xs
xsm
sm
md
lg

เลขาธิการ กช. เตรียมขันนอต ร.ร.เอกชนเน้นภาษาที่สอง หลังพบมีค่ำเฉลี่ยต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพิ่มความเข้ม ร.ร.เอกชน จัดหลักสูตรครู นร.เก่งภาษาอังกฤษ-มลายู หลังพบภาษาทางการยังอ่อนในอาเซียน

วันนี้ (2 มี.ค.) นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดสตูล ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล และผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสตูล ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU ตามโครงการอบรมผู้สอนภาษาอาหรับ และภาษามลายู ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ขึ้นที่ห้องประชุมวิทยาลัยชุมชนสตูล อ.เมือง จ.สตูล พร้อมทั้งเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมผู้สอนภาษาอาหรับ และภาษามลายู ตามโครงการอบรมผู้สอนภาษาอาหรับ และภาษามลายู ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)
 

 
โดย นายดาลัน นุงอาหลี ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชน จังหวัดสตูล กล่าวว่า การพัฒนาจัดการเรียนการสอนของศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จนมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (I-NET) ระดับอิสลามศึกษาตอนต้นที่สูงขึ้น และบาสาระวิชาสูงกว่าระดับประเทศ แต่ก็ยังไม่พบว่ากลุ่มสาระภาษาอาหรับ และภาษามลายูนั้นมีผลการทดสอบที่ค่อนข้างต่ำ จึงได้จัดทำโครงการอบรมผู้สอนภาษาอาหรับ และภาษามลายู ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) เพื่อพัฒนาผู้สอนภาษาอาหรับ และภาษามลายูของศูนย์การศึกษาอสิลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ที่มีผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา (I-NET) ระดับอิสลามศึกษาตอนต้นที่มีค่ำเฉลี่ยต่ำ จึงจัดให้มีกิจกรรม 4 ด้าน คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรภาษาอาหรับ และภาษามลายู โดยผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรภาษา เพื่อทำร่างหลักสูตร กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมผู้สอนภาษา พร้อมอบรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงระเบียบปฏิบัติในการเข้ารับการอบรม จำนวน 240 คน และจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

นายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวถึงสถานการณ์เตรียมความพร้อมหลังเข้าสู่อาเซียน ในส่วนของโรงเรียนเอกชนในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ได้วางแผนดำเนินการมาหลายปี โดยเฉพาะการสร้างจิตใจคนในชุมชนให้เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน การเข้าใจในวัฒนธรรมพื้นที่ของกันและกัน สำหรับโรงเรียนเอกชนในแต่ละแห่งจะมีการสอนหลักสูตรอาเซียนศึกษา การจัดมุมอาเซียน นอกเหนือจากการติดธงชาติประเทศต่างๆ นักเรียนจะต้องฝึกในเรื่องของภาษี อาหาร โดยเฉพาะกฎหมายซึ่งจะเป็นบ่งบอกถึงความเป็นอยู่ของชาวอาเซียนได้เป็นอย่างดี การแลกเปลี่ยนกระการเรียนการสอน ครู นักเรียน หลักสูตรการเรียนการสอนระหว่างประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว พม่า กัมพูชา
 

 
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวด้วยว่า การมีองค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษา หรือที่เรียกว่า ซีมีโอ ซึ่งเป็นเชื่อมโยงด้านการศึกษาระหว่างประเทศในอาเซียน โดยมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยที่สำคัญประธานใหญ่ใน 2 ปี นี้ รมต.กระทรวงศึกษาจะเป็นคนขับเคลื่อน การทำงานให้ไหลลื่นในนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาที่จะทำให้ง่ายยิ่งขึ้นในทุกๆ ด้าน เช่น การค้าขาย การให้บริการ รวมทั้งการศึกษา

สำหรับจุดอ่อนของโรงเรียนเอกชนในบ้านเรา และหลายประเทศต้องยอมรับว่าในส่วนของภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษทางการ ภาษาในที่ทำงานประสิทธิภาพครู และนักเรียนยังด้อยอยู่ ต้องมีการเพิ่มของภาษาให้มากขึ้นกว่านี้ ส่วนภาษามลายูโดยพื้นฐานโรงเรียนเอกชนภาคใต้มีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ต้องปรับให้เป็นมลายูกลาง จะเป็นบาฮาซานมาเลเซีย หรือบาฮาซานอินโดนีเซีย ก็ใช้ได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรในอาเซียนใช้ภาษามลายูกลางไม่น้อยกว่า 300 ล้านคน ซึ่งมีความสำคัญมากที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยต้องให้ความสำคัญ และสนใจในการเสริมความเข้มแข็งให้มากขึ้น แต่ศักยภาพที่เป็นจุดเด่นของโรงเรียนเอกชนในไทย คือ ความมีน้ำใจ อาหารการกิน การต้อนรับ การบริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศในอาเซียนต้องการนำจุดแข็งตรงนี้ไปเสริมคนในประเทศของเขา

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวทิ้งท้ายว่า พร้อมฝากไปยังโรงเรียนเอกชนทุกแห่งในด้านคุณภาพด้านการศึกษาให้มีการเอาใจใส่ให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องตระหนักในเรื่องของพิษภัยของปัญหายาเสพติด อบายมุข หรือสิ่งล่อลวงทั้งหลายที่มีอยู่ในสังคมที่จะทำให้การศึกษาของเราด้อยลงไป นอกจากนี้ จิตอาสาก็เป็นส่วนสำคัญ และที่สำคัญมากๆ คือ พหุวัฒนธรรมสำคัญมากๆ ชายแดนใต้ต้องตระหนักในการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพุทธ หรือมุสลิม สูง ต่ำ ดำ หรือขาว เราคือคนร่วมโลกที่อัลเลาะห์ หรือพระเจ้าสร้างให้อยู่ร่วมกันโดยแท้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น