นายกสมาคมผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ไทย ชี้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น จากความรวดเร็วของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ 4G คือ การพลิกโฉมในวงการธุรกิจ และเมืองไทยเข้าสู่ยุค Internet of Thing ที่สร้างโอกาสให้ “สินค้า” สามารถเชื่อมต่อเข้าถึง “คน” ที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา กูรูด้านความปลอดภัยของวงการไซเบอร์ แนะให้มองเหรียญ 2 ด้าน เพราะนอกจากมีข้อดีที่เกิดจากความรวดเร็วในการโหลดข้อมูลแล้ว ยังมีข้อเสียที่เกิดจากความผิดพลาดในการส่งข้อมูลที่ไม่สามารถระงับการส่งได้ ตลอดจนภัยจากแฮกเกอร์ แนะ กสทช.ให้ความสำคัญกับการวางระบบป้องกันการล้วงข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ใช้ระบบ 4G
การประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 900 MHz ที่จบลงด้วยผู้ชนะการประมูล 2 ราย คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเดิมในวงการโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถชนะคู่แข่งรายเดิมในตลาดมือถือ ทั้งเอไอเอส และดีแทค ด้วยราคา 7.6 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วย บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาร่วมแข่งขันในวงการนี้ด้วยราคาประมูล 7.5 หมื่นล้านบาท นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวงการโทรคมนาคมไทย
เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเป็น 4 ราย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด ทำให้คนไทยสามารถเลือกใช้เพื่อบริการที่คุ้มค่า บนค่าใช้จ่ายที่ถูกลงกว่าเดิม และจากความรวดเร็วของการใช้ระบบ 4G ที่แพร่หลายในวงกว้างนั้นก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์และคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมๆ กับการค้าโลกธุรกิจในออฟไลน์ กำลังจะเปลี่ยนไปเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบด้วยเช่นกัน
ความเร็ว 4G พลิกโลกธุรกิจ
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวกับ Special Scoop ว่า ปัจจุบันคนไทยเข้าสู่ยุคโมบายอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการใช้ชีวิตประจำวันที่อยู่ในโลกออนไลน์ และล่าสุดเทคโนโลยี 4G ที่มาพร้อมความรวดเร็วในการสื่อสารข้อมูลนั้น ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการค้าขาย ซึ่งทุกอย่างต่อจากนี้ไปจะมีโทรศัพท์มือถือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น
สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้คือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะมีการพลิกโฉม เพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการขาย และการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคกับผู้ขายสินค้าให้มีความใกล้ชิด และความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ขณะที่โลกกำลังปรับเปลี่ยนไป พร้อมๆกับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อโลกออนไลน์ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้นจะมีความสามารถในการส่งข้อมูลต่างๆ เช่น ความต้องการของผู้ซื้อไปยังผู้ขาย จากเดิมผู้ซื้อมองหาสินค้าที่จะซื้อ แต่ยุคนี้สินค้าจะเข้ามาหาตัวคนซื้อเอง
นับว่าเป็นการเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง (Internet of thing) ที่คนจะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา เช่น รถยนต์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ อีกตัวอย่างคือ นาฬิกาข้อมือ ที่มีการติดอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อการวัดข้อมูลสุขภาพต่างๆ ของร่างกาย เช่น การหายใจ การเดิน การนอนพักผ่อน
ทั้งนี้ความรวดเร็วล้ำหน้าของเทคโนโลยี 4G และด้วยอุปกรณ์ที่สวมใส่ที่มีความฉลาด สามารถเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตนั้น จะทำให้รู้ได้ว่าคนคนนั้นต้องการสินค้าอะไร โดยจะมีการเก็บข้อมูลทุกอย่างรอบตัว นำข้อมูลไปวิเคราะห์ และประมวลผลจนถึงขั้นตอนการสั่งสินค้าที่ต้องการ ซึ่งการเก็บข้อมูลของคนคนหนึ่งนั้น จะสามารถรู้ไปถึงพฤติกรรมและความต้องการของแต่ละบุคคลได้
ในวันนี้มีธุรกิจหลายรายที่มองเห็นโอกาสและเริ่มนำระบบนี้มาใช้บ้างแล้ว ซึ่งการรวบรวมข้อมูลของลูกค้าจะเป็นศาสตร์ที่นำมาใช้ในวงกว้างพร้อมกับการเกิด 4G และในการทำธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว เพราะเมื่อลูกค้าหันมาใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางหลักในการสั่งสินค้า จะต้องตอบสนองให้ทันเวลา และในตัวสินค้าเทคโนโลยีต่างๆก็จะมีการปรับเปลี่ยนโดยเพิ่มอุปกรณ์วัดค่าร่างกาย รวมทั้งเพิ่มการเชื่อมโยงข้อมูลมากขึ้น
นอกจากนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในด้านการค้าขายสินค้ากลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ จะเริ่มเปลี่ยนเป็นการขายของประเภทดิจิตอลคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของภาพยนตร์และเพลง เพราะ ความเร็วในการโหลดทำให้สามารถฟังเพลง หรือดูภาพยนตร์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา
ทางด้านคุณภาพชีวิต จะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนของบริการทางสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งอุปกรณ์ในการวัดค่าต่างๆ ของร่างกาย ที่สามารถประมวลผลให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น ขณะที่บริการด้านสาธารณสุข ก็จะสามารถได้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีความรวดเร็ว ทำให้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างแพทย์ ผู้ชำนาญการต่างๆ สามารถดูประวัติทางด้านสุขภาพของคนไข้ ตรวจสุขภาพ วิเคราะห์อาการ เพื่อการดูแลและรักษาให้ตรงจุด และทันเวลา
นายภาวุธ กล่าวอีกว่า จากการหารือกันในสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เห็นว่ารูปแบบการขายอีคอมเมิร์ซ หลัง 4G เกิดขึ้นนั้นจะมีการเปลี่ยนไป โดยการค้าขายระหว่าง “ผู้ขายและผู้ซื้อ” จากเดิมที่ใช้การซื้อขายผ่านช่องทางเครื่องคอมพิวเตอร์ จะเปลี่ยนเป็นการซื้อขายผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปได้ทั่วโลก ผู้ขายจึงต้องปรับตัวให้ทันกับความรวดเร็วทางเทคโนโลยี และแสวงหาโอกาส
ต้องมองเหรียญ 2 ด้านในความรวดเร็วของเทคโนโลยี
อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยสารสนเทศ กล่าวกับ Special Scoop ว่า ไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันเป็นลักษณะตรงข้ามกับสโลว์ไลฟ์ คือฟาสต์ไลฟ์ จึงมีโอกาสที่จะส่งข้อมูลผิดพลาดสูงมาก อย่างไรก็ตามในมุมที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 4G นั้นมองว่าจะเกิดจากการแข่งขันของรายใหม่ที่เข้ามา ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้บริการจากโอเปอเรเตอร์มากกว่าเดิม จากที่มีเพียง 3 รายในอดีต เพราะการแข่งขันในวันนี้ คือ การช่วงชิงลูกค้าด้วยการให้โปรโมชันที่คุ้มค่าที่สุดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
ซึ่งหมายถึงคนจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น จ่ายค่าบริการในอัตราที่ถูกลงหรือเท่าเดิม แต่จะได้ความรวดเร็วในการส่งข้อมูลเพิ่มขึ้น คาดว่าน่าจะได้เห็นแพกเกจ Data Unlimited ที่แท้จริงถูกนำมาเล่นเป็นจุดขายที่เด่นชัด ซึ่งความเร็วและความแรงนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมผู้ใช้บริการ การโหลดข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นเรื่องที่ง่าย เพราะความเร็วทำให้เข้าถึงข้อมูล ข่าวสารและโหลดข้อมูลต่างๆ ได้ในทุกสถานที่ ทุกเวลา
ทั้งนี้จากเดิมที่การโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เวลา จะต้องรอทำที่บ้านหรือที่ทำงาน อีกทั้งการส่งข้อมูลอย่างวิดีโอ ก็จะสามารถส่งได้รวดเร็วเพียงไม่กี่นาที แนวโน้มวิดีโอจะมาแทนที่การส่งข้อความ (Text) เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามความรวดเร็วในการส่งข้อมูล แม้จะมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสีย เพราะการส่งข้อมูลที่ผิดพลาดบนระบบ 4G นั้นไม่สามารถระงับการส่งได้เลย เนื่องจากความรวดเร็วนั่นเอง
อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม คือ การสร้างโอกาสในการทำงานของแฮกเกอร์ ที่จะสามารถโหลดข้อมูลได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาในการแฮก 1 ชั่วโมงจะเหลือเพียง 5 นาทีก็สามารถดึงข้อมูลจากโทรศัพท์ได้ทั้งหมด การละเมิดลิขสิทธิ์ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ผิดกฎหมายต่างๆ มีโอกาสจะเฟื่องฟูมากในยุค 4G ด้วยการเอื้อประโยชน์จากความเร็วของระบบ
สำหรับภัยที่จะเกิดนั้น จุดแรกคือที่โทรศัพท์มือถือเอง ดังที่กล่าวคือเมื่อเร็วขึ้นก็มีโอกาสในการรั่วมากขึ้นโดยธรรมชาติ อีก 2 จุดซึ่งเสนอให้ กสทช.หันมาให้ความสนใจคือ Base station ของโทรศัพท์มือถือ โดยระหว่าง Client กับมือถือ ข้อมูลต่างๆ ต้องวิ่งไปที่ Base station ใกล้ๆ ก่อน รูรั่วจึงมีอีกจุดคือ จากตัวเครื่องไปที่เสาย่อย และจากเสาย่อยไปที่สำนักงานใหญ่
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่มีความแตกต่างกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เราใช้ 3G นั้นจะเป็นลักษณะ Sub signal ที่เป็นจีเอสเอ็ม เรียกว่า SS7 โดย SS7 จะวิ่งไปถึงเสาใหญ่ แล้วจึงวิ่งเป็น IP Network ข้างใน ขณะที่ 4G นั้นเป็นลักษณะ IP Network จากเสาข้างนอกเลย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับอินเทอร์เน็ต ถ้าจะคิดในมุมมองของแฮกเกอร์นั้นการแฮกทำได้ง่ายกว่า 3G มาก
โอเปอเรเตอร์บางรายอาจจะมองว่า Base station นั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และคนยังไม่รู้ข้อมูลในวงกว้างจึงไม่มีความเสี่ยง แต่ปัจจุบันเสาหรือกล่องทวนสัญญาณมีอยู่ทุกที่ทั้งในโรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า ฯลฯ จึงมองว่า Station ย่อยต้องมีการเข้ารหัสข้อมูลก่อนส่งไปยัง Station ใหญ่
ประเด็นนี้เป็นเรื่องของข้อกำหนด (Regulator) ที่ กสทช.สามารถออกบทบังคับให้ทุกรายต้องมีการเข้ารหัส (Encryption) อย่างไรก็ตามการดำเนินการนี้มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเพื่อแลกกับความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ โอเปอเรเตอร์จึงต้องตัดสินใจระหว่างการควบคุมค่าใช้จ่าย กับความเสี่ยง เพราะความปลอดภัยขั้นต้นแม้แต่การดักฟังการสนทนาก็สามารถทำได้โดยง่าย เพียงการโหลดจากเสาย่อยในบริเวณที่รับส่งสัญญาณ จึงมีโอกาสในการรั่วทั้ง Voice และ Data
ถึงแม้จะมีการตั้งข้อกำหนดแต่ทั้งหมดก็ขึ้นกับความรับผิดชอบของแต่ละโอเปอเรเตอร์เช่นกัน ประเทศที่จริงจังในเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มยุโรป เพราะให้ความสำคัญเรื่อง Data privacy (การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล) จึงควบคุมการเกิดข้อมูลสูญหาย หรือรั่วไหล (Data Loss, Data leak) อย่างจริงจัง
ขณะที่ประเทศในเอเชียและอีกหลายๆ ประเทศยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะ 3GPP (3rd Generation Partnership Project) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานของ LTE หรือ 4G นั้นไม่ได้กำหนดการเข้ารหัสไว้เป็นมาตรฐานแต่แรก ดังนั้นในวันนี้เมื่อ 4G เกิดขึ้นทั่วโลกเรื่องความปลอดภัยต่างๆ จะตามมา ในฐานะโอเปอเรเตอร์จะมองว่าเป็นความเสี่ยงของผู้ใช้บริการหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง
“รูรั่วจุดสุดท้ายคือที่รวมข้อมูลในสำนักงานใหญ่ ต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่รัดกุม ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องของการป้องกันที่ กสทช.ต้องตรวจสอบ (Audit) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่กำหนด รวมไปถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันความปลอดภัยของลูกค้าด้วยเช่นกัน”
อาจารย์ปริญญา กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ทุกอย่างมีสองด้านทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้นการนำ4G มาใช้ จะได้ความเร็ว ความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกันด้วย เพราะ “ยิ่งสมาร์ทเท่าไร ก็ยิ่งอันตรายเท่านั้น” คนในอนาคตอีก 5 ปีซึ่งจะเป็นยุค Gen C ไลฟ์สไตล์ของคนจะรวดเร็วขึ้น ไม่มีคำว่ารอ เรียกว่าคนจะเสพติดความเร็วจนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ และมีความเสี่ยง ดังนั้นการทำอะไรจึงต้องมีสติ ตั้งแต่การดำเนินชีวิต ไปจนถึงการใช้ข้อมูลต่างๆ เพราะจะไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดได้ทันการ