยังได้ ทีนี้ประเด็นมันคือแบบนี้ เรียนคุณเติมศักดิ์ว่า ถ้าคุณเติมศักดิ์เป็นนักลงทุน สมมุติว่าผมให้ระยะเวลาเช่าที่ดินทำอุตสาหกรรม หรือทำอะไรก็ตาม 10 ปี คุณเติมศักดิ์ก็จะลงทุนแค่ 5 ปี อีก 5 ปี คุณเติมศักดิ์จะปล่อยให้มันพัง แล้วพอครบ 10 ปี ก็ไม่ต้องคืน โรงงานก็พังพอดี อันนี้ประเทศไทยก็ได้เงินลงทุนแค่ 5 ปี แต่ถ้าคุณเติมศักดิ์ได้ 20 ปี คุณเติมศักดิ์ก็จะลงทุน 10 ปี แล้วอีก 10 ปี ก็ปล่อยให้มันพัง ถูกไหมครับ ยิ่งระยะเวลานานเท่าไรมันก็หมายความว่าการลงทุนมันก็จะแรงมากขึ้นเท่านั้น มันเหมาะสำหรับการลงทุนที่ต้องการลงทุนใหญ่ๆ ทำให้การคืนกำไรมันใช้เวลานาน ก็ต้องให้เวลาเขานาน มันเลยกลายเป็นว่า ระยะเวลาของการให้เรื่องที่ดิน มันขึ้นอยู่กับจำนวนของความยากในการลงทุน และการได้คืนซึ่งรายได้จากการลงทุนนั้น ถ้ามันต้องลงทุนนาน ได้กำไรคืนนาน ก็ต้องให้ที่เขานาน ให้เขาอยู่นาน นี่ก็เป็นหลักการ แต่ว่ามันจะได้เท่าไรมันขึ้นอยู่กับว่าโครงการนั้นเป็นอะไร แล้วเราควรจะให้แค่ไหน เป็นการพิจารณาเป็นเคสๆ ไป ไม่ใช่ให้ทั่วไป ไม่ใช่ใครเข้ามาแล้วก็ได้เท่านั้น ไม่ใช่นะครับ
เติมศักดิ์- ในระหว่างทางจะมีเงื่อนไขให้ทบทวนได้ไหมครับ
คณิต- ปกติแล้ว เงื่อนไขพวกนี้ เวลาที่ทำระยะยาว มันจะเปิดช่องเอาไว้อยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โอเค you ต้องทำแบบนี้ๆ นะ สมมุติว่าผมให้สัญญา 50 ปี คุณต้องทำแบบนี้ๆๆ นะ ภายใน 5 ปี 10 ปี 20 ปี 30 ปี ต้องทำแบบนี้ กำหนดเอาไว้ ถ้าทำไม่ได้โดยมีเหตุผล มันก็มี 2 กรณี กรณีแรกคือ สมมุติว่าจำนวนของการผลิตหรืออะไรไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็มาแก้สัญญากัน ว่าจะทำอย่างไรต่อไป มันจะมี dialogue เป็นช่วงๆ โดยปกติมันเป็นแบบนั้น
ในขณะเดียวกัน มันก็มีอีกกรณีหนึ่ง สมมุติว่ามันทำแล้วดี ประเทศได้ประโยชน์มากขึ้น ก็อาจจะพิจารณาต่อขยายในช่วงหลัง อันนี้ก็คือ 49 ปี ที่พูดถึง มันแล้วแต่กรณี
เติมศักดิ์- ถ้าทำแล้วดี ประเทศได้ประโยชน์ อาจารย์คณิตนิยามหน่อยครับว่า ในขอบเขตที่ว่าประเทศได้ประโยชน์
คณิต- ในภาษาทางการเงิน เขาใช้ value for money ถ้าสมมุติว่าการที่ประเทศไทยให้ไปแล้ว แล้วประเทศไทยได้ผลประโยชน์มากกกว่า มากกว่าเงินที่ให้ไป ก็ถือว่าเราพอจะยอมรับเป็นเงื่อนไขได้ สมมุติกรณีของบีโอไอ เขาก็ดูแบบนี้เหมือนกัน เราบอกว่า โอเคนะ ถ้าสมมุติว่าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่ลดหย่อนภาษีให้เขา เขาก็ไม่มา ถูกไหมครับ การลดหย่อนภาษีนี่คือส่วนที่ประเทศเสีย แต่มันเป็นการเสียโดยที่เราอาจจะไม่ได้อยู่แล้ว ก็คือ ถ้ากรณีแบบนี้ เขาลดหย่อนภาษี เขาก็จะคำนวณว่าการลดหย่อนภาษีนั้นมันเป็นเงินเท่าไร แล้วอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้ง การลงทุนอันนี้มันสร้างผลงานเท่าไร สร้างผลประโยชน์ให้ประเทศเท่าไร คุ้มกับที่ไม่เก็บภาษีไหม ถ้าคุ้มกันก็ให้ เป็นการคำนวณเรื่อง Value for money
อย่างกรณีหลายกรณีของโครงการในอีอีซี มันเป็นโครงการที่ชัดเจนอยู่แล้ว และมันได้ผ่านการดูแลของภาครัฐมาแล้ว โดยเฉพาะเช่นโครงการท่าเรือ ท่าเรือแหลมฉบังเขาก็มีแผนขยายอยู่แล้ว เขาก็มีการทำการศึกษา ทำ Value for money แบบที่ว่า ว่ามันคุ้มเวลาเอาเอกชนมา จะให้เช่ากี่ปี เขามีแผนอยู่แล้ว กรณีสนามบินก็กำลังทำอยู่ กรณีรถไฟความเร็วสูงเขาก็ทำไว้แล้วว่าเส้นนี้จะขาดทุนเท่าไร แต่ว่ากรณีรถไฟความเร็วสูงนี่พิเศษนิดหนึ่ง เพราะว่าการทำรถไฟมันขาดทุนอยู่แล้ว แต่ว่าการทำรถไฟให้มันเชื่อม 3 สนามบินได้ เราสามารถใช้สนามบินอู่ตะเภาได้เต็มที่ในอนาคต มันมีผลประโยชน์ในอนาคต เพราะฉะนั้นการขาดทุนรถไฟอาจจะเหมาะ อาจจะทำได้ อาจจะรวมกันแล้วประเทศได้มากขึ้น
ปกติทำรถไฟความเร็วสูงเส้นหนึ่ง ที่เขาคำนวณ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะตกประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ซึ่งประเทศได้อยู่แล้ว แต่ว่าเงินลงทุน คนลงทุนจริงๆ อาจจะขาดทุน ก็ต้อง subsidize เป็นเรื่องปกติ
เติมศักดิ์- ที่ภาคประชาชนเขากังวลกันที่ผมจับความได้ 2-3 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือในแง่ของความมั่นคง บางคนอาจจะมองว่านี่เป็นการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตอีกครั้งหรือเปล่า ให้ต่างชาติเข้ามาเช่าได้ถึง 99 ปี
คณิต- คำว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ผมก็เข้าใจนะครับ ผมนั่งดูเรื่องนี้แล้วก็เรียนท่านผู้ชม ก็คุยกับคุณเติมศักดิ์ก่อนหน้านี้ว่า เรากลัวเรื่องอะไร ถ้าเราจะกลัวคำว่า 99 ปี ไปผูกกับคำว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นี่เป็นคนละเรื่องกัน ระยะเวลาเช่าเกาะฮ่องกง คือ 99 ปี นี่ถูกต้อง ของเรา 50+49 นะ ไม่ใช่ 99 นี่คือหนึ่ง อันที่สอง สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เป็นสัญญาแยกต่างหาก ว่าการปกครองพื้นที่นั้นเป็นของประเทศอื่น ในกรณีเกาะฮ่องกง เป็นของอังกฤษ หมายความว่าเขาจะมีกฎหมายของเขาเอง เขาจะเลือกผู้นำของเขาเอง ประชาชนที่อยู่ในเขตนั้นเป็นประชาชนของเขา ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการให้เช่าที่ดิน 50+49 ปี โดยสิ้นเชิง มันเป็นคนละเรื่องกันกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
ทีนี้ประเด็นของผมเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าเมืองไทยมันมีเรื่องหลายเรื่อง มันมีที่ดินอยู่จำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ อันนี้ต้องเข้าใจ ผ่านมาเป็นร้อยปีก็ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ มีตั้งหลายที่ ไปดูได้ ที่ราชพัสดุทั้งหลายแหล่ก็เป็นแบบนั้น การที่เราสามารถพัฒนาให้มันมีมูลค่าขึ้นมาได้ ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น 50 หรือ 50+49 ประเทศน่าจะได้ประโยชน์จากมูลค่าที่ดินที่มากขึ้น นอกจากค่าเช่า สมมุติว่าไปเอาที่ว่างเปล่ามา เอามาทำเป็นเมือง พื้นที่ว่างเปล่า กับพื้นที่เมือง มูลค่าของคนที่เป็นเจ้าของที่ เมื่อก่อนพัฒนา กับพัฒนาแล้ว มันห่างกัน บางทีเป็นพันเท่า เพราะฉะนั้นกรณีแบบนี้ก็เหมาะสมที่จะให้มีระยะเวลาพอสมควรเพื่อการพัฒนา แต่หลังจากนั้นมันก็คืนเรามา มันคืนเรามา เราก็เป็นเจ้าของใหม่ ตอนคืนเรามา มูลค่าของที่ดิน มูลค่าของสิ่งก่อสร้างบนที่ดิน มันมากกว่านั้นเยอะ นี่เป็นเรื่องปกตินะครับ เขาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาอะไรกัน ก็เป็นแบบนี้ ในหลายๆ ประเทศเขาก็เลยปล่อยให้มีการเช่าระยะยาวแบบนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศ ในที่สุด พอหมดสัญญา เขาก็เอาคืน ก็เป็นเรื่องปกติที่คุยกัน
เติมศักดิ์- กลไกการดูแลตรงนี้จะอยู่ในรูปของคณะกรรมการอีอีซีที่ว่านี้ใช่ไหมครับ
คณิต- ครับ คืออย่างที่เรียน กลไก 50+49 เป็นกลไกโดยปกติ กรมธนารักษ์เวลาเขาดู เขาก็ดูตามเกณฑ์นั้น แล้วพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเกิดมาแล้ว 10 เขต เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ก็เท่ากัน 50+49 กรณีพื้นที่พิเศษชายแดนทั้งหลายแหล่ ก็กรมธนารักษ์เป็นคนดู ร่วมกับคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขาก็ดูแล ในอีอีซีก็อย่างเดียวกัน กรณีพื้นที่ทั้งหลายแหล่ที่เข้ามาก็จะเป็นคณะกรรมการอีอีซีเป็นคนดูแล แล้วก็ไปที่ ครม. เข้าไปที่ ครม.เหมือนกัน
เติมศักดิ์- เคยมีการกล่าวว่า 99 ปี นี่ขอใช้คำที่สังคมเข้าใจกัน 99 ปีนี่พยายามผลักดันมานาน ไม่สำเร็จ รัฐบาลก่อนๆ พยายามผลักดันมา ถูกต่อต้าน ก็ต้องยกเลิกไป รัฐมนตรีหลายคนไม่กล้าไปแตะต้องเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นของร้อน จนกระทั่งมาสำเร็จในครั้งนี้
คณิต- ไม่สำเร็จ ไม่ใช่ 99 ปี อันแรกที่ตอบคือไม่ใช่ 99 ปี ตอบอันนี้ก่อน ไม่ได้มีการผลักดันเรื่อง 99 ปี มีการแต่การเอา พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาเขียนใน พ.ร.บ.อีอีซี ที่จริงแล้ว ไม่เขียนก็ได้ เพราะยังไงก็ต้องใช้ พ.ร.บ.นี้อยู่แล้ว
เติมศักดิ์- ไม่ต้องมีเรื่องนี้ก็ได้ในกฎหมาย?
คณิต- ไม่ต้องมี พ.ร.บ.นี้ก็ได้ แต่ที่เอามานี่ เพื่อให้อ่าน พ.ร.บ.เดียว แล้วเข้าใจว่าเวลาที่ใครมาลงทุนในพื้นที่ของเรา เป็นพื้นที่ 3 จังหวัดที่พูดถึงนี้ แล้วก็ไม่ได้ทั้ง 3 จังหวัด เป็นพื้นที่เขตเล็กเฉยๆ เดี๋ยวผมอธิบายให้ฟัง ก็เลยเขียนไว้ว่าเท่ากับที่เคยเป็นอยู่ แล้วก็มีคนถามว่า แล้วมาเขียนทำไม เราก็บอกว่ามาเขียนเพื่อให้มันชัดเจนว่ามันอยู่ในพื้นที่นี้ และมันเป็นอย่างนี้ เวลาอ่านก็อ่านทีเดียวแล้วก็จบ แล้วก็ไม่ต้องกลับไปอ้าง พ.ร.บ.นั้น คือเอาเรื่องนี้มาเขียนเท่านั้นเอง อย่างเช่น ให้สิทธิเท่าบีโอไอ ก็เขียนไว้ว่าให้สิทธิเท่าบีโอไอที่เคยให้ ก็เขียนอยู่ใน พ.ร.บ.นี้อย่างเดียวกัน
เติมศักดิ์- คำว่าพื้นที่ ที่อาจารย์อยากจะขยายความ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
คณิต- ครับ แต่ไม่ได้ทั้งเขตนะ เวลาที่จะให้ สมมุติว่าอย่างนี้ สมมุติว่าเราเพิ่งประกาศเขตสนามบินอู่ตะเภาเป็นเมืองการบิน เราก็ประกาศไป 6,500 ไร่ ที่เราจะต้องทำทางวิ่งที่ 2 ทำเรื่องอาคารผู้โดยสาร ทำเรื่องอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เป็นการซ่อมเครื่องบินบ้าง เป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเขตติดขัด ขนสินค้าบ้าง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนบ้าง อันนี้ก็คือประกาศพื้นที่เฉพาะ 6,500 ไร่ คือแค่นี้ สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็คือแค่นี้ ไม่ใช่ 3 จังหวัดนะ ในขณะเดียวกัน เวลาที่ผมจะประกาศเมดิคัลฮับ ผมก็จะประกาศพื้นที่เชื่อมกับโรงพยาบาลสักที่หนึ่ง หรือที่มีคนขอมา แค่นี้ say ว่า 500 ไร่ ผมก็จะประกาศบางที่ของนิคมอุตสาหกรรมที่เขามีอยู่เดิม นิคมอุตสาหกรรมเขาอาจจะเสนอมาที่คณะกรรมการอีอีซี ว่า ผมอยากได้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งผมมีอยู่นี้ จะทำเฉพาะเรื่องหุ่นยนต์อย่างเดียว และจะทำไฮเทคอย่างเดียว ผมก็จะไปประกาศแค่ 1,000 ไร่ ที่เขาขอมา ไม่ใช่ทั้ง 3 จังหวัด
กรณีแบบนี้ก็มีเกิดขึ้นอีกว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ไปเช่าพื้นที่ของ ปตท.เพื่อที่จะทำ EECI เป็นอีอีซีทางด้านนวัตกรรม เขาก็จะมีศูนย์วิจัย มีต่างชาติเข้ามาทำวิจัย คนไทย มหาวิทยาลัย ก็เข้าไปช่วยทำงานวิจัย พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ เขาก็ขอมาว่าจะประกาศพื้นที่นี้เป็นเขตส่งเสริมพิเศษอีอีซี ผมก็จะไปประกาศเฉพาะ 400 ไร่ เมื่อเขาทำการศึกษาความเป็นไปได้ ดูว่าโครงการเป็นอย่างไร แล้วตรงกับเรา เราก็จะประกาศแค่ 400 ไร่ ไม่ใช่ทำทั้ง 3 จังหวัด ไม่ใช่ว่าอยู่ตรงไหนใน 3 จังหวัดก็ได้ ไม่ใช่นะ คนละเรื่องกัน
เติมศักดิ์- เฉพาะพื้นที่เป้าหมาย
คณิต- เฉพาะพื้นที่เป้าหมาย แล้วก็ไฮเทคจริงๆ เพราะฉะนั้นมันถึงเกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนที่เข้ามาว่ากำลังจะลงทุนอะไร แล้วระยะฟื้นทุนจะเท่าไร แล้วเราควรจะให้เวลาเขาเท่าไร ไม่ใช่เป็นเรื่องทั่วไปที่จะได้ 50+49 หรืออะไรก็ตาม
เติมศักดิ์- หลังจากสัญญาณนี้ออกไป 50+49 นักลงทุนต่างชาติมีฟีดแบ็กอย่างไรบ้าง
คณิต- ผมคิดว่าธรรมดาๆ เพราะมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่ว่ามันเขียนไว้อย่างนี้ชัดเจน สิ่งที่เขาอยากจะได้ สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติที่เป็นไฮเทคโนโลยีที่จะได้ เขาขอ 2 เรื่อง ขอเรื่องแรกคือ สมมุติว่าเรากำลังสนับสนุนให้ทำรถยนต์ไฟฟ้า เราสนับสนุนมาก เพราะเราเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้ามันเป็นอนาคตข้างหน้า ในระยะที่ผ่านมาเราเชื่อว่า 15 ปี รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์จะน้อยลงมาก จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าเราไม่รีบทำรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ที่เป็นเครื่องของเราก็จะตกรุ่นหมดแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์เมืองไทยอาจจะลดลงจากที่เป็นอยู่ ถ้าไม่รีบทำรถยนต์ไฟฟ้า ทีนี้พอทำรถยนต์ไฟฟ้า หลายประเทศก็อยากทำ สิงค์โปร์ก็อยากทำ มาเลเซียก็อยากทำ เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องไปตะล่อมนักลงทุนทั้งหลายแหล่ว่า มาลงทุนรถยนต์ไฟฟ้ากับเราที่นี่ก็แล้วกัน เราอยากได้ นี่คือที่บอกว่าสิ่งนี้คือเราอยากได้ใช่ไหม ใช่ เราอยากได้ แล้วก็ไปถามเขาว่าเขาอยากได้อะไร ที่คุณเติมศักดิ์บอ
หนึ่ง เขาขอว่า เวลาที่มาแล้ว อย่ามองเฉพาะสิทธิประโยชน์การลงทุน คืออย่ามองว่าให้ภาษี ให้เท่าไร ที่ไหนเขาก็ให้ ที่ไหนเขาก็ได้อยู่แล้ว แต่ที่เขาอยากจะให้ดู ให้ดู 2 เรื่อง คือเรื่องหนึ่ง เมื่อผลิตออกมาแล้ว ช่วยหาช่องทางให้เขาทำการตลาดระยะแรกก่อนได้ไหม เช่น ภาครัฐจะต้องรับซื้อไป ในกรณีของจีนนี่หนักกว่านั้นอีก ประชาชนคนไหนที่ใช้รถไฟฟ้า 1 คัน ในเซี่ยงไฮ้ ได้ 3 แสนบาท รัฐบาลจ่ายให้เลย 3 แสนบาท เพื่อให้เขาสามารถขายรถไฟฟ้าได้
เติมศักดิ์- ให้มีตลาดรองรับได้เพียงพอ
คณิต- ใช่ ถูกต้อง คุณเติมศักดิ์พูดถูก สิ่งที่เขาขอคือ ขอตลาดรองรับนะ จะเป็นตลาดในประเทศก็ได้ ตลาดส่งออกก็ได้ ช่วยผมทำหน่อย ตลาดตรงนี้มันไม่เกี่ยวกับบีโอไอ บีโอไอให้เฉพาะอุตสาหกรรมแบตเตอรี กับรถยนต์ ให้ผลิต ผลิตให้ยังไงก็ได้ บีโอไอก็ให้ แต่ว่าตลาดที่คุณเติมศักดิ์พูด ไม่ใช่ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วย อีอีซีก็เข้าไปช่วย ว่าเรื่องแบบนี้จะช่วยให้เขาเกิดความต้องการเพียงพอได้อย่างไร
อันที่สอง ที่เขาถามตรงๆ เขาบอกว่า ถ้าเขามาผลิตไฮเทค เขาต้องเอาผู้เชี่ยวชาญมา เอาอะไรมา ช่วยดูแลพวกนี้หน่อย ดูแลพวกผู้เชี่ยวชาญ ดูแลพวกไฮเทคโนโลยีที่เขาต้องนำเข้ามาหน่อย เพราะว่าเมืองไทยก็ไม่มี เราก็บอกว่ามาก็ได้ จะดูแลให้ แต่ต้องไปเชื่อมโยงกับภาคการศึกษาของไทย ต้องไปสอนหนังสือ ต้องมีการพัฒนาคนไทยให้เข้าถึงเทคโนโลยีพวกนี้ด้วย นี่เป็นเงื่อนไข แต่ก็โอเคล่ะ ต้องเอาเขาเข้ามา เพราะตอนแรกเราไม่มี พอเขาเข้ามาก็ต้องช่วยเหลือเขาหลายเรื่อง ที่เขาขอก็คือว่า ขอวีซ่าให้ยาวหน่อยได้ไหม อย่าเป็นปีต่อปี เลิกเถอะ คือจะทำงานที ก็ต้องไปขอที ปีหน้าก็ต้องไปขออีก เพราะฉะนั้นให้เขายาวหน่อยได้ไหม สมมุติว่าให้เขา 5 ปี/ครั้ง แต่ 5 ปีนี่คือยาวสุดนะ คือให้แล้วเขาต้องทำงานจริงๆ ไม่งั้นเราก็เอาวีซ่าคืน ระยะการทำงานคืออันที่หนึ่งที่เขาขอ
อันที่สอง เขาขอว่าให้มีเมืองที่ทันสมัย ที่ตัวเขา ลูกเขา ครอบครัวเขามาอยู่ได้ไหม แต่อีอีซีมันค่อนข้างพร้อม พัทยา ต่างชาติก็อยู่กันมานาน
เติมศักดิ์- ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
คณิต- ครับ ระบบสาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย ถ้าคุณไปดูแถวศรีราชา ก็มีเมืองญี่ปุ่นอยู่ ไปดูเถอะ คนญี่ปุ่นเขาอยู่กันมานาน ลงมาถึงพัทยา ลงไปถึงระยอง ก็มีอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้เราก็พร้อมจะช่วยเหลือ ก็จะทำเมืองให้มันน่าอยู่ นี่คือที่เขาขอ
ที่จริงแล้ว สิทธิประโยชน์ทางด้านบีโอไอ ทางด้านอะไร ที่เราให้และปรับปรุงมาทั้งหมดนี่ เพียงแต่เท่าเทียมกับประเทศอื่นเท่านั้นเอง ไม่ได้ดีกว่านะ แต่ว่าต้องเรียนคุณเติมศักดิ์ว่า เมืองไทยทำอีสเทิร์นซีบอร์ดมาทั้งหมด 33 ปี เริ่มเมื่อ 33 ปีที่แล้ว พอทำไปทำมา ในช่วง 15-20 ปีหลัง เราไม่ได้ทำต่อ ในช่วง 33 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศเอาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษไปทำหมด คุณเติมศักดิ์ได้ยินที่เมืองจีนมีเขตโน้นเขตนี้ เขตเจิ้งโจว เขตพัฒนาเซี่ยงไฮ้ มีทั้งหมด 20 กว่าเขตแล้วมั้ง ในเวียดนามมีอยู่ 14-15 เขต เพิ่งประกาศเขตสุดท้าย คือเขตเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ รู้สึกจะอยู่ทางเวียดนามใต้ เป็นหลัก ประเด็นก็คือว่า คนอื่นเอาไปทำหมด หลังจากที่เราทำอีสเทิร์นซีบอร์ดแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรอีกเลย เพราะฉะนั้นเราหายเรื่องการพัฒนาพื้นที่ การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ที่ควรจะทำไปประมาณ 15 ปี เราช้ากว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นกระบวนการของรัฐบาลที่เข้ามาก็คือปรับปรุงกฎหมายบีโอไอ คุณเติมศักดิ์ทราบแล้วใช่ไหมครับ เพิ่งเสร็จ แล้วก็ขอทำกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อที่จะให้บางส่วนที่เพิ่มเติมจากบีโอไอได้ แล้วก็มาทำอีอีซี เพื่อเอากฎหมายพวกนี้มาลงในพื้นที่
เพราะฉะนั้นพูดไปแล้ว อีอีซีนี่เกือบจะไม่ได้สิทธิประโยชน์พิเศษอะไรใหม่ แต่เอาของที่ทุกอย่างที่มีมาทำในพื้นที่เดียวกัน แล้วก็เป็นพื้นที่เล็กๆ นะ
เติมศักดิ์- แล้วถ้าเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค ที่เป็นคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดิน สิทธิประโยชน์
คณิต- เท่าๆ
เติมศักดิ์- เท่าๆ เหรอครับ
คณิต- เท่าๆ ไม่ได้ดีกว่า มาเลเซียให้ 60 ปี เต็มที่ให้ 60 ปี
เติมศักดิ์- แล้วอะไรที่เราจะเป็นจุดขายครับ
คณิต- นี่ก็เป็นอีกคำถามที่ดีนะครับคุณเติมศักดิ์ คือเราก็ต้องพยายามทำทั้งสองฝ่าย ที่บอกนี่มันเป็นเรื่องลำบากเหมือนกัน คือต้องตอบคนไทยแบบที่คุณเติมศักดิ์ถาม ว่าให้เขามากไปหรือเปล่า ในขณะเดียวกันก็ต้องไปถามนักลงทุนต่างชาติอย่างที่คุณเติมศักดิ์ถามอีกเหมือนกันว่า ให้เขาพอหรือเปล่า มันเป็นการบาลานซ์สองอัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำยากพอสมควร แต่ว่าที่เราเห็น ที่เราต้องแก้กฎหมายบีโอไอ มีกองทุนอะไรทั้งหลายแหล่ เพราะว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเกือบไม่ได้อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมดีๆ เลย
เติมศักดิ์- แทบไม่มีเลย?
คณิต- แทบไม่มีเลย สิบปีที่ผ่านมา you นึกไม่ออกว่า you ได้อะไรมากกว่าโตโยต้า รถยนต์อะไรทั้งหลายแหล่ที่เคยเห็นอยู่ นึกออกไหม มีอะไรพิเศษ แต่ you ไม่ได้บริษัทที่ทำเรื่องการวิจัยเรื่องเกษตรใหญ่ๆ มาเลเซียชิงไปแล้ว มาเลเซียชิงไปโดยการที่เขาเจรจากับบริษัทนั้นโดยตรง ไม่เอ่ยชื่อนะ บริษัทนี้เคยเข้ามาดูเมืองไทย แล้วก็มาดูมาเลเซีย มาเลเซียนี่โดยผู้ใหญ่ของมาเลเซียเองเชิญไป แล้วก็ตั้งการเจรจาพิเศษเฉพาะราย แล้วก็ให้พิเศษเฉพาะราย เขาก็ไปอยู่นี่โน่น
ทีนี้ กรณีอย่างเดียวกัน ถ้าเราได้พิเศษเฉพาะรายมา มันก็ไม่ได้มาคนเดียว มันก็จะพาน้องๆ อุตสาหกรรมมาด้วย นี่คือที่มาเลเซียเขาอยากจะได้ เราก็ต้องทำอย่างเดียวกัน ในกรณีนี้เราก็เลยพยายามที่จะทำอีอีซี แล้วก็บอก โอเค โลเกชันเป็นแบบนี้ เราพร้อมที่จะทำให้แบบนี้ เราก็มีทีมเข้าไปเพื่อที่จะติดตามบริษัทใหญ่ๆ มา ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เราได้มาแล้ว เราได้แอร์บัสมาแล้ว แอร์บัสทำสัญญา ทำเอ็มโอยู กับการบินไทยแล้ว แอร์บัสก็บอกว่า จะมาทำศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ที่เป็นเครื่องบินระดับ 787 และเป็นระดับเครื่องบินใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเขาคาดว่าเอเชียจะใช้มากขึ้น ศูนย์การซ่อมใหญ่จะอยู่ที่นี่ พอได้แอร์บัสมา มันก็ไม่ได้แอร์บัสเจ้าเดียว มันก็จะมีชิ้นส่วนที่แอร์บัส บริษัทโน้นที่แอร์บัสซื้อ มันก็ติดตามมาด้วย
เมื่อวานนี้ก็มีอีกบริษัทหนึ่ง ซาบ (SAAB) มา ซาบก็บอกทำชิ้นส่วน ทำอะไรมา พอเขาเริ่มเห็น พอเราเริ่มได้แม่เหล็กมา ตัวเล็กๆ มันก็ตามมา นี่คือที่เราต้องการ แต่ต้องเจรจากับแม่เหล็กให้ได้ก่อน นี่ก็คือ ทำไมต้องดูสิทธิประโยชน์ ทำไมต้องให้เขาให้พอ จำเป็น ไม่งั้นคนอื่นก็แย่ง
เติมศักดิ์- ความรู้สึกคนไทยที่สัมผัสมา ที่แสดงออกมา เช่นว่า เราจนตรอกขนาดที่ต้องขายแผ่นดินแล้วเหรอ หรือที่เรียกว่า Thailand for sale แล้วเหรอ
คณิต- ผมคิดว่า คือหนึ่ง ไม่ใช่ 99 ปี อันนี้ต้องเข้าใจ มันเป็น 50+49 ปี ตามกฎหมายเดิม อันที่สอง การทำก็ทำเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมนำจริงๆ เท่านั้น แล้วสิทธิประโยชน์ที่ให้ทั้งหลายแหล่ ดูๆ แล้วก็พอที่รัฐบาลจะไปเจรจากับเขาได้ ว่าดึงเขามาแล้วเขาน่าสนใจ แต่อย่างที่บอก ประเด็นหลักก็คือว่ามันมีอีกหลายเรื่องที่ในอนาคตอาจจะเป็นปัญหา อาจจะถามเหมือน 99 ปี เหมือนกัน อย่างเช่น ผมจะต้องขออนุญาตว่า ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญมาจริงๆ ให้วีซ่าเขาทำงาน 5 ปี ได้ไหม ไม่ได้ให้อย่างอื่นนะ ให้เขายาวหน่อย แทนที่เขาจะต้องไปเปลี่ยนวีซ่าทุกปีๆ ไหนๆ ก็ต้องมาทำงานอยู่แล้ว เพราะว่ากระบวนการทำงานที่เข้ามามันก็รู้อยู่แล้วว่าลงทุนกี่ปี เขาต้องเอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามากี่ปี ก็ให้เขาพอทำงานได้โดยสะดวกสบายหน่อย อย่างนี้มันก็จะเป็น issue ในอนาคต คุณเติมศักดิ์อาจจะว่า ให้เยอะจังเลย ต่างชาติได้เยอะแยะ มาอยู่เต็มเมืองไทย
เติมศักดิ์- แย่งคนไทยทำมาหากิน
คณิต- ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง แต่อย่างที่เรียน มันต้องเป็นการบาลานซ์ระหว่างการให้กับความต้องการของนักลงทุนที่เข้ามา แต่ก็ต้องเรียนคุณเติมศักดิ์ตรงๆ ว่า บางเรื่องมันก็เป็นเรื่อง เป็นปัญหาจริงๆ เพราะถ้าสมมุติเราไปทำงานที่อื่น บริษัทส่งเราไปทำงานที่อื่นแล้วเราต้องไปต่อวีซ่าทุกปี มันก็คงเหนื่อยเหมือนกันนะ เรื่องแบบนี้มันหยุมหยิมๆ แต่ว่ามันก็มีผลเยอะ ที่สำคัญก็คือว่า กรณีแบบนี้มันอาจจะต้อง ... ท่านนายกฯ พูดแล้วก็คือ อาจจะต้องมีการดูแลเรื่อง ... ถือโอกาสทีเดียวล่ะ จับมือกับมหาวิทยาลัยดังๆ มาทำมหาวิทยาลัยที่นี่ ทำโรงเรียนที่นี่ ให้มันเป็นนานาชาติเสียหน่อย เพื่อให้คนที่มาอยู่ที่นี่เขาสามารถที่จะมีครอบครัวอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย
เรียนคุณเติมศักดิ์ว่าระยะแรกไม่ต้องตกใจหรอก เพราะว่าเมืองไทยห่างจากเทคโนโลยีเยอะ การเทรนคนของเราเข้าอุตสาหกรรมพวกนี้ก็คงยาก แต่ว่าการรับต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือคนไทยที่อยู่ต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ กลับเข้ามาประเทศไทย จะเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเป็นการต่อเชื่อมเทคโนโลยีให้กับคนไทย ถ้าไม่มีตรงนี้สงสัยจะต่อไม่ได้ แต่อย่างว่า หลักการสำคัญ 2 อัน อันหนึ่งก็คือ เราต้องการการลงทุน ใช่ การลงทุนทั้งไทย ทั้งต่างประเทศ ประเทศไทยนี่ลงทุนน้อย ขยายตัวประมาณเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา แค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ปกติควรเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ การทำอีอีซีอาจจะทำให้มีการลงทุนมากขึ้น กลับไปที่การขยายตัวประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ได้ ซึ่งจะทำให้จีดีพีกลับไปที่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แทนที่จะเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ อย่างทุกวันนี้ ชาวบ้านก็จะมีรายได้มากขึ้น
อันที่สอง มันก็จะสร้างงาน อันที่สาม ที่สำคัญก็คือว่า พอมันเป็นแบบนี้ การลงทุนมันจะ spin of ทำให้เกิดเทคโนโลยีภายในประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศไหนหรอกที่ก้าวพ้น Middle Income Trap ภาษาไทยเรียกว่า กับดักรายได้ปานกลาง ไม่มีประเทศไหนที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยไม่มีเทคโนโลยี นี่เป็นการ study ของ World Bank ที่ชัดเจน เขาก็ challenge ประเทศไทยกับมาเลเซียพร้อมกัน บอกว่า you ประกาศว่าอยากจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง มีเทคโนโลยีไหม
เติมศักดิ์- เรื่องธรรมาภิบาล ในการจะให้เช่า แค่ไหน อย่างไร ในการจะต่ออายุ ต่อหรือเปล่า จาก 50 กลายเป็น 99 กับเรื่องการคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการต่างๆ สองเรื่องนี้คือสิ่งที่ประชาชนกังวล
คณิต- คือหนึ่ง โครงการที่นี่ ที่บอกว่า 50+49 เหมือนกฎหมายทั่วไป วิธีการที่เราจะทำการให้ได้มาซึ่งผู้จะมาทำงานหรือสัมปทาน มันก็เหมือนระบบปกติ มันอาจจะเร็วขึ้นบ้าง เพราะเรื่องในเมืองไทยมันช้า เราก็จะทำให้มันเร็วขึ้น แต่กระบวนการจะโปร่งใสเหมือนกัน อันที่สอง ก็คือสิ่งแวดล้อม เรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนเขียน พ.ร.บ.นี้ก็คุยกันเยอะ เราก็เลยตกลงกันว่าอย่างนี้ ไม่ได้ขออะไรเพิ่มขึ้นจากสิ่งแวดล้อม กระบวนการของสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม แต่ขอเพียงว่าช่วยทำฟาสต์แทร็กให้หน่อยได้ไหม เพราะมันช้า เราก็บอกว่า ถ้าเป็นโครงการสำคัญของประเทศ ฝากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อม ช่วยทำให้มันเสร็จภายใน 1 ปี ได้ไหม แล้วถ้าขาดเหลือเงิน ไม่มีคนอ่าน หรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญ รัฐบาลจะหาเงินไปช่วยให้ เพราะว่าเราอยากได้ โครงการพวกนี้มันเป็นโครงการที่เราได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ได้จากอะไรที่เป็นโครงการไม่ปกติ เราอยากได้เขามา เราก็จะรีบทำให้เขาหน่อย ก็บอกว่ากระบวนการที่ทำอยู่นี้มันก็คงโอเคมั้ง ถ้าปกติ เราก็ให้ธรรมดาไป แต่ถ้าเป็นกรณีที่เป็นโครงการที่เราต้องการเร่งด่วน ขอว่าไม่เกิน 1 ปีได้ไหม กระบวนการพิจารณา ให้ 1 ปี
เติมศักดิ์- แต่ความเป็นฟาสต์แทร็ก ความรีบ มันจะกลายเป็นที่มาของการข้ามขั้นตอน หรือหละหลวมหรือเปล่า
คณิต- คณะกรรมการทำเหมือนเดิม จริงๆ กฎหมายนี้ คนที่เข้าไปช่วยดูแล ต้องขอบคุณท่านอาจารย์มีชัย อาจารย์วิษณุ และอาจารย์บวรศักดิ์ เป็นคนช่วยเขียนเป็นหลัก และกฤษฎีกาเป็นคนช่วยดู ก็เรียกมาคุยว่าจะทำให้เร็วได้อย่างไร ก็ปรากฏว่ากรณีสิ่งแวดล้อม ที่มันไม่เร็วเพราะว่าคนอ่านมันน้อย คนที่ไปอ่านเรื่องก็ต้องส่งรายงานสิ่งแวดล้อม มันเป็นสองอัน รายงานสิ่งแวดล้อม ถ้าใช้คนที่ไม่เก่งทำ ส่งไปรายงานก็ไม่ครบ ก็ขอแก้ แก้ไปแก้มา ใช้เวลาเยอะ เราก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น ฟาสต์แทร็ก ช่วยบอกมาได้ไหมว่าบริษัทไหนที่ทำได้ดี แล้วก็ จะดูอะไร เขาจะได้ทำให้ตรง จะได้ไม่เสียเวลา นี่หนึ่ง
อันที่สอง เวลาเสนอเข้าไปแล้ว คนอ่านน้อย แล้วก็ให้เงินอ่านน้อย ก็อ่านช้า ก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นไม่เป็นไร ถ้าขาดผู้เชี่ยวชาญเรื่องการอ่าน ไปหามา เดี๋ยวจะให้เงินไปอ่าน การทำตรงนี้มันไม่ใช่การลัดขั้นตอน มันเป็นการทำให้กระบวนการดีขึ้น เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งในอนาคตประเทศไทยก็อาจจะต้องเดินไปตามนั้นนะ คือทำสิ่งแวดล้อมเป็น 1-2 ปี โครงการมันเปลี่ยนหมดแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการของอีอีซีก็เลยกลายเป็น test case กำลังจะกลายเป็น test case ว่าถ้ากระบวนการแบบนี้ทำได้ ในอนาคตก็จะปรับกระบวนการใหญ่ของประเทศเป็นอย่างนั้นเช่นกัน
ยกตัวอย่างอีกอัน เช่น การผ่าน พ.ร.บ.พีพีพี รัฐร่วมเอกชน พ.ร.บ.นี้เขียนไว้ ซึ่งกระบวนการยาวมาก ต้องทำอันนี้เสร็จ ถึงจะมาทำอันนี้ได้ ถึงจะมาทำอันนี้ได้ ถึงจะมาทำอันนี้ได้ รวมๆ แล้ว 2 ปี ก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นก็มานั่งดูซิว่า ขั้นตอนไหนที่มันทำพร้อมกันได้บ้าง ถามให้ชัด ว่าขั้นตอนไหนทำพร้อมกันได้บ้าง โดยมีความโปร่งใสเท่าเดิม โดยมีการให้ information เท่าเดิม ทำไป แต่ให้กระบวนการมันสั้นลง อันนี้กระทรวงการคลังก็ช่วยทำ แล้วทางกระทรวงการคลังก็คิดว่าหลังจากที่ปรับปรุงตัวนี้ กระบวนการในอีอีซีแล้ว อาจจะเอากระบวนการในอีอีซีไปปรับกระบวนการใหญ่ของประเทศ อันนี้ก็เป็น test case คือเป็นความพยายามดูแลว่า ถ้านักลงทุนเข้ามา เขาควรจะได้อะไร และดีที่สุดที่เราทำได้ แค่ไหน ลองทำดู พอทำได้เป็นเรื่องเป็นราวก็ไปปรับกระบวนการใหญ่
กรณีเดียวกัน ในเมืองจีนที่เขาทำเขตเศรษฐกิจพิเศษของเซี่ยงไฮ้ เขาก็ทำ One Stop Service จีนก็บอกว่าจีนเป็นประเทศสังคมนิยม เพราะฉะนั้นกฎระเบียบเยอะมาก ทำเขตพิเศษที่เซี่ยงไฮ้ เอาทุกหน่วยงานมารวมกัน แล้วก็ตัดสินให้จบภายในที่เดียวกัน เขาก็ทำมาปีที่ 3 เขาทำมา 3 ปีเสร็จ เขาก็เอาล่ะ รู้แล้วอันไหนเป็นขั้นตอนที่ลดได้ เขาก็เอาไปขยายผลทั่วประเทศว่าขั้นตอนแบบนี้ ทั่วประเทศลดลงเสียเถอะ ทำแล้ว ลองดูแล้ว แล้วก็เอาเขตนี้ไปทำอีก 4 ที่ ตอนนี้เขตที่เซี่ยงไฮ้ได้รับการนำไปใช้ต่ออีก 4 เขตในประเทศจีน อันนี้ก็คือการพัฒนาจากการทดลองทำ ของเราก็จะทำศูนย์ One Stop Service อย่างเดียวกัน ฝากทางการนิคมฯ ช่วยดู หลังจากที่ตรงนี้ได้เรื่องได้ราว ก็พยายามที่จะบอก เออ ตรงนี้ลดขั้นตอนได้ อย่าไปทำเยอะ
เติมศักดิ์- ถ้าสุดท้ายร่าง พ.ร.บ.อีอีซี เกิดมีเสียงคัดค้านมากเรื่อง 99 ปี แล้วไปฟังความเห็นแล้วคนบอกไม่เอา 99 ปี คนยังเป็นห่วงเรื่องนี้ แล้วถ้าเเอาเงื่อนไขนี้ออกไปจากกฎหมาย
คณิต- ต้องไปแก้กฎหมาย 42 ด้วย ถ้าไม่แก้ตัวนี้ คนอื่นก็ยังใช้อยู่ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ แก้อีอีซีไม่เป็นประโยชน์หรอก อย่างที่บอกว่า ถึงไม่เขียนก็ไม่เป็นไร เพราะมันเท่ากัน แต่เขียนไว้ให้มันเกิดความชัดเจน อันที่ 2 ถ้าเป็นแบบนี้ การนิคมฯ จะเหนื่อยมากเลยนะ เพราะว่าการนิคมฯ และพื้นที่เขตเศรษฐกิจเพื่อนบ้านทั้งหลายแหล่ ใช้มาตรฐานเดียวกัน ก็ต้องตามไปแก้ด้วย
เติมศักดิ์- หมายความว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.นี้ เข้า สนช.แล้ว เอาตัวนี้ออกไปเลย ...
คณิต- ผมก็ไปใช้ 42 เหมือนเดิม
เติมศักดิ์- เพียงแต่ว่าเอามาใส่ไว้เพื่อให้มันแสดงให้ชัดขึ้น ให้ง่ายขึ้น
คณิต- เอาใหม่ สมมุติว่าเป็นแบบนี้ ไม่มีอันนี้ ผมก็ใช้ 42 ถูกต้องทุกประการ ใช่ไหม ผมอาจจะทำพิสดารกว่านั้นก็ได้ ผมก็เอาเขตที่ผมจะประกาศ ให้การนิคมฯ ประกาศ ใช้กฎหมายการนิคมฯ แทน ก็เป็นนิคมฯ ไป เป็นนิคมฯ ไฮเทคทั้งหลายแหล่ กฎหมายการนิคมฯ ก็ได้เท่านี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่า กลับมาจุดเริ่มต้น ไม่มีคำว่า 99 ปี ใครที่พูด 99 ปี คือพูดผิดข้อเท็จจริง
เติมศักดิ์- เวลาเราไปบอกต่างชาติ ก็บอกแบบนี้หรือเปล่าครับ 50+49 นะ you ไม่ใช่ 99
คณิต- 50+49 ไม่มีใครพูด 99 หรอก ในตัวที่เขียนไว้ทั้งหมด เราใช้คำว่า 50 ปี แล้วต่อได้ไม่เกิน 49 ปี
เติมศักดิ์- แล้วก็ยืนยันว่ามันไม่ใช่ลูกเล่นทางกฎหมาย ลูกเล่นทางภาษานะครับ
คณิต- ไม่มี
เติมศักดิ์- เช่น อาจจะไปบอกต่างชาติว่า 99 ปี แต่ว่าเราจำเป็นต้องเขียนกฎหมาย 50+49 ไม่ใช่นะ
คณิต- ไม่ใช่ๆ แล้วการพิจารณาแต่ละเรื่องก็ ... แต่ก็เข้าใจคนที่เป็นห่วง เพราะว่ามันยังไม่เคย ถ้าไปดูเคสของการนิคมฯ ก็จะเห็นนะ โครงการบางอันเขาก็ให้ระยะเท่านี้ โครงการบางอันก็ให้ระยะเท่านู้น แล้วแต่กรณี ซึ่งใช้กฎหมายเดียวกัน ใช้ลักษณะเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย
เติมศักดิ์- แล้วตอนนี้ เป้าหมาย ความฝันของอีอีซี ในใจของอาจารย์คณิต เป็นอย่างไร
คณิต- ผมรับปากกับทางท่านนายกฯ กับคณะกรรมการนโยบาย และรัฐบาล ว่า ระยะยาวอยากจะเห็นเมืองไทยมีฐานเทคโนโลยี คนไทยมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองทางด้านเทคโนโลยี ก็คือ Thailand 4.0 นั่นเอง ท่านนายกฯ ก็พูดเรื่องนี้บ่อย แต่ว่าระยะสั้น มีระยะ 1 ปี กับระยะ 5 ปี ระยะ 1 ปี ผมต้องทำ 5 เรื่องให้เสร็จ คือ หนึ่ง ต้องหาคนมาลงทุนสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนาไปเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก มันไม่ใช่เฉพาะมีแต่รันเวย์กับอาคารผู้โดยสาร แต่มันจะมีเรื่องการซ่อมเครื่องบิน มันจะมีเรื่องคาร์โก มันจะมีเรื่องอุตสาหกรรมชิ้นส่วน มีเรื่องเทรนคน มีเรื่องอะไรอีก 6-7 เรื่องที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน อันนี้ต้องหาคนมาทำงานให้ได้ ภายใน 1 ปี
อันที่สอง คือรถไฟความเร็วสูง ต้องเชื่อม 3 สนามบิน เพราะว่าสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา มันสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ขอเพียงแต่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ระยะเวลาที่เคลื่อนย้ายคนไม่เกิน 1 ชั่วโมง อันนี้เป็นโมเดลใหม่เลยนะ หลายประเทศเป็นแบบนั้น ระยะเวลา 1 ชั่วโมงของเราก็เหมือนกับโตเกียว กับนาริตะ ประมาณโซล กับอินชอน ใกล้ๆ กัน 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นก็หาวิธีให้สนามบินอู่ตะเภาใช้ให้ได้ นี่คือข้อที่ 2 โดยรถไฟความเร็วสูง
ข้อที่ 3 ก็คือต้องดูแลเรื่องท่าเรือ ซึ่งตอนนี้มันเริ่มอึดอัดแล้ว ต้องทำเรื่อง 3 ท่าเรือ ดูแลชัดเจน มีท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด ให้มันเกิดให้ได้
อันที่ 4 ก็คือ ต้องมีอุตสาหกรรมนำ ที่พูดถึงก็คือ ต้องมีคนมาลงทุนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ต้องมีคนมาลงทุนเรื่องเกี่ยวกับเมดิคัลฮับ แต่ต้องเรียนคุณเติมศักดิ์ตรงๆ พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่คนไทยกับต่างชาติร่วมกันลงทุนนะ ไม่ใช่ต่างชาติอย่างเดียว แล้วต่างชาติก็รับทุกประเทศด้วย ฉะนั้นคนไทยอย่างเช่น ปตท. จะลงทุนเรื่องไบโออีโคโนมี ปตท.เขาก็ทำของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราไปช่วยเขาทำเร็วขึ้น โรงพยาบาลกรุงเทพ ก็อยากทจะทำเรื่่องเมดิคัลฮับ เดี๋ยวก็จะคุยกัน ก็จะมีแต่โตโยต้า อาจจะทำรถที่เกี่ยวกับไฟฟ้ามากขึ้น เป็น advanced hi-brid หรือรถไฟฟ้ามากขึ้น ต้องมีการลงทุนอุตสาหกรรมนำ 4-5 อันให้จบ
อันสุดท้ายก็คือต้องมีการพัฒนาเมือง พัฒนาที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ ก็มี 5 เรื่องที่ปีแรกต้องทำ
เติมศักดิ์- 5 ภารกิจใน 1 ปี
คณิต- แต่ไม่ถึงกับเสร็จนะครับ เพราะว่ารถไฟความเร็วสูงกว่าจะใช้ ต้องใช้เวลาสร้างสัก 3-4 ปี กว่าจะเสร็จก็ระยะที่สอง พวกนี้ก็จะเสร็จหมด พร้อมกัน สนามบินก็ประมาณ 5 ปี
เติมศักดิ์- อาจารย์ขอภารกิจแค่นั้นเหรอครับ แค่ช่วงนำร่อง
คณิต- ครับ ผมคิดว่าตอนนี้ยาก เพราะต้องตอบคำถามหลายเรื่อง ก็จะพยายามทำความเข้าใจทั้งฝั่งของคนไทยด้วย ทั้งฝั่งนักลงทุนด้วย แต่ที่เรียนว่านักลงทุนนี่ ผมอยากเห็นนักลงทุนไทยจับมือกันร่วมลงทุนในอีอีซี ในโครงการใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าเงินไทยมีพอ แต่ว่าคนไทยลงทุนน้อย ที่ผ่านมาก็อย่างที่คุณเติมศักดิ์เห็น มันมีความไม่มั่นใจ
ทีนี้กลับมานิดหนึ่ง เรียนคุณเติมศักดิ์เพิ่มนิดหนึ่ง คำว่า พ.ร.บ.อีอีซี เมื่อก่อนตอนทำอีสเทิร์นซีบอร์ด ก็เป็นคณะกรรมการระดับชาติ ฝากไว้กับองค์กรของรัฐ ฝากไว้กับสภาพัฒน์ แต่ทำไปทำมามันหาย คราวนี้เพื่อจะให้นักลงทุนเขามั่นใจ ก็เลยเอาอะไรที่จะต้องทำ มาเขียนเป็น พ.ร.บ.ซะ เพื่อให้ชัดเจนว่าการมี พ.ร.บ.มันดีกว่าเดิม มีความมั่นใจไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนยังไง พ.ร.บ.ก็ยังอยู่ สำนักงานที่จะดูแลเรื่องอีอีซีก็ยังอยู่ นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลกรุณาทำให้ เพราะไม่อย่างนั้นพอผ่านรัฐบาลนี้ไป โครงการระยะยาวก็อาจจะไม่มี มันก็จะเกิดไม่ได้ ก็เลยตั้งใจไว้ว่าใน 1 ปีจะเอาโครงการหลักๆ ออกให้ได้ ส่วนที่เหลือก็จะมีอุตสาหกรรมมีอะไรเข้ามา
เติมศักดิ์- แต่อาจารย์จะขอเป็นเลขาฯ แค่ ...
คณิต- สั้นๆ ตอนที่ผลักให้มันเกิด ตอนนี้มันยุ่งนิดนึง เพราะว่าต้องเขียน พ.ร.บ.ด้วย ต้องสร้างองค์กรด้วย ต้องดูนักลงทุนด้วย แต่ก็โชคดีที่รัฐบาลสนับสนุน ท่านรัฐมนตรีทั้งหลายก็ช่วยกันดูแล เรียนคุณเติมศักดิ์ มันก็แปลกๆ นิดนึง ความรู้สึกพอทำไป มันกลายเป็นว่า พอเราจะทำอีอีซี หลายหน่วยงานเขาก็มาช่วยทำ ยกตัวอย่าง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่เล่าให้ฟัง เขาก็บอกว่า โอเค ถ้า you จะทำอีอีซี เดี๋ยวจะทำเขตนวัตกรรมให้ กระทรวงดิจิทัลฯ ก็บอก มีที่อยู่ตรงนี้ ที่ศรีราชา เดี๋ยวจะขยายเป็นโครงการใหญ่ ในเรื่องอีอีซีดี หรือที่เราเรียกว่าดิจิตอลเซ็นเตอร์ของเมืองไทย เขาก็บอกว่าตรงนี้กำลังดีเลย เพราะว่าจะมีสายเคเบิลใต้น้ำขึ้นมา จะต้องเป็นแหล่งอินเทอร์เน็ตใหญ่ นี่ก็คือคนเขามาช่วยกันทำ การท่องเที่ยวฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวจะดูแผนที่พัทยาให้ นี่ก็มาช่วยกันทำ
เติมศักดิ์- สุดท้ายอาจารย์อยากจะฝากอะไรกับประชาชนที่เป็นห่วงเรื่อง 99 ปี
คณิต- หนึ่งคือ 99 ปี นี่ผิดข้อเท็จจริง ผมคิดว่าไม่เป็นไรหรอก ถ้าเป็นห่วงก็ถามมา เราก็จะพยายามตอบเท่าที่จะทำได้ แต่ว่ากรณีแบบนี้ต้องใจแข็งนิดนึง อย่าฟังข้อมูลอะไรที่ไม่ได้เป็นเรื่องข้อเท็จจริง หรือไม่ได้เป็นทางการ เราก็พยายามจะพูดอยู่เป็นประจำ ว่าใครมาพบเรา คุณเติมศักดิ์ถามเรื่องอาลีบาบา ลาซาด้า ก็ให้ข่าวอยู่เป็นประจำ มันก็เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันทำ ผมคิดว่าอีอีซีเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของใคร ถ้าเราช่วยกันดูแล ช่วยกันสร้าง มันก็เป็นของลูกหลาน
ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคืออยากจะเห็นเด็กรุ่นใหม่ในเมืองไทยปรับตัวจากฐานที่เป็นอยู่ที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ เป็นคนที่มีอาชีพที่ดีในอนาคต มีรายได้ที่ดี มีเทคโนโลยี มีความรู้มากๆ เทียบเคียงกับประเทศชั้นนำ นั่นล่ะจะทำให้ประเทศไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ระดับกลาง อันนี้เป็นอันเดียวที่เราต้องทำ แต่ใช้เวลาหน่อย ขอให้ช่วยกันประคับประคองช่วงนี้ไปก่อน
เติมศักดิ์- ถ้าสังคมยังสงสัย ก็หวังว่าจะได้มาถามอาจารย์อีกนะครับ วันนี้ขอบคุณมากนะครับอาจารย์คณิต
คณิต- ขอบคุณครับคุณเติมศักดิ์
เติมศักดิ์- รายการคนเคาะข่าวลาไปก่อนนะครับ สวัสดีครับ