xs
xsm
sm
md
lg

แอปเปิลวันนี้ทำได้แค่ไล่ตาม!?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล
ตลอด 2 ชั่วโมงบนเวทีเปิดงานประชุมนักพัฒนาประจำปี Worldwide Developers Conference 2016 ที่จัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก แอปเปิล (Apple) ไม่เอ่ยถึงเทคโนโลยีเสมือนอย่าง VR หรือ AR ที่โลกกำลังให้ความสนใจวงกว้าง ขณะเดียวกัน ก็เปิดตัวหลายคุณสมบัติด้านคำสั่งเสียง และระบบปัญญาประดิษฐ์ที่คู่แข่งทำได้ไปแล้ว แถมยังแอบเดินตามแอปพลิเคชันแชตเอเชีย เรื่องการให้บริการภาพอีโมจิขนาดใหญ่บนระบบสนทนาบนไอโฟนด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้สะท้อนว่า แอปเปิล กำลังทำได้แค่วิ่งไล่ตามคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังแสดงว่า การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ของแอปเปิลทำได้ชักช้าเกินไป

***ช้ากว่าคู่แข่ง

หากมองในตลาดบริการที่กำลังเนื้อหอมฟุ้งอย่างเทคโนโลยี AI (artificial intelligence) VR (virtual reality) และระบบโต้ตอบคำสั่งเสียง งาน WWDC ปีนี้ทำให้แอปเปิลถูกตัดสินว่า ล้าหลังกว่าคู่แข่งอย่างอเมซอน (Amazon) กูเกิล (Google) และเฟซบุ๊ก (Facebook) แม้ว่าแอปเปิลจะส่งระบบสิริ (Siri) ออกมาปลุกกระแสผู้ช่วยส่วนตัวที่สั่งการได้ด้วยเสียงพูดคุยเป็นรายแรกๆ

เหตุผลสำคัญ คือ เพราะแอปเปิลเลือกทำให้ Siri มีความสามารถมากขึ้นเท่านั้น โดยข่าวใหญ่ของงาน WWDC 2016 คือ การที่แอปเปิลประกาศให้ Siri รองรับนักพัฒนารายอื่น หรือ third-party developer ทำให้แอปพลิเคชันอื่นอย่าง Uber และค่ายอื่นสามารถให้บริการผ่าน Siri ได้ รวมถึงการส่งข้อความผ่านบริการแดนมังกรอย่าง วีแชต (WeChat) เพียงผู้ใช้เอ่ยเสียงพูดออกมา

แม้ทุกคนจะยอมรับว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นก้าวที่สำคัญมากของแอปเปิลในการก้าวไปข้างหน้า พร้อม Siri เนื่องจากวิธีนี้จะดึงผู้คนให้มาใช้ระบบ AI ใน Siri มากขึ้นแน่นอน แต่ในทางทฤษฎี Siri สามารถทำงานได้ในทุกที่อยู่แล้ว ทั้งบนนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ บนอุปกรณ์เชื่อมต่อทีวี Apple TV และในรถยนต์ รวมถึงคอมพิวเตอร์แมคที่เพิ่งรองรับ Siri ในที่สุด

เมื่อรู้อยู่แล้ว นักวิเคราะห์จึงมองว่า แอปเปิลตัดสินใจช้าเกินไป พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมแอปเปิลไม่เปิดเสรี Siri เป็นแพลตฟอร์มเปิดให้เร็วกว่านี้ เพราะคู่แข่งอย่าง Google นั้นดำเนินการไปแล้ว เช่นเดียวกับที่ Amazon ส่งระบบอเล็กซา (Alexa) และไมโครซอฟท์ แจ้งเกิด Microsoft Cortana ถึงมือนักพัฒนาเรียบร้อย

ประเด็นนี้นักวิเคราะห์บอกว่า Siri นั้นมีอายุมากกว่า 5 ปีแล้ว แต่ยังต้องพยายามเรียนรู้วิธีทำงานร่วมกับระบบอื่นอีกมาก ทั้งหมดนี้จะทำได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ที่เป็นปัจจัยสำคัญให้ระบบดิจิตอลทำงานตามคำพูดของมนุษย์ได้โดยไม่ต้องใช้คีย์บอร์ด หรือเมาส์ ฉะนั้นการตัดสินใจเก็บ Siri ไว้นานกว่า 5 ปี อาจเกิดขึ้นบนความไม่พร้อมของระบบ AI ในแอปเปิลเอง ซึ่งความไม่พร้อมนี้ถือเป็นเรื่องเสียเปรียบ ทำให้บริษัทไอทีที่เป็นคู่แข่งของแอปเปิลสามารถออกสตาร์ทไปก่อนในเกมชิงเจ้าตลาดระบบ AI

หากแอปเปิลไม่สามารถคว้าชัยในศึกผู้ช่วยอัจฉริยะ หรือระบบสั่งการด้วยเสียง บัลลังก์ของแอปเปิลจะไม่ต่างกับก้อนหินในทะเลโคลนที่พร้อมจะจมหายไปในพริบตา เพราะผู้ใดที่สามารถเป็นเจ้าตลาดระบบผู้ช่วย AI ได้ ผู้นั้นจะมีโอกาสดึงผู้ใช้ให้ซื้อสินค้า และบริการบนแพลตฟอร์มนั้นได้มากขึ้น

หลังการเปิดไพ่ในมือแอปเปิลบนเวที WWDC ปีนี้ แอปเปิลถูกตราหน้าว่า ไล่ตามกูเกิลอย่างชัดเจน ซึ่งแม้จะมีการยกระดับนโยบาย แต่ทุกคนก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะไม่มีการประกาศเปิดตัวใดที่ยิ่งใหญ่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา แอปเปิลจะถูกมองว่าไม่มีทีมงานพัฒนาระบบ AI ที่แข็งแกร่งเท่ากูเกิล และอเมซอน แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า แอปเปิลรู้ดี และพยายามเร่งเครื่องตัวเองอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้เราไม่เห็นภาพคู่แข่งในตลาดแซงหน้าทิ้งห่างแอปเปิลอย่างไม่เห็นฝุ่นแน่นอน

จุดนี้เป็นเพราะ Siri ถูกเพิ่มบทบาทในหลายสินค้าของแอปเปิล ที่เห็นได้ชัด คือ การดึง Siri มาเติมสีสันให้ระบบปฏิบัติการ tvOS ทำให้ผู้ใช้สามารถเอ่ยปากเพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการชมได้สะดวกบนทีวี

***เปลี่ยนแนว Apple Watch?

ไม่เพียง tvOS แอปเปิลยังเปิดตัวระบบปฏิบัติการสำหรับนาฬิการุ่นใหม่ WatchOS 3 ในงาน WWDC 2016 ด้วยความสามารถที่ “เหมือนกับนาฬิกาไฮเทคทั่วไป” มากจนทำให้แอปเปิลถูกตราหน้าอีกครั้งว่า WatchOS เวอร์ชันแรกนั้นผิดพลาด ทำให้แอปเปิลพยายามเปลี่ยนแนวให้ Apple Watch กลับมามีจุดขายที่ไม่ต่างจากนาฬิการุ่นอื่นในตลาดยิ่งขึ้น

สื่ออเมริกันแดกดันแอปเปิล ว่า WatchOS 3 ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ใหม่ แต่เป็นการแก้ตัวครั้งใหม่กับสิ่งที่แอปเปิลทำพลาดไว้กับนาฬิกา Apple Watch เวอร์ชันแรก โดยเฉพาะการออกแบบใหม่ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานคุณสมบัติที่เป็นที่นิยมทั่วไป บนเหยื่อล่อเรื่องความลื่นไหลที่เพิ่มขึ้น เพราะการบริหารจัดการหน่วยความจำภายใน ทำให้แอปพลิเคชันต่างๆ ทำงานได้รวดเร็วขึ้นมากบน WatchOS 3 (แอปเปิลการันตีว่า เร็วขึ้น 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับ WatchOS 2 ที่แจ้งเกิดเมื่อปีที่แล้ว)

WatchOS 3 ถูกปรับปรุงให้แอปต่างๆ สามารถแชร์ข้อมูลสุขภาพกับนาฬิกาของเพื่อนๆ ได้ด้วย ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มฟีเจอร์ SOS เพื่อให้ผู้ใช้ขอความช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน โดยตัวนาฬิกาจะส่งข้อความไปยังหมายเลขที่ระบุเอาไว้ พร้อมแจ้งสถานที่ที่ผู้ใช้งานอยู่ และข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้มีการช่วยเหลือได้ทันท่วงที

นอกจาก WatchOS 3 แอปเปิลเปิดตัว MacOS Sierra ชื่อใหม่ของระบบปฏิบัติการ OS X ที่จะเป็นโอเอสรุ่นสุดท้ายที่ไม่รองรับ Siri สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ใช้สามารถเปิดโอกาสให้ Siri บนคอมพิวเตอร์แมคเปิดเพลงให้ฟัง เพื่อแจ้งข้อมูลว่าเครื่องเหลือพื้นที่เก็บข้อมูลเท่าไร รวมถึงช่วยสะกดคำ และค้นหาไฟล์ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามรอยเท้าคู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์ ที่มีระบบ Cortana คอยช่วยเหลือผู้ใช้พีซี Windows 10 แล้วในขณะนี้

*** เดินตามเอเชีย?

อีกแพลตฟอร์มที่ถูกแอปเปิลเปิดตัวในงานนี้ คือ IOS 10 ซึ่ง ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอแอปเปิล บอกว่าเป็น “ตัวแม่ของ iOS ทุกเวอร์ชัน” จุดเด่น คือ การออกแบบหน้าจอล็อกใหม่ และการนำระบบ 3D Touch มาปรับใช้ที่นวลเนียนยิ่งขึ้น

1 ในหลายความพิเศษของ iOS 10 คือ ระบบ Messages แอปพลิเคชัน Messages ฉบับปรับปรุงใหม่จะรองรับลิงก์วิดีโอความละเอียดสูง (rich media links) ให้ผู้ใช้ชมวิดีโอบนบรรทัดสนทนาได้เลย ขณะเดียวกัน ก็จะแสดงภาพอิโมจิที่ใหญ่ขึ้น และระบบเดาภาพอิโมจิ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่กูเกิลแจ้งเกิดแล้วในบริการ Gboard

การแสดงภาพอิโมจิที่ใหญ่ขึ้นนี้เองที่ผู้ใช้อาจได้รับความรู้สึกเหมือนบริการฮิตของคนไทยอย่างไลน์ (LINE) อิโมจิใหญ่มองแล้วไม่ต่างจากการ์ตูนสติกเกอร์ที่มีหลายคนปรามาสว่า ฝรั่งตะวันตกไม่ใช้สติกเกอร์คิขุแบบคนเอเชีย

ไม่แน่แอปเปิลอาจกำลังเอาใจคนเอเชียครั้งใหญ่ก็ได้ เพราะบนเวทีนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า แอปเปิล นำบริการจีนอย่างวีแชต (WeChat) มาสาธิตการใช้งาน Siri บนเวทีด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น