การโค้ดดิ้งหรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียน อาจจะเป็นสิ่งที่ไกลตัวมากกว่าการส่งเสริมให้เรียนภาษาต่างประเทศอย่างเช่น ภาษาจีนหรือญี่ปุ่น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการโค้ดดิ้งนั้นกลายเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันการโค้ดดิ้งได้กลายเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล และเป็นส่วนผลักดันที่ก่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ที่สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้สูงขึ้น
แต่ในปัจจุบันการเขียนโค้ดดิ้งดังกล่าว ยังไม่ได้รับความสนใจและไม่ได้ถูกใส่ในระบบการศึกษาของไทย ในขณะประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาไปมากแล้วได้เริ่มให้ความสำคัญกับการตื่นตัว และการสอนโค้ดดิ้งให้กับเยาวชนกันอย่างแพร่หลาย เพื่อรองรับกับการคาดการณ์ที่ว่าในปี 2563 สหภาพยุโรปอาจขาดแคลนแรงงานหรือบุคลากรทางด้านไอทีสูงถึง 900,000 คน หรือบุคลากรด้านวิทยาศาสตรคอมพิวเตอร์ที่อาจจะขาดแคลนสูงถึง 1 ล้านตำแหน่ง
ด้วยความสำคัญดังกล่าวนี่เองทำให้กลุ่มซีดีจีได้เริ่มโครงการ CDG : Code Their Dreams ขึ้นโดย 'นาถ ลิ่วเจริญ' ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทซีดีจี ได้ให้ความเห็นว่าโครงการนี้เกิดขึ้นมาเพราะมองเห็นว่า 'ภาษาคอมพิวเตอร์ที่ใช้เขียนโปรแกรมนี้ จะกลายเป็น ภาษาสากลแห่งอนาคต และคนที่สามารถเขียนโปรแกรมได้จะเป็นคนที่มีโอกาสมากกว่าในอนาคต'
CDG : Code Their Dreams นี้ ต้องการให้เยาวชนได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือการเขียนโค้ดดิ้ง เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและความสนใจที่จะฝึกฝนเพิ่มเติมทักษะความรู้ในระบบ ดิจิตอล และถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) เป็นCSRครบรอบ48 ปีของกลุ่มซีดีจี เพื่อให้เด็กสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งในปัจจุบันซีดีจีได้ดำเนินการในหลายโครงการ และมีการใช้งบประมาณสำหรับกิจกรรมเพื่อสังคมปีละกว่า 20 ล้านบาท
***กิจกรรมเน้นสนุกและเข้าใจง่าย
นาถ กล่าวว่า โครงการCDG : Code Their Dreamsจะเริ่มต้นที่เด็กประถมเพราะมองว่าการส่งเสริมทางด้านการศึกษานั้น จะต้องเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่วัยเริ่มเข้าเรียน เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะต่อยอดไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป และด้วยการเข้าถึงเด็กวัยนี้จึงต้องมีการจัดกิจกรรมที่สนุกและเข้าใจง่าย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจและทำให้เกิดความคุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรม
สำหรับการคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการนั้น ในระยะแรกจะเน้นในพื้นที่สำนักงานใหญ่ก่อน โดยสถานที่แรกคือโรงเรียนวัดคลองใหม่ และจะขยายออกไปอีกประมาณ 10 โรงเรียนในปีนี้ ซึ่งในระยะแรกนั้นการทำโครงการจะเน้นที่การเก็บข้อมูลเป็นหลัก เพราะถือเป็นโครงการแรกที่ทำขึ้นในเมืองไทย ต่างจากในต่างประเทศที่มีผู้ทำโครงการในลักษณะนี้กับเด็กประถมมาระยะหนึ่ง แล้ว และพบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
***หลักสูตรพัฒนาให้เหมาะกับเด็กไทย
สำหรับหลักสูตรที่นำมาสอนนั้น ได้มีการเลือกมาจากหลักสูตรต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก แล้วนำมาประยุกต์และพัฒนาให้เข้ากับความเป็นไทย โดยจะใช้บุคลากรของทางบริษัทเป็นผู้เข้ามาให้การอบรมและดำเนินกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมในโครงการ CDG : Code Their Dreams นั้น จะมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ที่ประกอบด้วยเพจในเฟซบุ๊ก ที่จะเป็นศูนย์รวมในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเรียนการสอน เรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อให้เยาวชน ครู และผู้ปกครองมีแหล่งข้อมูลสำหรับการฝึกฝนทักษะด้านการเขียนโค้ด
ส่วนกิจกรรมออฟไลน์นั้นจะเป็นกิจกรรมเวิร์กชอปที่จะส่งเสริมการเรียนรู้เรื่อง โค้ดดิ้ง โดยจะแบ่งเป็น 3 ฐานประกอบด้วย 1.กิจกรรม 'Scratch' เป็นเกมคอมพิวเตอร์ที่จำลองให้เห็นภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ ซึ่งเด็กจะได้มีความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานในการใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้น 2.กิจกรรม 'หอคอยแก้วน้ำ' ในฐานนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์ในการสื่อสารต่อมนุษย์ ด้วยการใช้หอคอยแก้วนน้ำเป็นรูปทรงต่างๆ โดยจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้จะสอนให้เยาวชนเข้าใจการอ่านและรับคำสั่งผ่านโค้ดแบบง่ายๆ นอกจากนี้ยังจะมีการทดลองแก้ปัญหาและก่อให้เกิดความสามัคคีจากการทำงานเป็นทีม
3.กิจกรรม 'วาดภาพตามสั่ง' ฐานนี้ผู้ร่วมกิจกรรมจะต้องวาดตามคำสั่งที่ได้ยิน โดยไม่สามารถถามคำถามใดๆ ได้ โดยจุดประสงค์ของเกมนี้คือการจำลองการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่จะทำงานได้ดี เมื่อได้รับโค้ดคำสั่งที่แม่นยำและได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งในฐานนี้ผู้ร่วมกิจกรรมจะเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์จากการสั่งงานและประมวล ผลตามคำสั่งโดยภาพรวมของกิจกรรมนั้นจะทำให้ เยาวชนมีความเข้าใจขั้นพื้นฐานของการทำงานของโค้ด ผ่านความสนุกสนานของกิจกรรม และทำให้เกิดความรู้สึกว่าโค้ดไม่ใช่เรื่องยาก
***การส่งเสริมโค้ดดิ้งทำคนเดียวไม่ได้
นาถ กล่าวว่า แม้โครงการ CDG : Code Their Dreams นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นสังคมให้มาตระหนักถึงความสำคัญของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือโค้ดดิ้งนั้น การจะทำเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถจะช่วยกระจายการรับรู้ในวงกว้างได้ จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรอื่นๆ ร่วมถึงหน่วยงานภาครัฐด้วย ซึ่งกลุ่มซีดีจีมีความยินดีที่จะเปิดรับพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริม และสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาบุคลากรด้านการเขียนโปรแกรมที่มีคุณภาพให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ตอบรับกับตลาดแรงงาน และส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ในส่วนของการฝึกฝนให้เยาวชนมีความรู้และฝึกฝนด้านการเขียนโค้ดดิ้งนั้น ยังจำเป็นต้องให้เด็กได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่นอกเหนือไปจากโครงการของซีดีจีแล้ว ตัวผู้ปกครองและครู ต้องให้ความร่วมมือในการแนะนำ ช่วยเหลือและ ผลักดันในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งโรงเรียนต่อไปที่กลุ่มซีดีจีจะเข้าไปดำเนินโครงการนั้นจะเน้นที่ใกล้สำนักงานใหญ่เพื่อความสะดวกในการเข้าถึง และจะเลือกโรงเรียนเทศบาล และรัฐที่ขาดแคลนก่อน แต่ที่สำคัญ การจะเข้าหาโรงเรียนใดนั้น ทางโรงเรียนต้องมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้วย
'ในปัจจุบันการเรียนการสอนด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเมืองไทยนั้น ยังจำกัดอยู่แค่ในระดับอุดมศึกษาทำให้ไม่สามารถผลิตบุคลากรได้เพียงพอ ต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นการเริ่มต้นฝึกฝนให้เยาวชนรู้จักการเขียนโค้ดดิ้งตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อก่อให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญทางด้านการเขียนโค้ดดิ้งนั้น ในอนาคตจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้อย่างหลากหลาย และสามารถผลักดันให้เมืองไทยก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์แบบ'