ในขณะที่ความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจมักจะกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับระบบไอที จนลืมมองไปว่าในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่สำคัญไม่ใช่เพียงการคำนึงเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น เพราะแม้ว่าอาชญากรไซเบอร์จะมีวิวัฒนาการที่หลากหลายมากขึ้นในการขโมยข้อมูล และเข้าถึงได้หลากหลายรูปแบบ แต่การระวังอยู่กับสิ่งนี้เพียงอย่างเดียว ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบรับกับการแข่งขันที่รุนแรงในปีนี้
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิสโก้ ในประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิตอลหรือ Digitization ที่ประกอบไปด้วยโมบิลิตี้ คลาวด์ อินเทอร์เน็ตออฟเอเวอรี่ธิงค์ (IoE) บิ๊กดาต้า และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้องค์กรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อให้ตอบรับกับความเปลี่ยน แปลงทางด้านดิจิตอล ที่จะทำให้เส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มลดลง และตลาดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
โดยจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เนื่องจากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างและช่วยเพิ่มมูลค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะกลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญและเป็นภารกิจสูงสุดสำหรับองค์กร เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มจากโอกาสดังกล่าว
***IoE แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยน
ซิสโก้มองว่าในปีนี้องค์กรต่างๆ จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับ 'พายุหมุนดิจิตอล' หรือ 'Digital Vortex' ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมต่างๆ มุ่งไปสู่ศูนย์กลางดิจิตอล ทั้งรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ บริการ รวมไปถึงมูลค่าจะถูกแปลงเป็นรูปแบบดิจิตอลทั้งหมดและจะทำให้ IoE และ Digitization เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากจะมีการพัฒนาอุปกรณ์ที่รองรับ IP มากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของบริการบรอดแบนด์ทั่วโลก
IoE และ Digitization จะทำให้อินเทอร์เน็ตรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิตอล รวมถึงการใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยการเชื่อมต่อ IoE ทั้งหมดจะแตะระดับ 50 พันล้านสิ่งภายในปี 2563 ขณะที่การ์ทเนอร์ประเมินว่า อุปกรณ์เชื่อมต่อราว 1.6 พันล้านชิ้นจะถูกใช้งานโดยเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ภายในปี 2559รวมไปถึงการมาของ IPv6จะส่งผลให้ทุกแง่มุมของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป และในปีนี้บริษัทต่างๆ จะปรับใช้ IOE และปรับเปลี่ยนสู่ดิจิตอลเพิ่มมากขึ้นบนทุกอุปกรณ์และทุกแพลตฟอร์ม
สำหรับการมาของ 4G นอกจากจะทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นในประเทศ ไทยแล้ว จะส่งผลให้เกิดความแพร่หลายในการใช้งานโมบิลิตีในสถานที่ทำงาน มีการคาดการณ์กันว่า ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนในไทยจะเพิ่มเป็น 50 ล้านคนภายในปี 2560 นี่คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับประเทศในทุกๆ ภาคส่วน และจะช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านบริการสำหรับประชาชน ประสิทธิภาพของพนักงาน ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านธุรกิจ รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สู่ยุคดิจิตอล โดยอาศัยโมบายล์บรอดแบนด์
การปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ และบิ๊กดาต้า ในปีนี้จะพบเห็นผู้ให้บริการคลาวด์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เพิ่มมากขึ้นในเมืองไทย ซึ่งจะช่วยให้องค์กรและบริษัทต่างๆ ในไทยเริ่มต้นใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ บนบริการคลาวด์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่บางองค์กรจะเริ่มปรับใช้ระบบคลาวด์ภายในองค์กร ตามมาด้วยระบบไฮบริดคลาวด์ และการผสานรวมระบบคลาวด์รูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ระบบคลาวด์และอุปกรณ์ต่างๆ จะขับเคลื่อนคลื่นลูกใหม่ของบิ๊ก ดาต้า ซิสโก้เชื่อว่าจะมีการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์และบิ๊กดาต้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทยในช่วงหลายปีนับจากนี้
*** ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบป้องกัน
ทั้งนี้นโยบายด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม ยังเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพื่อรับมือกับปัญหาด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพราะพบว่าที่ผ่านมาองค์กรส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับปัญหา โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA พบว่าคนไทย 48% เสี่ยงต่อปัญหาด้านความปลอดภัยบนระบบออนไลน์ ส่วนไอดีซีก็ระบุว่า ในปี 2560 คนไทยราว 50 ล้านคนจะมีสมาร์ทโฟน ในจำนวนนี้ประมาณ 4 ล้านเครื่องจะถูกใช้งานในองค์กรหรือบริษัท ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี
เช่นเดียวกับพี ดับบลิว ซี คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) ที่เปิดเผยว่าเมื่อปัญหาด้านความปลอดภัยสารสนเทศ ในช่วงปีนี้ เพิ่มขึ้น 38% และการลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ถึงแม้ว่าการลงทุนด้านความปลอดภัยจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจจำนวนมากในแต่ละปี
ด้าน อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดลล์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และผู้จัดการทั่วไปภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า ในปี 2559 สิ่งที่ภาคธุรกิจควรให้ความสนใจในลำดับต้น คือเรื่องของซีเคียวริตี้ หรือการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะซีเคียวริตี้ภายในองค์กร เนื่องจากกระแสการเกิดขึ้นของ IoT รวมถึงบิ๊กดาต้า ทำให้การจารกรรมข้อมูลมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นมาก
ดังนั้น ความแข็งแกร่งของระบบคือสิ่งสำคัญในลำดับต้นๆ ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ เพื่อพิจารณาหาโซลูชันด้านการรักษาความปลอดภัยที่สามารถให้การดูแล ตรวจจับ และปกป้องภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ได้ในแบบเรียลไทม์ จากรายงานของไอดีซีระบุว่า ภายในปี 2560 ฝ่ายไอทีในองค์กรมากกว่า 30% จะให้ความสนใจ และปรับรูปแบบจากการวางแนวป้องกันด้านซีเคียวริตี้เพื่อไม่ให้เกิดการโจมตีระบบ แต่หันมามุ่งเน้นที่การ 'จำกัดและควบคุม' ความเสียหายแทน
โดยเดลล์ได้พัฒนาโซลูชันด้านซีเคียวริตี้ที่สามารถช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปิดช่องว่าง พร้อมป้องกันข้อมูลจากภัยคุกคามแบบต่างๆ ผ่านไฟร์วอลล์สำหรับยุคหน้า (เน็กซ์ เจนเนอเรชัน ไฟร์วอลล์) การรักษาความปลอดภัยผู้ใช้งาน และการเชื่อมต่อ รวมไปถึงการควบคุมดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ที่ปลายทาง (เอ็นด์ พ้อยต์) ได้ครอบคลุม และครบถ้วนในทุกช่องทาง เพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจสามารถดูแล เฝ้าระวัง และควบคุมความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่
การเชื่อมต่อระหว่างกันมากขึ้นแค่ไหน ต้องจัดการมากเท่านั้น
เซอิชิโร ซาโต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ส่วนกลาง บริษัท อัลไลด์ เทเลซิส กล่าวว่าการรักษาความปลอดภัยใน IoT จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาและจะมีการเชื่อมต่อครอบคลุมทั้งเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า 'อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง' ซึ่งส่งผลอุปกรณ์แบบฝังตัวและเครือข่ายที่มีการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องกับเครื่อง ซึ่งจะกลายเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น
การรักษาความปลอดภัยแบบใหม่สำหรับองค์กรที่ใช้และจัดการเครือข่ายแบบฝังตัวจะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับการรักษาความปลอดภัยเครือข่ายของ องค์กร เพราะเมื่ออุปกรณ์จำนวนมากเหล่านี้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบโครงสร้าง เครือข่ายที่สำคัญ การรักษาความปลอดภัยระบบดังกล่าวจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่เพิ่มขึ้นสำหรับทุก สิ่งและทุกคนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการบริหารจัดการเครือข่ายโดยซอฟต์แวร์ (Software Defined Networking)หรือ เอสดีเอ็น ที่จะต้องเกิดขึ้นจากความต้องการอันหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยการบริหารจัดการเครือข่ายโดยซอฟต์แวร์ ซึ่งจะเริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นในองค์กร เช่นเดียวกับผู้จำหน่ายแอปพลิเคชันที่เริ่มนำเอาความสามารถของเอสดีเอ็น มาใช้ช่วยในการดำเนินกระบวนการทางธุรกิจให้ง่ายขึ้นและสร้างคุณค่าให้กับองค์กร ขณะที่ผู้จัดการด้านเทคโนโลยีต่างๆ จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์สำหรับผสานรวม เอสดีเอ็นเข้ากับเครือข่ายองค์กรของตนและจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยอย่างมากด้วย
ระบบไร้สายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ แต่การให้ความสำคัญกับระบบไร้สายจะเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีและประสิทธิภาพไปเป็นการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์โดยใช้แพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์ของโครงสร้างพื้นฐานองค์กรมากขึ้น การจัดการแอปพลิเคชันและความสามารถในการจัดการรับส่งข้อมูลตามปริมาณข้อมูล ที่มีการส่งผ่านจะกลายเป็นสิ่งสำคัญเพิ่มขึ้นเนื่องจากองค์กรได้หันมาใช้แนว คิดแบบรวมศูนย์ในการเชื่อมต่อ เพราะการเติบโตของอุปกรณ์มือถือที่จะยังคงเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การพัฒนาอุปกรณ์แบบติดตั้งอยู่กับที่จะหยุดนิ่ง