กสท โทรคมนาคม จับมือ ไมโครซอฟท์ เสริมแกร่งความปลอดภัยด้านข้อมูลลูกค้าองค์กร ภายใต้โครงการ Cyber Threat Intelligence Program (CTIP) ของไมโครซอฟท์ เป็นเวลา 3 ปี ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยมัลแวร์ เพื่อแจ้งเตือนลูกค้าให้แก้ไขต้นเหตุได้ทันท่วงที หลังพบประเทศไทยถูกมัลแวร์โจมตีเพิ่มขึ้น
นางสาวกัณณิกา วรคามิน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กสท ได้จับมือกับ ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ภายใต้โครงการ Cyber Threat Intelligence Program (CTIP) ของไมโครซอฟท์ เป็น เวลา 3 ปี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการรับมือกับภัยอันตรายในโลกไซเบอร์ ด้วยการเปิดช่องทางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความเคลื่อนไหวของมัลแวร์ และภัยร้ายอื่นๆ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการ Managed Security Service (MSS) ซึ่งเป็นบริการหนึ่งภายใต้บริการ CAT cyfence ในรูปแบบการให้บริการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านศูนย์ปฏิบัติการ Security Operation Center (SOC) ในลักษณะดูแล และเฝ้าระวังความปลอดภัยระบบเครือข่าย และเทคโนโลยีสารสนเทศแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ได้รับการแจ้งเตือน และแก้ไขที่ต้นเหตุได้อย่างทันท่วงที
โดยปกติบริการนี้ทำการแจ้งเตือนให้ลูกค้าอยู่แล้ว แต่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับไมโครซอฟท์จะทำให้สามารถรับมือกับภัยร้าย และมัลแวร์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กสท มีลูกค้าองค์กรที่ใช้บริการนี้ประมาณ 200 บริษัท คาดว่าเมื่อมีการจับมือในโครงการดังกล่าวจะทำให้ลูกค้าที่ใช้บริการดังกล่าวเติบโตมากกว่า 25% จากเดิมที่บริการนี้เติบโตทุกปีๆ ละ 25% อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย และลูกค้าไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
นอกจากนี้ กสท ก็จะต่อยอดในการแจ้งเตือนกับลูกค้าองค์กรทั้งหมดกว่า 2,000 รายซึ่ง CAT cyfence ยังให้บริการอีก 3 บริการ ได้แก่ 1.บริการ Security Standard Consulting บริการให้คำปรึกษา และจัดทำระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ 2.บริการ Security System Integration บริการให้คำปรึกษา จัดหา และออกแบบ รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 3.บริการ CCTV Solution (CAT cctv) บริการออกแบบ และติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
“ข้อมูลจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุว่า มีเหตุการณ์จู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์เกิดขึ้นถึง 4,300 ครั้งในประเทศไทยตลอดปี 2558 ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 30% โดยในจำนวนนี้กว่า 35% มีมัลแวร์เป็นต้นเหตุ และมัลแวร์ในประเทศไทยเริ่มมีการหวังผลทางเงิน และการทำลายคู่แข่งมากขึ้น ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์จะช่วยให้ลูกค้าของเราวางใจได้ในความปลอดภัยของข้อมูล และการใช้งานระบบเครือข่าย ด้วยกลยุทธ์เชิงรุกที่ช่วยให้เราสามารถตัดการติดต่อสื่อสารระหว่างมัลแวร์ และอาชญากรผู้เป็นเจ้าของมัลแวร์ โดยทางศูนย์ SOC ของ CAT cyfence จะทำการแจ้งเตือนไปยังลูกค้าได้อย่างทันท่วงที เพื่อจะได้ดำเนินการหาสาเหตุ และกำจัดมัลแวร์อย่างเร่งด่วนต่อไป'
นายคีชาว์ฟ ดาห์คาด ผู้อำนวยการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และหน่วยอาชญากรรมดิจิตอล ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวว่า โครงการ CTIP ปฏิบัติงานภายใต้ความดูแลของหน่วยอาชญากรรมดิจิตอลของไมโครซอฟท์ (Microsoft Digital Crimes Unit หรือ DCU) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับดีไวซ์ต่างๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของมัลแวร์ให้กับพันธมิตรในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ (CERTs) หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) เพื่อปูทางไปสู่การลงมือกำจัดมัลแวร์ต่อไป ปัจจุบัน ฐานข้อมูลของโครงการ CTIP ครอบคลุมไอพีแอดเดรสของดีไวซ์ที่ติดมัลแวร์รวมกว่า 70 ล้านรายการ โดยนับตั้งแต่การจัดตั้งโครงการขึ้นเมื่อปี 2556 เป็นต้นมา ไมโครซอฟท์ และเครือข่ายพันธมิตรในโครงการ CTIP ได้ร่วมมือกันกำจัดมัลแวร์บนดีไวซ์ต่างๆ ไปแล้วนับล้านเครื่อง
“ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 3 ในเอเชียแปซิฟิก และอันดับ 7 ของโลก ในโอกาสนี้ เราจึงมีความยินดีไม่น้อยที่ได้เห็นประเทศไทยเดินหน้าเสริมสร้างเกราะป้องกันเพื่อความปลอดภัยในโลกดิจิตอล ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างไมโครซอฟท์ และ CAT ถือเป็นการเปิดตัวโครงการ CTIP สู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก และยังเป็นก้าวสำคัญในการร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อีกด้วย”
ขณะที่ นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากรายงาน Security Intelligence Report ฉบับล่าสุดของไมโครซอฟท์ ระบุว่า อัตราการตรวจพบมัลแวร์ (encounter rate หรือ ER) ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 6.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนเฉลี่ยของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องทำการกำจัดมัลแวร์ด้วยเครื่องมือของไมโครซอฟท์ (computers cleaned per mille หรือ CCM) พุ่งสูงขึ้นเกินกว่าหนึ่งเท่าตัว จาก 22.2 มาเป็น 46.3 ต่อ 1,000 เครื่อง