xs
xsm
sm
md
lg

“นที” แนะทีวีดิจิตอลต้องสู้ด้วยคอนเทนต์ ใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างฐานผู้ชม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสทช. ระบุแนวโน้มการแข่งขันทีวีดิจิตอลยังหนักคาดเม็ดเงินโฆษณายังกระจุกตัวใน 5 ช่องที่มีเรตติ้งสูง แนะผู้ประกอบการปรับตัวกำหนดจุดยืนสถานี หาคอนเทนต์ที่ตรงต่อกลุ่มเป้าหมายตัวเอง ใช้เทคโนโลยีเข้าสร้างฐานผู้ชม

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวบรรยายเรื่องทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย 2559 ว่า ตัวเลขสัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ต่อนาทีทุกช่องทางระหว่างช่องรายการเดิมกับช่องรายการใหม่ มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 62% : 38% จากเดิมในปี 2557 มีสัดส่วนอยู่ที่ 82% : 18% สะท้อนว่าผู้ชมสนใจชมทีวีดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ประกอบการหลายช่องได้มีการปรับตัวหาจุดแข็งให้แก่ช่องตัวเอง โดยให้ความสำคัญต่อคุณภาพเนื้อหา มีการลงทุนในการผลิต และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต และสร้างฐานลูกค้าของตนเอง

สำหรับทิศทางการแข่งขันในปี 2559 จะเห็นการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยช่องที่มีส่วนแบ่งตลาดในอันดับต้นจะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อรักษากลุ่มผู้ชมในระยะยาว นอกจากนี้ จะมีการสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อเจาะตลาด โดยเน้นกลุ่มผู้ชมคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปิดรับ และจดจำช่องใหม่ ส่วนการคืนทุนที่เคยมีการคาดการณ์ว่าจะคืนทุนในระยะเวลา 5 ปีขึ้นไป ในสถานการณ์ปัจจุบันความยากในการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกรายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สุดท้ายแล้ว เนื้อหารายการจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้

“ทิศทางในปี 2559 ผู้ประกอบการจะเพิ่มการลงทุนด้านเนื้อหารายการ และการประชาสัมพันธ์ รายใหญ่คงปรับกลยุทธ์เพื่อชิงเม็ดเงินโฆษณา โดยเม็ดเงินโฆษณาน่าจะกระจุกตัวอยู่กับช่องที่ครองเรตติ้ง 5 อันดับแรก คือ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่องเวิร์คพ้อยท์ ช่อง 8 และช่องโมโน ส่วนที่เหลือจะกระจายตัวไปตามช่องที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เชื่อว่าหลายช่องจะยังสู้ต่อไปโดยต้องวางแผนรับมือต่อสถานการณ์ ส่วนผลกำไรเป็นที่ทราบกันดีว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป กสทช.คงจะช่วยหาทางเยียวยาเพื่อรองรับแรงกดดันสำหรับผู้ประกอบการที่ยังอ่อนแอ แต่ต้องไม่กระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐ”

พ.อ.นที กล่าวต่อว่า สำหรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการต้องวางตำแหน่ง และทิศทางของช่องให้ชัดเจน ปรับผังรายการเพิ่มสัดส่วนรายการที่เป็นที่นิยม พัฒนา และนำเสนอเนื้อหาใหม่ด้วยการผลิต และคัดสรรเนื้อหารายการที่ดีมีคุณภาพ รวมกลุ่มพันธมิตรในการผลิต และซื้อเนื้อหา ส่วนรายใหม่ที่ยังอ่อนแอต้องรีบหาแนวทางที่ชัดเจน โดยหากลุ่มผู้ชมเฉพาะสำหรับช่องตัวเองเพื่อสร้างฐานผู้ชม ใช้กลยุทธ์ในการทำให้เกิดช่องทางธุรกิจต่อยอดจากเดิมในรูปแบบการรับชมหลายหน้าจอ ใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างการมีส่วนร่วม ผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจ ผลิตและเผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ กสทช.ได้รายงานข้อมูลอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลว่า ทีวีดิจิตอลได้ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณามีความเปลี่ยนแปลง โดยเม็ดเงินโฆษณากระจายสู่ช่องดิจิตอล จากที่กระจุกตัวอยู่ใน 6 ช่องหลักเดิม คือ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 และ ไทยพีบีเอส โดยในปี 2558 มูลค่าโฆษณาในทีวีดิจิตอลมีอัตราเติบโต 144% คิดเป็นเม็ดเงิน 20,930 ล้านบาท เม็ดเงินโฆษณาใน 6 ช่องเดิมลดลงจาก 63,776 ล้านบาท เหลือ 57,526 ล้านบาท ภาพรวมการลงโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลเพิ่มสูงขึ้นจาก 72,360 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 78,456 ล้านบาทในปี 2558 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 8.43% ขณะที่โทรทัศน์ที่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ในตัวมียอดจำหน่าย 4.4 ล้านเครื่อง กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลมียอดจำหน่าย 8.7 ล้านกล่อง อุปกรณ์ที่สามารถรองรับสัญญาณทีวีดิจิตอล เช่น แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนมียอดจำหน่าย 1.4 ล้านเครื่อง ทำให้มีช่องทางในการเข้าถึงทีวีดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น