กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) และองค์กรภาคี จัดสัมมนาวิชาการ นวัตกรรมขับเคลื่อนท้องถิ่นไทยอย่างยั่งยืน หรือ Thailand Local Government Summit 2016 ภายใต้แนวคิด “Towards a Sustainable Local 4.0 ขับเคลื่อนท้องถิ่นไทย 4.0 อย่างยั่งยืน” มุ่งส่งเสริมผู้นำ และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พัฒนากระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงาน พร้อมก้าวเข้าสู่โลก Digital Economy บนพื้นฐานของการพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบ Digital & Innovation for Green Society
บุญรักษ์ สรัคคานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า Thailand Local Government Summit 2016 เป็นเวทีสำคัญในการอบรม และพัฒนาบุคลากรองค์กรปกครองท้องถิ่นให้ได้ทราบถึงประโยชน์ และการประยุกต์ใช้นวัตกรรม และดิจิตอลอย่างบูรณาการ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนอย่างเหมาะสม ให้เกิดการตื่นตัวด้านการบริหารจัดการ และพัฒนาท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นท้องถิ่นที่มีการพัฒนาอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Digital Economy ของประเทศ ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับทราบ และเข้าใจวิสัยทัศน์ นโยบายการขับเคลื่อนท้องถิ่นด้วยนโยบาย Smart City, Green Society and Thailand 4.0 พร้อมประยุกต์ใช้ในท้องถิ่น โดยภายในงานมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน
ด้าน ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) หรือ EGA หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ นำเสนอโครงการและภารกิจที่ EGA ได้ขับเคลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 กล่าวว่า โดยเนื้อหาหลักเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อกำหนดให้การผลักดันภาครัฐไทยสู่ความเป็นเลิศ เป็นภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายตามวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี พ.ศ. 2558-2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของประเทศ โดยหนึ่งในบทบาทหลักของ EGA ในการตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล คือ การปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิตอล ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับงานบริการภาครัฐสู่ความเป็นเลิศ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐบาลดิจิตอลให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล และตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชน และภาคธุรกิจ
ปัจจุบัน EGA ยังมีสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิตอลภาครัฐ หรือ Thailand Digital Government Academy เพื่อใช้พัฒนา และยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ทักษะดิจิตอลที่เหมาะสม และหลากหลายอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล จัดทำ GovChannel เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูล และบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐของหน่วยงานต่างๆ ได้จากจุดเดียว ผ่านช่องทางเว็บท่าชื่อ GovChannel.go.th แอปพลิเคชั่น GAC (Government Application Center) หรือศูนย์กลางแอปพลิเคชั่นภาครัฐ และ Government Kiosk หรือตู้บริการเอนกประสงค์ของรัฐ เป็นช่องทางการเข้าถึงข้อมูล และบริการภาครัฐได้ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว และ Government Smart Box เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นช่องทางเสริมในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และบริการต่างๆ ของรัฐ ในรูปแบบบริการออนไลน์ (e-Services)
แอปพลิเคชั่น G-Chat (Government Secure Chat) หรือ แอปพลิเคชั่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นระบบติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่ แอปพลิเคชั่น G-NEWS เป็นแอปพลิเคชั่นกลางที่หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสาร และบริการต่างๆ
ไฮไลต์ที่น่าสนใจในงานนี้เป็นการสัมมนาวิชาการ และปาฐกถาพิเศษเรื่อง นวัตกรรมและดิจิตอลขับเคลื่อนท้องถิ่นไทยยั่งยืน นิทรรศการในส่วนแสดงนวัตกรรม และดิจิตอลเทคโนโลยี ห้องนิทรรศการจำลอง การใช้นวัตกรรม และดิจิตอลเพื่อนำพาสู่ Green Society and Smart City ต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การประกวดการนำเสนอผลงานการบริหารท้องถิ่นดีเด่นด้วยนวัตกรรมและดิจิตอล ชิงโล่รางวัลเกียรติยศ และเชิดชูเกียรติผู้นำท้องถิ่นดีเด่นด้วยนวัตกรรม และดิจิตอลแห่งชาติ จากนายกรัฐมนตรี
โดยงานนี้มี วิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDE) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมผู้สนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด, บริษัท เออาร์ไอที จำกัด, บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซีล เทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด