xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาล Hollywood จำใจจ่ายค่าไถ่ข้อมูล 1.7 หมื่นดอลล์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โรงพยาบาล Hollywood Presbyterian ในปี 2004 ภาพจาก Los Angeles Times
เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ ที่บุคลากรของโรงพยาบาลในฮอลลีวูดต้องจำใจใช้ระบบ “ปากกา-กระดาษ” เพราะระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลถูกเจาะระบบ และปิดกั้นไม่ให้ใช้งาน โดยนักเจาะระบบเรียกเงินค่าไถ่ไฟล์ข้อมูล และระบบคอมพิวเตอร์เหล่านี้เป็นเงินดิจิตอลมูลค่า 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เบื้องต้น โรงพยาบาลยอมจ่าย 1.7 หมื่นเหรียญ เพื่อแลกต่อการได้ใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ตามปกติอีกครั้ง

เหตุเรียกค่าไถ่ข้อมูล และระบบคอมพิวเตอร์นี้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาล Hollywood Presbyterian Medical Center ซึ่งตกเป็นเหยื่อของซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า ransomware ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ล่าสุด รายงานจากรอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่า โรงพยาบาลได้ชำระค่าไถ่ในเบื้องต้นเป็นเงินบิตคอยน์มูลค่า 17,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.4 แสนบาท เพื่อให้นักเจาะระบบโจรร้ายยอมถอดซอฟต์แวร์ปิดกั้นจนระบบกลับมาทำงานปกติ

ในแถลงการณ์ โรงพยาบาลระบุว่า การจ่ายเงินเป็น “หนทางที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด” เพื่อแก้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สถานการณ์ที่ว่านี้คือ แฮกเกอร์ได้ส่ง “ไวรัส” เข้ามาบล็อกไฟล์บันทึกทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงผลการตรวจ ทดสอบ ระบบลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ รวมถึงระบบอีเมล รายงานระบุว่า โรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้ปากกา กระดาษ และเครื่องโทรสาร หรือแฟกซ์ รวมถึงระบบบันทึกข้อมูลแบบเก่าในระหว่างที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการอ่านค่าผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ รวมถึงการรับส่งข้อมูลจากเครื่องเอกซเรย์ และซีทีสแกน ทั้งหมดนี้ล้วนหยุดชะงักในช่วงก่อนหน้านี้

รายงานระบุว่า นักเจาะระบบส่งสารขอเรียกค่าไถ่ระบบทั้งหมดเป็นมูลค่า 9,000 บิตคอยน์ หรือคิดเป็นเงิน 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 131 ล้านบาท) จึงจะยอมมอบรหัสเพื่อกู้ระบบงานทั้งหมดให้ทำงานได้ตามเดิม แต่คาดว่ามีการเจรจากันจนทำให้มูลค่าเงินที่โรงพยาบาลตัดสินใจจ่ายนั้นมีมูลค่าลดลง

แม้จะยืนยันว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยจะไม่มีการประนีประนอมเช่นนี้ แต่อัลเลน สเตฟาเนก (Allen Stefanek) ซีอีโอโรงพยาบาล Hollywood Presbyterian ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวเอ็นบีซี (NBC) โดยยอมรับว่า ผู้ป่วยของโรงพยาบาลคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการตกเป็นเหยื่อแฮกครั้งนี้ ผู้ป่วยหลายรายตัดสินใจเดินทางมาที่โรงพยาบาลเพื่อรับผลทดสอบทางการแพทย์ด้วยตัวเอง ขณะที่ผู้ป่วยฉุกเฉินบางส่วนถูกโอนย้ายไปโรงพยาบาลใกล้เคียง และบางส่วนไม่ได้รับการรักษา

ทั้งหมดนี้ ซีอีโอเชื่อว่า โรงพยาบาลตกเป็นเหยื่อการสุ่มโจมตี แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจะชี้ว่า ทิศทางการโจมตีช่วงปี 2015 เป็นต้นไปของนักแฮกตัวร้ายจะมุ่งที่สถาบันขนาดใหญ่ และองค์กรธุรกิจที่บาดหมางกัน ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรต้องระมัดระวังตัวเองไม่ให้มีภาพลักษณ์ต่อต้านกลุ่มแฮกขาใหญ่ เพราะกังวลว่าจะทำให้ตัวเองตกเป็นเป้าหมายรายต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น