กระแสการอธิบายเรื่องยุ่งยากให้เป็นเรื่องง่ายด้วยภาพที่โลกยุคใหม่ให้ชื่อเรียกกันว่า อินโฟกราฟิก (Infographic) นั้น เพิ่งฮอตฮิตในโลกออนไลน์ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 17 ปีที่แล้ว หรือปี 2542 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงริเริ่มนำภาพกราฟิกมาอธิบายเรื่องยาก และเต็มไปด้วยซับซ้อนทางเคมีอย่าง “โครงการฝนหลวง” ให้เป็นเรื่องง่ายดายผ่าน Infographic ภาพการ์ตูนที่ทรงบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์นี้ถูกสร้างในยุคที่เทคโนโลยีมีข้อจำกัดสูงมาก การใช้คอมพิวเตอร์ทรงงานของพระราชาไอทีองค์นี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่
Infographic ฝนหลวงถูกเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “แผนภาพ (การ์ตูน) ตำราฝนหลวงพระราชทาน” แผนภาพนี้มีเอกลักษณ์เดียวกับ ส.ค.ส.ฝีพระหัตถ์ โดยเฉพาะความเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยแสดงทรรศนะว่า เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการสะท้อนให้ลูกหลานไทยได้เห็นถึงตัวอย่างของความประหยัด มัธยัสถ์
“สิ่งของหลายๆ สิ่งแม้จะไม่มีสีสันดึงดูดตา แต่ก็มากมายด้วยความหมาย พระองค์พยายามทำทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์ตลอดเวลา ทรงรักความเรียบง่าย ยึดมั่นในความหมาย และคุณค่าของสรรพสิ่งเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองกันที่ความสวยงาม ฟุ้งเฟ้อ”
แผนภาพ (การ์ตูน) ตำราฝนหลวงพระราชทานเริ่มเป็นที่คุ้นตาของชาวไทยช่วงปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับพระราชทานพระราชบันทึกเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง “THE RAINMAKING STORY” ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่มาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง พระราชบันทึกนี้ทรงบันทึกโดยคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง พระราชทานผ่านกองงานส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2543
พระราชบันทึกประกอบด้วยส่วนหัวกระดาษที่แสดงรายละเอียดอย่างมืออาชีพ จุดที่น่าสนใจในสายตาของคนไอที คือ การกำหนดรหัสลำดับที่เอกสาร ซึ่งตรงกับวิธีการจัดฐานข้อมูล หรือ database ที่เป็นหัวใจหลักของโลกไอที
*** ไม่ใช่คอมพิวเตอร์อย่างเดียว
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงปาฐกถา “เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ” เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2538 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ชัดเจนว่า ก่อนที่ทรงเริ่มศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชาที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์ และพระวิริยะ
“เท่าที่ทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยเรื่องข้อมูล และการทำ filing ข้อมูลต่างๆ ทรงรวบรวม และจัดระบบ filing ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่โดยไม่จำเป็นต้องใส่คอมพิวเตอร์ ทรงเก็บเป็นแฟ้ม เป็นหมวดหมู่ ทรงทำมานานแล้ว ทรงเล่าว่า ที่คุณขวัญแก้ว ทำถวายตอนหลังนี่ ทรงเป็นคนสอนให้ทำ หากใครไปสนทนากับคุณขวัญแก้ว เรื่องพระราชกรณียกิจในช่วงระยะแรก ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็จะพบว่า คุณขวัญแก้ว จัดเก็บ และทำ filing ข้อมูลพระราชกรณียกิจไว้อย่างดี มีเรื่อง การสาธารณสุข การสื่อสาร กับประชาชนทางวิทยุ การเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา และยุโรป เมื่อ พ.ศ.2503 เป็นต้น หรือเรื่องถ่ายภาพต่างๆ ในส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ที่มีการ เขียนเบอร์เรียงลำดับกันมาให้ค้นได้ง่าย ก็เป็นระบบที่ทรงตั้งเอาไว้ หรืออย่างเรื่องการทำแผนที่ก็ไม่ได้ทรงทำเป็น digital mapping อย่างที่เดี๋ยวนี้นิยมทำกัน เท่าที่ทราบทรงใช้วิธีเสด็จไปที่สถานที่นั้นๆ ได้สัมผัส ได้เห็น ก็บันทึกไว้ในความทรงจำของท่าน เวลาทรงขับรถไปถึงสะพาน มองดูลำธาร ทรงชะโงกดู เห็นน้ำไหลจากทางไหนไปทางไหน ก็ทราบความสูงต่ำของพื้นที่ ก็ทรงเอาข้อมูลมาบันทึก สร้างในสมอง แบบที่เราสร้างในคอมพิวเตอร์เป็น digital terrain model หรือเป็นภาพแผนที่ออกมา แล้วทรงบอก model ที่อยู่ในสมองนี้ให้คนอื่นทำในรายละเอียดต่อไปได้”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสนทนาเรื่อง “พระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับเทคโนโลยีสารสนเทศ” วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2538 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา อีกว่า
“ท่านเป็นคนอย่างที่สมัยก่อนเรียกว่า เป็นคนทำ filing ละเอียดลออ ท่านมีระเบียบ มีวินัย มาถึงลูกๆ นี่แย่ สมัยก่อนตอนเล็กๆ ทำเลขตั้งแถวบวกลบต้องตรงกันเป๊ะ ท่องสูตรคูณ ท่านก็ไล่จากข้างล่างไปบน กลับถอยหลังช่วงตรงกลาง สมัยเด็กๆ แค่นี้ก็หนัก แล้วนับเลขที่ต้องตรงเป๊ะเขียนก็ต้องเรียบร้อย ต้องเป็นรูปเป็นร่างเป็นตัว ท่านเข้มงวด อย่างที่คุณแก้ว คุณขวัญ ทำเรื่อง filing รูปถ่ายต่างๆ นั้น ท่านก็เป็นคนสอน ตอนหลังนี่ท่านก็บ่นว่า มีคนมาหยิบโน่นหยิบนี่ไปจนเละ ของที่หยิบไม่ได้อย่างรูปถ่าย ต้องเอามาเรียงเป็นเบอร์ จัดแฟ้ม จัดอัลบั้ม ท่านสอนทั้งนั้น สอนให้คุณแก้ว คุณขวัญทำ เขียน film เบอร์อะไร การเรียง ทำอย่างไร สมัยนี้มันกลายเป็นเรื่องของ database ไป สมัยก่อนเป็นเรื่องของ filing ไม่ว่าเรื่องอะไร เก็บข้าวเก็บของ ท่านทำเป็นระบบ อันนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นเรื่องของฐานข้อมูล อย่างสมัย telex เป็นปรุๆ เป็นม้วนๆ ท่านก็เก็บวางไว้เป็นม้วนๆ ให้เรียบร้อยกระดาษต่างๆ ก็จัดเรียงของท่านไว้เป็นแฟ้มๆ อย่างเป็นระเบียบ”
*** ฝีพระหัถต์ล้วน ไม่ใช่โปรแกรมสำเร็จรูป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2529 หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี ได้ซื้อคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส อันเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย เหตุที่หม่อมหลวงอัศนี เลือกเครื่องนี้ เพราะสามารถเก็บ และพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้ และการใช้งานไม่ยาก ทั้งยังอาจเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสําหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย
ตั้งแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วน พระองค์ทางดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลง และเนื้อร้อง
พระองค์ทรงศึกษาวิธีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยพระองค์เอง ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าในหนังสือ “ดุจดวงตะวัน” (ปี 2538) ว่า
“เวลานี้ก็ทรงอยู่ทุกวันเลย อย่างเขียนโน้ตดนตรีนี่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีนะ เขียนขึ้นมาเอง ใช้โปรแกรมธรรมดา คือ ของโบราณนั่นเอง เสร็จแล้วก็มาเขียน โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีสำเร็จรูปมาเขียนโน้ตเหมือนคนอื่น นั่งเขียนเอง เวลานี้คนทำงานถวายในเรื่องนี้ คือ คุณดิสธร ลูกชายคุณขวัญแก้ว อย่างตอนนี้เวลาเขียนเรื่องต่างๆ ท่านก็ใช้เครื่องพิมพ์ทั้งนั้น แต่ก่อนที่ท่านจะเขียน จะแต่งเรื่องเล่นๆ คือ เป็นการทดลอง ยุคแรกๆ นั้น ยังไม่ค่อยมีเรื่องเสียง ท่านก็ทำให้พูด สวัสดีครับ อะไรต่อมิอะไรตั้ง 10 กว่าปี นานแล้ว อีกอย่างที่ทำก็คือ วาดเป็นรูปต่างๆ ใช้วาดภาพ ท่านไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรใหม่ๆ ทำอย่างไรก็ไม่รู้ ใช้ของโบราณนี่แหละ แล้วเอามาทำเอง”
“อย่างที่ทรงเขียนเรื่องพระมหาชนก นี่ท่านวาดได้ภาพพระมหาชนกว่ายน้ำ แล้วมีนางมณีเมขลาเหาะมา (ทรงพระสรวล) อะไรนี่ วาดได้แล้วก็วาด วาดแผนที่ ก็ไม่ได้ใช้โปรแกรมแผนที่อะไรเขียน วาดเป็นแผนที่อินเดีย แล้วท่านก็กะเอาว่า ในชาดกพูดไว้อย่างนี้ ในสมัยใหม่นี้ plot ว่า มันควรจะอยู่ตรงไหน ว่ายน้ำจากตรงไหนไปถึงไหน คนโน้นคนนี้ในเรื่องเดินทางจากไหนไปที่ไหน ขีดในแผนที่สมัยใหม่ว่า มันจะอยู่ในที่ไหน แล้วท่านก็เอาแผนที่อุตุนิยมมา แล้วก็เอามาสันนิษฐานว่า อากาศในวันนั้นควรจะเป็นอย่างไร เทียบกับตอนนั้นที่มีพายุพัดชาวประมงไปขึ้นบังกลาเทศ ท่านบอกว่าลักษณะต้องอย่างนั้น ตอนที่ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์ต่างๆ position มันคล้ายกันตรงไหน อะไรต่างๆ ท่านก็เอามาเทียบจากเรื่องชาดกมาเป็นเรื่องสมัยใหม่”
“ท่านก็ใช้ลงในเครื่องพวกนี้อย่างที่ทรงเพลงใหม่ ก็เห็นพิมพ์ในนั้น ดูเหมือนจะมี Word processor แต่ว่าใช้เขียน อย่างเขียนโน้ตเพลงรัก เพลงเมนูไข่ ที่เขียนใหม่ ก็ใช้เครื่องนั้น หรือพิมพ์หนังสืออะไร จะมีเรื่องมีราวอะไร ท่านก็ใช้พิมพ์ พิมพ์เองทั้งนั้น ไม่ต้องอาศัยเสมียนที่ไหน”
“แล้วก็เขียนเรื่องต่างๆ อย่างพระราชดำรัสตอนวันที่ 4 ธันวา ที่คนมาเฝ้าฯ พอเสร็จแล้ว ท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านแปลของท่านเอง แล้วพิมพ์ลงในนั้น พิมพ์ไว้ เวลานี้ท่านแต่ง auto-biography อยู่ แต่งถึงไหนก็ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นของท่านเลย ท่านเขียนลงในเครื่องคอมพิวเตอร์”
หนึ่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกเผยแพร่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัย คือ “Fontastic” พระองค์ทรงประยุกต์โปรแกรมนี้จนเกิดเป็นอักขระ หรือฟอนต์ (Font) อักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษหลายแบบ หลายขนาด จากตัวอักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด รวมทั้งอักษรแบบลวดลายวิจิตรมีรูปประกอบสอดแทรกอยู่ด้วย พระองค์ทรงตั้งชื่อแบบตัวอักษรเหล่านั้น ตามที่ประทับเมื่อทรงเริ่มใช้โปรแกรม ได้แก่ ฟอนต์ภูพิงค์ ฟอนต์จิตรลดา เป็นต้น
“อย่างของ PC นี้ แต่ก่อนท่านจะใช้ CU WRITER แล้วก็เอามาทำเขียนทีละตัวๆ เขียนภาษาสันสกฤต ซึ่งทำเอง หรือว่าตัวเขียนภาษาไทยนี่ก็ทำเอง เพราะรู้สึกว่า ท่านไม่โปรดมากที่เข้าประดิษฐ์ตัวเขียนกันใหม่ๆ ตัวเขียนที่ขีดเส้นฉวัดเฉวียนอะไรนี่ กริ้วทุกที ท่านก็จะเขียนของท่านเอง แต่ว่าที่ประดิษฐ์คำนั้น ท่านก็ใช้ software ของเดิม เพราะฉะนั้น ท่านเคยรับสั่งเมื่อมีการเฉลิมพระเกียรติอะไรกันทีหนึงว่า จะเอา font ของท่านเผยแพร่ ท่านจึงบอกว่า ความจริงแล้วมันไม่ถูก เพราะลิขสิทธิ์เป็นของคนอื่น ของเราเป็นแค่เอามาเขียน แต่ว่าตัวโปรแกรมเก่าเป็นของคนอื่น ท่านไม่ได้ทำมาเองตั้งแต่ต้น มันไม่ถูก แต่ว่าที่เห็นท่านเขียนเองเป็นตัวสันสกฤต (หมายถึงอักษรเทวนาครี) ไม่ได้ซื้อมาสำเร็จรูปแบบที่ว่า ใครเขาทำเอาไว้แล้ว” ส่วนหนึ่งจากหนังสือดุจดวงตะวัน
***เด็กไทยควรเดินตาม
ปฐม อินทโรดม ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ATCI ให้ความเห็นว่าในยุคที่เด็กรุ่นใหม่คุ้นเคยกับการใช้แอปทำสารพัดสิ่ง ดูหนัง ฟังเพลง ตัดต่อวิดีโอ เล่นหุ้น ฯลฯ ผ่านสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดอย่าง iPhone 7 ที่มีความเร็วสูงกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่าง Cray-2 เมื่อ 30 ปีที่แล้วกว่า 60 เท่า ไม่ต้องพูดถึงคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ อย่าง Apple Macintosh SE ที่ในหลวงใช้ทรงงานมายาวนานกว่า 20 ปี แถมด้วยความจำกัดจำเขี่ยของเทคโนโลยีในอดีตที่ไม่ได้มีแอปให้เลือกใช้มากมายเหมือนทุกวันนี้ ทำให้พระองค์ต้องทรงศึกษาการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในด้านต่างๆ ด้วยพระองค์เอง รวมถึงทรงประดิษฐ์การแสดงผลภาษาไทยเพื่อสร้างเป็น ส.ค.ส.พระราชทานให้ชาวไทยได้ชื่นใจกันทุกปี
“ยิ่งถ้าเราดู ตำราฝนหลวงพระราชทาน ก็จะยิ่งเห็นความสนพระราชหฤทัยของในหลวงต่อการใช้เทคโนโลยีได้อย่างที่คนรุ่นใหม่ไม่มีวันเทียบได้ เพราะคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมนั้น ทรงใช้สรรสร้าง Infographic ภาพแรกในสยามประเทศ เพื่อให้ชาวไทยได้ดูเข้าใจกันง่ายๆ ว่า ฝนหลวงเกิดมาได้อย่างไร” ปฐม กล่าว “เทคโนโลยีของในหลวง จึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือที่ทรงใช้เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรในประเทศ แต่ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียง ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์รุ่นใหม่ หรือเทคโนโลยีล่าสุดก็สามารถทรงงานได้เกินกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด”
ปฐม ระบุอีกว่า เด็กยุคใหม่อาจเคยแปลกใจว่าทำไมคนสมัยก่อนต้องอ่านคู่มือการใช้เล่มโต ไม่ว่าจะเป็นคู่มือการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรม CU Word คู่มือการใช้ Windows ฯลฯ เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์สมัยนั้น มันไม่ได้ใช้งานง่ายเหมือนแอปสมัยนี้ คำสั่งต่างๆ มักจะถูกซ่อนอยู่ในเมนูหลายระดับชั้น ถ้าไม่อ่านคู่มือก็ไม่มีทางรู้ว่า คำสั่งนั้นอยู่ตรงไหน เอาแค่จะขยายให้ตัวหนังสือใหญ่ขึ้นก็ต้องกดเมนูอย่างน้อย 4-5 ครั้ง ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ใช้นิ้วซูมที่หน้าจอเอาก็ได้แล้ว
“การใช้คอมพิวเตอร์ทรงงานของในหลวงจึงสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลพระราชกรณียกิจ ด้านการดนตรี ภาพถ่าย งานเอกสาร ฯลฯ ซึ่งอย่าลืมว่าการหาข้อมูลในยุคนั้นไม่ได้ทำง่ายๆ แค่ใช้ Google เหมือนในทุกวันนี้”
นอกจากนั้นจุดเปลี่ยนสำคัญของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เดิมเน้นการใช้งานแบบ Stand-alone ต่างคนต่างใช้มาสู่การทำงานแบบเครือข่าย ก็สอดคล้องกับความสนใจของพระองค์ท่านในด้านการสื่อสารที่ทรงค้นคว้าและทดลองด้านการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
“ทรงใช้สัญญาณเรียกขาน VR009 ซึ่งไม่เพียงสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร แต่ยังทรงแนะนำการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งสัญญาณให้นักวิทยุสมัครเล่นในบ้านเราอยู่เสมอ และเมื่อยุคดาวเทียมมาถึง ช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคมก็พร้อมใช้สำหรับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมใต้ร่มพระบารมีให้ความรู้กับเด็กไทยทั้งประเทศอย่างเสมอภาคกัน”
ปฐมยังแสดงข้อมูลว่า ผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีของไทยที่พบว่า เกือบ 80% ของการใช้งานอินเทอร์เน็ตล้วนใช้ไปกับเรื่อง “ไร้สาระ” ส่งต่อข้อมูลมั่วสั่ว ไม่มีที่มาที่ไป นี่จึงเป็นเวลาที่ควรกระตุ้นเตือนเยาวชน ให้เดินตามรอยเท้าพ่อ ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้คุ้มค่า พอเพียง และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับบ้านเมืองของเราเหมือนที่พระองค์ทรงปฏิบัติตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา