ชอปปิ้งออนไลน์ในเมืองไทยช่วง 2-3 ปีที่่ผ่านมาอาจจะเป็นแค่เพียงการทดลองตลาด เพราะด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้ก้าวไปไหน ประกอบกับความมั่นใจในการซื้อขายผ่านช่องทางนี้ยังค่อนข้างน้อย ทำให้ชอปปิ้งออนไลน์ยังค่อยๆ เดินแบบระมัดระวัง
แต่สำหรับในปี 2016 นี้ ผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ เริ่มหันมาจริงจังต่อการทำตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลอจิสติกส์ รวมไปถึงการพัฒนช่องทางการชำระเงิน ในขณะที่องค์ประกอบสำคัญอย่างเครือข่ายโทรคมนาคมเรียกได้ว่ามีความพร้อมเต็มที่ โดยเฉพาะการมาของ 4G ถือเป็นแรงสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบนโลกออนไลน์สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะในปัจจุบันพบว่า ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ประเมินว่า แนวโน้มมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2558 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 2,107,692.88 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B จำนวน 1,230,160.23 ล้านบาท (58.32%) มูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2C จำนวน 474,648.91 ล้านบาท (22.57%) และมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2G จำนวน 402,883.74 ล้านบาท (19.11%)
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการคาดว่ามูลค่าในปี 2558 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร 658,909.76 ล้านบาท (38.4%) หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 350,286.83 ล้านบาท (20.4%) หมวดอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง 325,077.48 ล้านบาท (19.0%) ส่วนมูลค่าการขายจากผู้ประกอบการ B2C ในปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 คิดเป็น 15.29% และมูลค่าการขายจากผู้ประกอบการ B2G ในปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 คิดเป็น 3.96% มีเพียงมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B ในปี 2558 ที่หดตัวลงจาก ปี 2557 เพียงเล็กน้อย คิดเป็น 0.34% ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองโดยมีผู้สนใจลงทุนค้าขายรวมถึงใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นในด้านการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ รวมไปถึงการที่นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ในอนาคตธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงมีแนวโน้มเติบโตไปได้อย่างมากขึ้น รวมไปถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต จะเป็นส่วนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศที่จะเข้าสู่การค้าขายแบบออนไลน์ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้มีช่องทางเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย ทุกที่ทุกเวลา
***พร้อมทำตลาดเต็มรูปแบบเอาใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
ลาซาด้า ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่เตรียมที่จะลงทุนในด้านต่างๆ เพิ่มเติม โดย อเล็กแซนดรอ บิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัทลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า ลาซาด้าพร้อมลงทุนในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากลงทุนในคลังสินค้า ทั้งการจัดการสต๊อกให้มีระบบที่มีการกระจายออกไปยังศูนย์ต่างๆ ให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีควบคู่กันไปด้วย และเพิ่มพื้นที่คลังสินค้าเป็น17,000 ตารางเมตร พร้อมเพิ่มพาร์ตเนอร์ 1 ราย เป็น 8 รายในปีนี้
ปัจจุบัน ตลาดมีการแข่งขันกันสูงมาก เพราะคนต้องการสินค้าราคาถูก สะดวกสบาย จึงเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้ามาเลือกซื้อ ซึ่งในปีนี้จะมี 3 ความท้าทายใหม่ และเป็นการเริ่มต้นของอีคอมเมิร์ซที่เต็มรูปแบบอย่างแท้จริง ประกอบไปด้วย 1.Payment หรือระบบการชำระเงิน 2.Logistic การขนส่งสินค้า และ 3.ความเข้าใจในการซื้อของออนไลน์ ของผู้ซื้อ-ผู้ขาย ซึ่งตลาดของอีคอมเมิร์ซในปีนี้จะมีผู้เล่นเป็นจำนวนมาก คาดว่าอีคอมเมิร์ซในไทยจะโต 30-40% แต่ลาซาด้าคาดว่าจะเติบโตมากกว่าตลาด
“อีคอมเมิร์ซไทยกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบ ทำให้ผู้เล่นบางรายในตลาดอาจจะต้องตายไป แต่การลงทุนในตลาดอีคอมเมิร์ซนั้นจะทำให้ตลาดแข็งแกร่งมากขึ้น โดยการซื้อขายออนไลน์แบบ B2C ถือว่าเป็นการตอบโจทย์มากที่สุด และเป็นทิศทางของตลาดในอนาคต เพราะขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นโลคอลแบรนด์ หรืออินเตอร์แบรนด์ก็เข้ามาเล่นตลาดนี้”
อเล็กแซนดรอ กล่าวว่า ในปีนี้ลาซาด้ามีเป้าหมายที่จะเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างขึ้น เน้นลูกค้าที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และจะเพิ่มประสบการณ์แก่ผู้บริโภคผ่านทางโมบายแอป และเปิดโอกาสให้ผู้ขายให้สามารถลิสต์ผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มของลาซาด้าเจาะตลาดในต่างจังหวัด โดยจะส่งคนเข้าไปดูแลตามตลาดต่างๆ มากขึ้น เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลเเรื่องผู้ขายหน้าใหม่ภายใน 60 วันตั้งแต่เริ่มนำสินค้าเข้ามาขาย
ในส่วนของผู้ซื้อนั้นจะช่วยให้สินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น เข้ามาซื้อของได้มากขึ้น และนำสินค้าที่มีขายในกรุงเทพฯ กระจายไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีขายเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้อย่างง่ายดาย ลาซาด้ามีความแข็งแกร่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ความงาม ไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์แฟชั่น ความงามขายดีมากในตลาดไทยเมื่อเทียบกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมียอดการสั่งซื้อสูงในหมวดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า เครื่องสำอาง นาฬิกา เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีลาซาด้า มาร์เก็ตเพลส เป็นแพลตฟอร์มการขายสินค้าออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดย่อม และขนาดกลางได้มีหน้าร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยลาซาด้าทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแก่ผู้ค้าชาวไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การรับรายการสั่งซื้อสินค้าไปจนถึงการจัดส่งถึงหน้าประตูผู้บริโภค รวมไปถึงการเข้าถึงศูนย์ข้อมูลของลาซาด้าโดยตรง เจ้าของธุรกิจจึงสามารถดูการวิเคราะห์โครงสร้างทางธุรกิจ และรายงานผลประกอบการเพื่อนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบัน ลาซาด้ามีผู้ค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มกว่า 8,400 ราย และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น ลาซาด้าจึงได้ทำการสรรหาสินค้าที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นให้แก่ผู้บริโภค การขยายโครงสร้างทางลอจิสติกส์ รวมไปถึงการเปิดให้บริการชำระเงินรูปแบบใหม่ เพื่อมอบประสบการณ์ชอปปิ้งออนไลน์ที่ดียิ่งขึ้น โดยล่าสุด ได้เปิดบริการชำระเงินออนไลน์ helloPay ที่ช่วยให้การชอปปิ้งออนไลน์ง่ายขึ้นตอบโจทย์การใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน 4G
รวมทั้งบริการสำคัญอย่าง Fulfilment Center สำหรับผู้ค้าออนไลน์ โดยลาซาด้าจะทำหน้าที่เป็นคลังเก็บสินค้า ให้บริการแพก และจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค เพื่อลดเวลาในการดำเนินการของผู้ค้าชาวไทย รวมไปถึงการนำฟีเจอร์ Shop in Shop มาใส่ไว้ในแอปพลิเคชันของลาซาด้า เพื่อให้แบรนด์สินค้าสามารถเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
“ยอดขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน คิดเป็น 60% ของยอดขายทั้งหมดในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่การชอปปิ้งออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น และมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลาซาด้าผ่านแอนดรอยด์ หรือไอโอเอส กว่า 30 ล้านครั้ง ซึ่งลาซาด้าได้เตรียมเปิดหน่วยธุรกิจ LHQ เป็นหน่วยธุรกิจใหม่ที่จะเน้นการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชันขึ้นมาโดยเฉพาะในช่วงกลางปีนี้”
**ผู้เล่นในตลาดมาก ทางเลือกมาก ยิ่งชอปสนุก
ด้าน สืบสกล สกลสัตยาทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวถึงเทรนด์อีคอมเมิร์ซ และพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนสูงขึ้นกว่า 56% สะท้อนถึงตัวเลขของตลาดอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับเมืองไทยยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกมาก แม้จะมีผู้ประกอบการหลายราย และมีผู้เล่นจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย จะส่งผลให้ตลาดอีมาร์เกตเพลสของไทยมีความคึกคัก มีการแข่งขันด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม การสร้างฟีเจอร์ สร้างประสบการณ์ให้โดนใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น
โดยการทำตลาดของ iTruemart.com และ WeLoveShopping ที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดย iTruemart.com มียอดออเดอร์เพิ่มขึ้นมากถึง 700 % ตั้งแต่เปิดตัวมา และได้ขยายธุรกิจเปิดให้บริการในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปลายปี 2558 ขณะเดียวกัน WeLoveShopping มียอดออเดอร์เติบโตเกือบ 200 %ในไตรมาสสุดท้าย
ปัจจุบัน WeloveShopping มีจำนวนร้านค้ามากถึง 350,000 ร้านค้า ครอบคลุมการให้บริการ 77 จังหวัดทั่วประเทศ และเตรียมลงทุนเพิ่มอีก 900 ล้านบาท สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพแพลตฟอร์ม ฟีเจอร์ และฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ขาย และผู้ซื้อออนไลน์ เสริมด้วยทีมงานให้คำปรึกษาการสร้างระบบนิเวศการขายออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ร้านค้าและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อมากยิ่งขึ้น
นอกจากจะโฟกัสในเรื่องการพัฒนาระบบ และสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ แล้ว ยังคงมุ่งเน้นในเรื่องการซื้อขายในรูปแบบของ C2C โดยทุ่มงบลงทุนสูงถึง 900 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาแพลตฟอร์ม 2.ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน 3.การสื่อสารทางการตลาด 4.การขยายความร่วมมือกับพันธมิตร และ 5.เพิ่มและพัฒนาบุคลากร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ร้านค้า เพราะความสามารถในการแข่งขันธุรกิจอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีความเข้าใจระบบ
สำหรับการทำตลาดในปีนี้นั้น WeLoveShopping จะจัด Road Show ไปตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาคเพื่อจัดกิจกรรมตลาดนัดออนไลน์ โดยเชิญชวนร้านค้ารายย่อย และออนไลน์ในจังหวัดนั้นมาออกบูท โดยมองว่าปัจจุบันนี้การทำธุรกิจจะต้องเชื่อมโยงกันทั้งออฟไลน์ และออนไลน์
นอกจากนี้ WeLoveShopping จะพัฒนาแพลตฟอร์มร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เริ่มต้นการซื้อขายจนถึงการขนส่งสินค้าไปยังผู้ซื้อ โดยผู้ใช้บริการจะสามารถฝากสินค้าในคลัง Aden Fulfillment ที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บ การแพกสินค้า และการส่งสินค้า เพื่อประหยัดเวลาและลดต้นทุน โดยจะเลือกการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง และแบบผ่อนชำระ 0% ผ่านระบบ TrueMoney
ปัจจุบัน WeLoveShopping มียอดการสั่งซื้อสินค้าเฉลี่ย 7,000 รายการต่อวัน หมวดสินค้าที่มีการซื้อขายมากที่สุด 5 อันดับในปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1.Gadget & Electronic 2.Beauty 3.Fashion 4.Mom & Kids และ 5.Life Style ซึ่ง 60% ของลูกค้า WeLoveShopping เป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางมือถือ
สำหรับแนวทางที่จะสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยหลักๆ คือ 1.การพัฒนาระบบการซื้อขายออนไลน์ให้ลูกค้าเชื่อใจ เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง 2.ระบบการขนส่งที่รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งๆ ขึ้น ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายภายในวันเดียวกันหรือวันรุ่งขึ้น 3.แนวทาง creative ในการจัดโปรโมชันพิเศษให้แบรนด์ และผู้ประกอบการเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาดูสินค้าและต่อยอดการขายให้แก่ร้านค้าต่อไปอีกด้วย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้ตรงต่อความต้องการของลูกค้า
การแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซในส่วนของชอปปิ้งออนไลน์ในปีนี้น่าจะมีความสนุก และดุเดือดไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ เลยทีเดียว เพราะแต่ละรายต่างมีความพร้อมทั้งทางด้านการลงทุน กลยุทธ์การตลาด และจริงจังอย่างเต็มที่ในการเจาะถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุด แต่สำหรับใครจะอยู่หรือจะไปนั้นในนาทีนี้คงยังตอบไม่ได้ เพราะต้องให้ผู้บริโภคเป็นคนเลือกเอง และสุดท้ายผู้ให้บริการที่สตรองที่สุดจะเป็นผู้ที่สามารถยืนอยู่บนตลาดที่มีการแข่งขัน และมีกำลังซื้อสูงได้อย่างยืนยาว