xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งค่าส่วนตัว Facebook Privacy (พ.ศ. 2559)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวไทยและชาวโลกหลายคนลงมือแชร์ข้อความเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวบนเครือข่ายเฟซบุ๊ก (Facebook) แน่นอนว่าการแชร์ข้อความนั้นไม่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่ควรทำคือการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวต่อไปนี้ต่างหาก

สำหรับผู้ที่ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้หลายปีแล้ว คงจะดีไม่น้อยหากจะร่วมตรวจดูว่าได้หลงลืมตั้งค่าความเป็นส่วนตัวนี้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามคำแนะนำของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอเมริกัน Consumer Report

ปิดคุณสมบัติ Location : หากไม่ตั้งค่าใดๆ Facebook จะบันทึกข้อมูลสถานที่ที่ผู้ใช้โพสต์ข้อความหรืออัปโหลดภาพในขณะนั้น ข้อมูลนี้ได้รับคะแนนโหวตว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะทำให้ผู้ใช้ไม่มีความเป็นส่วนตัว

การปิดบริการ location สามารถทำได้ผ่านทั้งแอปพลิเคชัน Facebook หรือผ่านการตั้งค่าบนโทรศัพท์มือถือโดยตรง ผู้ใช้ไอโฟนหรือระบบปฏิบัติการ iOS สามารถไปที่เมนูตั้งค่าหรือ Settings เลือกที่ความเป็นส่วนตัวหรือ Privacy แล้วให้มองหาเมนู Location Services ก่อนจะแตะที่ Facebook แล้วเลือกที่ Never สำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์ (Android) ให้เลือกที่ตั้งค่า Settings มองหาเมนูจัดการแอปพลิเคชัน Applications Manager แตะที่ Facebook แล้วเลือก Your Location เพื่อปิดคุณสมบัตินี้

เปิดใช้ Login Approvals : หากมีการลงชื่อใช้ Facebook ด้วยสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์แปลกหน้าที่ไม่เคยถูกใช้มาก่อนหน้านี้ การเปิดคุณสมบัตินี้จะทำให้ Facebook ถามรหัสยืนยันชั้นที่ 2 เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนแปลกหน้าสามารถดึงข้อมูลใดหรือแอบอ้างผู้ใช้ได้

การเปิดคุณสมบัตินี้จะทำให้ Facebook ส่งรหัสไปที่อีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อให้ผู้ใช้รายนั้นกรอกรหัสให้ถูกต้อง ซึ่งหากไม่ถูกต้อง ก็จะเริ่มใช้งานไม่ได้

การเปิดคุณสมบัตินี้ทำได้ด้วยการเปิดที่ Security Settings หรือการตั้งค่าความปลอดภัย แล้วมองหา Login Approval เพื่อเปิดใช้งาน

ทำให้ค้นหายากขึ้น : สิ่งที่ควรทำบน Facebook คือการทำให้คนแปลกหน้าค้นหาข้อมูลส่วนตัวได้ยากขึ้น ไปที่ส่วน “Who can look me up?” ซึ่ง Facebook จัดให้อยู่ในเมนูตั้งค่า Privacy Settings and Tools

ที่นี่ ชาว Facebook จะสามารถควบคุมได้ว่าใครสามารถค้นพบอีเมลแอดเดรสหรือเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้บน Facebook โดยถือเป็นการอนุญาตว่าเปิดให้เสิร์ชเอนจิ้นเชื่อมต่อข้อมูลโปรไฟล์หรือไม่ ไม่เพียงอีเมลแอดเดรส ในเครื่องมือ Privacy Checkup ยังรวมข้อมูลอย่างวันเกิด ที่ป้องกันไม่ให้แสดงสู่สาธารณชนได้ด้วย

คุมคนอ่านโพสต์ : เพื่อควบคุมว่าใครสามารถอ่านข้อความหรือชมภาพนั้นได้บ้าง ผู้ใช้ Facebook สามารถเลือกเมนูจากปุ่มที่อยู่ด้านข้างปุ่ม Post ว่าจะเลือกให้เพื่อน friends หรือทุกคนสามารถอ่านโพสต์นี้ได้ ยังมีการเปิดเฉพาะกลุ่ม groups ที่เป็นสมาชิก หรือจะเลือกใส่ชื่อผู้ที่ต้องการได้เป็นรายบุคคล

ผู้ใช้ Facebook ยังสามารถใส่รายชื่อผู้ที่ไม่ต้องการให้เห็นโพสต์นี้ได้ด้วย ซึ่งไม่เพียงโพสต์ข้อความ แต่อัลบัมภาพก็สามารถกำหนดรายชื่อเฉพาะผู้ได้รับอนุญาตให้ชมเท่านั้นได้

คุมคนเขียน : อีกสิ่งที่ชาว Facebook ควรควบคุมคือเนื้อหาบนหน้าข่าวสารหรือ timeline ตัวเองด้วยการเปิดคุณสมบัติ Timeline Review หรือการตรวจสอบไทม์ไลน์

เมื่อเปิดแล้ว ทุกโพสต์ที่จะปรากฏบนหน้าไทม์ไลน์จะต้องผ่านการอนุมัติจากเจ้าของบัญชีนั้น ระบบจะส่งคำขออนุญาตไปที่ส่วน Activity Log เพื่อให้เจ้าของบัญชีได้เห็นภาพรวมการ Likes หรือข้อความและภาพที่เจ้าของบัญชีนั้นจะถูกติดชื่อหรือ tag

หากเจ้าของบัญชีไม่ได้มีส่วนกรองหรืออนุญาตว่าโพสต์หรือภาพใดที่สามารถปรากฏบนไทม์ไลน์ กรณีนี้อาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ประเด็นนี้ชาว Facebook ทุกคนควรตรวจสอบ Activity Log เพื่อให้ทราบว่าได้ถูกเพิ่มรายชื่อลงในกลุ่มใดบ้างแล้ว ซึ่งอาจจะเลือกลบตัวเองออกจากกลุ่มนั้นได้ตามต้องการ

หยุด Like จากโฆษณาที่กำลังตามมา : แม้ว่าการกด Like จะเป็นการแสดงออกเพื่อให้ Facebook ทราบว่าจะเสนอโฆษณาใดให้ถูกใจ แต่หลายครั้งที่ชาว Facebook ไม่ได้อยากจะรับรองโฆษณานั้นต่อสาธารณชน เพื่อแก้ปัญหานี้ ชาว Facebook จึงได้รับคำแนะนำให้ตั้งค่าเพื่อยกเลิกการติดตามจากระบบของ Facebook ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของนักโฆษณา

วิธีนี้ไม่มีเผยแพร่บนเว็บไซต์ Facebook ผู้ใช้ต้องเข้าไปที่เมนูตั้งค่า Settings แล้วมองหาคำว่า “Ads with my social actions” ก่อนจะเลือกเป็น “No one” ซึ่งเมนูนี้เป็นช่องทางหลักในการควบคุม Facebook ว่าอนุญาตให้ระบบสามารถแสดงโฆษณาตามกิจกรรมออนไลน์ของผู้ใช้รายนั้นได้หรือไม่

เหนืออื่นใด Facebook แถลงตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ และบอกว่า “คุณไม่สามารถบล็อกโฆษณา Facebook ทั้งหมดได้ โฆษณาช่วยทำให้ Facebook ใช้งานได้ฟรีและเราพยายามอย่างหนักในการแสดงเฉพาะโฆษณาที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจสำหรับคุณ”

เข้าใจตรงกันนะ.
กำลังโหลดความคิดเห็น