xs
xsm
sm
md
lg

‘ปีเตอร์ เหลียง’ โชคร้ายที่เป็น ‘ตำรวจนิวยอร์ก’ ซึ่งมีเชื้อสายเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: จอร์จ คู

ปีเตอร์ เหลียง (กลาง) ขณะเดินออกจากอาคารศาลอาญา ในเขตบรูคลิน ของนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Peter Liang is unlucky to be an Asian New York cop
By George Koo
15/02/2016

เป็นโชคร้ายของ ปีเตอร์ เหลียง ตำรวจอ่อนหัดขาดไร้ประสบการณ์ของกองบัญชาการตำรวจนครนิวยอร์ก ที่เขาเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เขาถูกคณะลูกขุนในศาลชั้นต้นตัดสินว่ากระทำความผิดจริงและอาจถูกระวางโทษจำคุก 15 ปี จากการลั่นกระสุนออกไปโดยอุบัติเหตุจนทำให้ชายหนุ่มดำที่ปราศจากอาวุธผู้หนึ่งเสียชีวิต ในขณะที่มีคดีอีกจำนวนมากมายซึ่งตำรวจผิวขาวไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นฟ้องศาลด้วยซ้ำ จากการการลั่นกระสุนสังหารคนผิวดำอย่างจงใจยิ่งกว่า เหลียง มาก

ตราชูแห่งความยุติธรรมของอเมริกันไม่เพียงแต่เอียงกะเท่เร่ไปในทางไม่เป็นผลดีต่อชาวอเมริกันผิวดำเท่านั้น แต่ยังเบี่ยงเบนไปในทางไม่เป็นผลดีต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอีกด้วย การตัดสินว่า ปีเตอร์ เหลียง (Peter Liang) ตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครนิวยอร์ก (NYPD) กระทำความผิดจริง คือการสาธิตให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่งว่า ตำรวจผิวขาวสามารถที่จะยิงชายผู้ดำข้างหลังจนตายโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนใดๆ แต่ถ้ากระสุนปืนของตำรวจเชื้อสายเอเชียเกิดเด้งสะท้อนไปสังหารคนผิวดำซึ่งยืนอยู่ใกล้ๆ โดยอุบัติเหตุจนเสียชีวิตแล้ว เขาก็ต้องเผชิญโทษถึงขั้นอาจถูกจำคุกยาวนาน 15 ปี

เป็นโชคร้ายสำหรับเหลียง ผู้พิพากษาในคดีของเขา คือ แดนนี เค. ชุน (Danny K. Chun) ผู้ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ จะต้องกำหนดระวางโทษที่เขาจะได้รับ ก็เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ในเวลาที่ผู้พิพากษาผิวขาวหรือผู้พิพากษาผิวดำ อาจจะมีอิสรเสรีที่จะตัดสินคดีความโดยว่ากันไปตามหลักเหตุผลตามเนื้อผ้าที่โจทก์จำเลยสมควรจะได้รับ ตลอดจนตามบริบทแห่งสภาพแวดล้อม แต่สำหรับผู้พิพากษาที่เป็นคนเอเชียแล้ว กลับอาจจะรู้สึกถูกบังคับกดดันให้ต้องกำหนดโทษที่รุนแรงแก่จำเลย เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถกล่าวหาเขาได้ว่ากำลังผ่อนปรนอ่อนข้อให้แก่คนเอเชียอีกผู้หนึ่ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือจะได้ไม่มีความผิดฐานมีฉันทาคติทางเชื้อชาติ

ตามรายงานข่าวต่างๆ ซึ่งเผยแพร่อยู่ตามสื่อมวลชนเชื้อชาตินั้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้เหลียงถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ากระทำความผิดจริงก็คือ เขาไม่ควรเอานิ้วมือของเขาเข้าไปในไกปืน ถ้านิ้วมือไม่ได้อยู่ในไกปืนแล้ว ปืนของเขาก็จะไม่ลั่นออกมา ในตอนนั้นเขากับตำรวจคู่หูของเขาเดินไปตามช่องบันไดมืดๆ ของโครงการแฟลตเคหะที่ขึ้นชื่อในเรื่องเลวร้ายแห่งหนึ่ง และพวกเขาไม่ทราบหรอกว่า อาไค เกอร์ลีย์ (Akai Gurley) ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่ปราศจากอาวุธ ก็อยู่ที่ช่องบันไดดังกล่าวด้วย

ต้องขอบคุณการรวบรวมจัดทำเป็นรายชื่อผู้ที่เสียชีวิตจากการเผชิญหน้ากับตำรวจในนิวยอร์ก ของนิวยอร์กไทมส์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nytimes.com/interactive/2014/nyregion/fatal-police-encounters-in-new-york-city.html?_r=0) เราจึงมีประวัติศาสตร์การยิงคนผิวดำไร้อาวุธของตำรวจในนครนิวยอร์กเอาไว้อ้างอิง ตลอดจนเรื่องที่คดีเหล่านี้ได้ถูกปิดและถูกโยนทิ้งไปอย่างไร เหล่านี้ย่อมสามารถเป็นแนวทางชี้แนะสำหรับผู้พิพากษาชุน ในขณะที่เขาช่างน้ำหนักสภาพแวดล้อมเพื่อไปสู่บทสรุปว่าจะระวางโทษอย่างไรจึงจะเหมาะสมในคดีของเหลียง

นิโคลัส เฮย์เวิร์ด (Nicholas Heyward) วัยรุ่นอายุเพียง 13 ปีกำลังถือของเล่นที่เป็นปืนไรเฟิลปลอมอยู่ในมือ ตอนที่ตำรวจ ไบรอัน จอร์จ (Brian George) ยิงเขาเสียชีวิต ปรากฏว่าอัยการเขตบรูคลิน (Brooklyn) ไม่สนใจแม้กระทั่งเสนอคดีนี้ให้คณะลูกขุนใหญ่ (grand jury) พิจารณา เพราะปืนของเล่นดังกล่าวมีความผิดอยู่แล้วฐานแลดูเหมือนกับของจริงมากจนเกินไป

อามาโดว ไดอัลโล (Amadou Diallo) เป็นผู้อพยพมาจากกินีอายุ 22 ปี เขาถูกตำรวจ 4 คนยิงเสียชีวิตที่อาคารแฟลตที่พักของเขาในเขตบรองซ์ (Bronx) ตำรวจเหล่านี้คิดว่าเขามีปืน และสาดกระสุนใส่เขารวม 41 นัด ตำรวจผิวขาวทั้ง 4 คนนี้ได้รับการตัดสินให้ปล่อยตัวโดยไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาแต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน ตลอดจนในข้อหาความผิดอื่นๆ

แพตริก ดอริสมอนด์ (Patrick Dorismond) ขณะนั้นอายุ 26 ปี เขาเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยผิวดำที่ปราศจากอาวุธ และถูกยิงตายโดย แอนโธนี วัสเควซ (Anthony Vasquez) นักสืบนอกเครื่องแบบของสำนักงานปราบปรามยาเสพติด คณะลูกขุนใหญ่ตัดสินว่าไม่ตั้งข้อหาอาญาต่อนักสืบผู้นี้ เพราะการยิงดังกล่าวไม่ได้มีการไตร่ตรองไว้ก่อน

อุสมาน ซองโก (Ousmane Zongo) ตอนนั้นอายุ 43 ปี เขาโชคร้ายที่เป็นคนดำเอามากๆ และอยู่ในโกดังเชลซี (Chelsea warehouse) ตอนที่ตำรวจบุกจู่โจมเข้าไปเพื่อจับกุมพวกนักปลอมแปลงแผ่นซีดี เขาถูกยิงและถูกสังหารโดยตำรวจผิวขาวคนหนึ่ง ซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดภายหลังการขึ้นศาลไต่สวนพิจารณาคดีรอบที่สอง และจากนั้นผู้พิพากษาก็กำหนดระวางโทษเขาแค่ภาคทัณฑ์ ด้วยเหตุผลที่ว่าทางสำนักงานตำรวจฝึกอบรมและกำกับควบคุมตำรวจผู้นี้อย่างย่ำแย่มาก

ทิโมธี สแตนสเบอรี (Timothy Stansbury) วัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่ในตอนนั้นอายุ 19 ปี เขากำลังรีบร้อนเพื่อไปงานปาร์ตี้ให้ทัน จึงใช้ทางลัดด้วยการปีนหลังคา ตำรวจผิวขาวคนหนึ่งซึ่งกำลังตรวจการณ์หลังคาตรงนั้นอยู่พอดี ได้ยิงเขาเสียชีวิต และคณะลูกขุนใหญ่ก็ตัดสินว่าไม่ต้องกล่าวโทษฟ้องร้องตำรวจผู้นี้ จากนั้นทาง NYPD สั่งพักงานเขาโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้เป็นเวลา 30 วัน

ฌอน เบลล์ (Sean Bell) ตอนนั้นอยู่ในวัย 23 ปี เขานั่งอยู่ในรถยนต์คันหนึ่งในวันแต่งงานของเขาพร้อมๆ กับคนอื่นๆ อีก 2 คน นักสืบ 5 คนกระหน่ำยิงปืน 50 นัดเข้าไปในรถคันดังกล่าวและปลิดชีวิตเบลล์ หลังจากการไต่สวนพิจารณาคดีแบบไม่ใช้คณะลูกขุน ผู้พิพากษาก็ตัดสินว่านักสืบเหล่านี้ไม่มีความผิดพ้นจากทุกๆ ข้อหา

คดีหลังสุดซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วสหรัฐฯคือ อีริก การ์เนอร์ (Eric Garner) วัย 43 ปี ผู้เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัว สืบเนื่องจากถูกตำรวจผิวขาวผู้หนึ่งใช้แขนรัดคอจากด้านหลัง (chokehold) ซึ่งเป็นวิธีจับกุมที่ทาง NYPD ห้ามใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ปรากฏว่าคณะลูกขุนใหญ่ตัดสินว่าไม่ต้องฟ้องร้องความผิดทางอาญาต่อตำรวจผู้นี้ การตายของการ์เนอร์บังเกิดขึ้น 4 เดือนพอดิบพอดีก่อนหน้าที่เกอร์ลีย์ถูกกระสุนเสียชีวิต

ในทุกๆ คดีที่ยกตัวอย่างมานี้ เหยื่อผู้เสียชีวิตคือคนดำ ส่วนตำรวจคือคนขาว ถึงแม้ตำรวจที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไม่ได้ถูกตัดสินเข้าคุก แต่ทางนครนิวยอร์กก็รู้สึกว่าต้องแสดงความรับผิดชอบบางประการ และจ่ายเงินชดเชยเป็นตัวเงินให้ครอบครัวของเหยื่อเหล่านี้ทั้งหมดในระดับเรือนล้านดอลลาร์

ถ้าผู้พิพากษาชุน ต้องการคดีตัวอย่างที่อาจถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับชี้นำการระวางโทษของเขาแล้ว คดีที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะใช้การได้มากมายเหลือเฟือ เหลียงเป็นตำรวจที่ไร้ประสบการณ์และได้รับการฝึกอบรมมาอย่างย่ำแย่ เขารู้สึกหวาดกลัวและปืนของเขาก็ลั่นออกไปโดยอุบัติเหตุ กระสุนที่พุ่งเข้าใส่เกอร์ลีย์เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการไตร่ตรองไว้ก่อนเลย การปฏิบัติไปตามหน้าที่นั้น ไม่เคยเลยที่จะถูกถือให้เป็นสาเหตุของการกระทำความผิดคดีทางอาญา --อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเช่นนี้เรื่อยมาในคดีของตำรวจที่บรรพบุรุษไม่ใช่ชาวเอเชีย ผู้พิพากษาชุนมีเหตุผลความชอบธรรมอย่างมากมายที่จะกำหนดระวางโทษภาคทัณฑ์ให้แก่เหลียง ทว่าเขาจะทำเช่นนั้นหรือ?

เป็นโชคร้ายสำหรับเหลียง พวกที่กำลังคอยฮึ่มฮั่มอยู่อีกข้างหนึ่งของตราชูแห่งความยุติธรรมในคดีนี้คือ ขบวนการ “ชีวิตคนดำมีความสำคัญ” (Black Lives Matter) นี่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวในระดับชาติซึ่งเกิดขึ้นมาจากการสั่งสมทับถมของเหตุการณ์ที่ตำรวจผิวขาวปฏิบัติอย่างเหี้ยมโหดเลวร้ายต่อบรรดาหนุ่มผิวดำ ความโกรธแค้นดังกล่าวนี้มีทิศทางพุ่งไปที่กองกำลังตำรวจผิวขาวของประเทศนี้

อย่างที่ แฟรงก์ วู (Frank Wu) อดีตคณบดีวิทยาลัยนิติศาสตร์แฮสติงส์ (Hastings Law School) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ชี้ให้เห็นในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลขนออนไลน์ “ฮัฟฟิงตัน โพสต์” (ดูรายละเอียได้ที่ http://www.huffingtonpost.com/frank-h-wu/peter-liang-an-asian-amer_b_9225996.html) ชาวเอเชียก็เช่นเดียวกับชาวละติโน และคนดำ ต่างอยู่ข้างเดียวกันเมื่อถูกแบ่งแยกเชื้อชาติผิวพันธุ์ ไม่ใช่อยู่ด้านตรงข้ามกันเลย ความยุติธรรมที่เรียกร้องกันอยู่ คือ คนขาว VS ชนกลุ่มน้อยผิวสีทั้งหมด ทว่าเหลียงโชคร้ายที่ต้องตกอยู่ในเหตุการณ์ซึ่งดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนอย่างมากมาย เพียงเพราะว่าเขามีเรื่องขึ้นมาในตอนที่กาต้มน้ำแห่งอารมณ์ กำลังอยู่ในอุณหภูมิเดือดพล่านอย่างเต็มที่

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

ดร. จอร์จ คู เพิ่งเกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media


กำลังโหลดความคิดเห็น