ทีพี-ลิงค์ เชื่อตลาดปี 59 จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีมีการพัฒนาจากระบบไวร์เลสมาตรฐาน ac ที่จะทยอยเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในราคาไม่ต่างจากเดิม คาดทีพี-ลิงค์ จะมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้น 30% ระบุพร้อมนำเราเตอร์ไฮเอนด์เข้าสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 5 รุ่น ส่วนความชัดเจนลุยตลาดมือถือในประเทศได้คำตอบภายในไตรมาส 1 แม้บริษัทแม่ออกตัวแรง เปิดตัวสมาร์ทโฟนในจีนปลายปีที่ผ่านมา
นายทรงศักดิ์ สังขเวทัย ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ทีพี-ลิงค์ เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ยอดขายโดยรวมของบริษัทในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้น 15% ด้วยปัจจัยหลักจากการที่สินค้าเป็นที่รู้จัก และผู้บริโภคมีการใช้งานกันอยู่แล้ว ซึ่งปีนี้จะมีการขยายฐานการตลาดรีเทล ตลาดคอมเมอร์เชียล และตลาดออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
โดยในปีที่ผ่านมา มีสินค้าใหม่เข้าตลาดราว 10 รุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่รองรับมาตรฐาน ac ซึ่งเพิ่งเปิดตัวผ่านมา 3 รุ่นพร้อมกัน ทำให้เชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และคาดเทคโนโลยี ac จะเข้ามาแทนที่เทคโนโลยี Wireless-N และ Wireless-G ในไม่ช้า โดยราคาพันกว่าบาทก็สามารถหาซื้อ Wireless-ac มาแทนที่เราเตอร์เดิมได้
ทั้งนี้ ในปีนี้ตลาดรวมของทีพี-ลิงค์ คาดว่าจะโตขึ้น 30% โดยมีปัจจัยที่เข้ามาจากลูกค้าเปลี่ยนอุปกรณ์รุ่นใหม่ บวกกับแรงกระเพื่อมของ 4G ที่จะเข้ามาทำให้ลูกค้าใช้งานได้สะดวก ซึ่งจากข้อมูลของไอดีซี คาดว่า จะสามารถทิ้งระยะห่างจากคู่แข่งเบอร์ 2 ได้ประมาณ 30% โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมเกิน 50% ผ่านช่องทางการตลาดที่ครอบคลุมทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และเพิ่มในส่วนของคอมเมอร์เชียลโดยขายกลุ่มองค์กรมากขึ้น ซึ่งเป็นการจัดตั้งทีมเข้ามารองรับโดยเฉพาะ ภายใต้งบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5% จากปีที่ผ่านมา
ในปีนี้ทีพี-ลิงค์ จะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ราว 5 รุ่น ในกลุ่มไวร์เรสเราเตอร์ ac ทั้งหมด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดีกว่าแต่ราคาไม่ต่างกัน นอกจากนี้ ทีพี-ลิงค์ยังพร้อมจะเปิดตลาดใหม่จากการนำโมเด็มเราเตอร์ 4G แบบที่สามารถนำซิมใส่เข้าไปใช้กระจายสัญญาณในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ามาร่วมทำตลาดเพิ่มเติม
“บ้านยุคใหม่หลังจากการสมัครอินเทอร์เน็ตแล้ว แนะนำว่าควรเปลี่ยนเราเตอร์เป็นระบบ ac ซึ่งราคาจะอยู่ที่ราว 1,500-2,000 บาท เพื่อทำให้สัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หากไม่เปลี่ยนก็สามารถเพิ่มอุปกรณ์เพาเวอร์ไลน์เพื่อแก้ปัญหาจุดอับสัญญาณ หรือเลือก Access Point เข้ามาเสริมในจุดอับสัญญาณก็เป็นได้”
นอกจากนี้ จะมีการเปิดสินค้ากลุ่ม IoT ให้มากยิ่งขึ้น เช่น สินค้าอุปกรณ์เสริม USB Hub Gadget ลำโพงบลูทูธ ไวร์เรสเราเตอร์ เพาเวอร์ไลน์ ไอพีคาเมราภายใต้การทำงานบนแอปพลิเคชัน “แอปคาซ่า” แอปที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ IoT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเปิดที่สามารถควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่อุปกรณ์ของ TP-Link เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น IoT สมาร์ทปลั๊ก ในอนาคตจะเป็นสมาร์ทเบราวซ์ แล้วปีหน้าจะเป็นช่วงของการสร้างการรับรู้ให้ตลาดในเรื่องของ IoT
ขณะที่สินค้ากลุ่มโมบาย หรือสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าล่าสุดที่ประกาศเปิดตัวในประเทศจีนอย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น การเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยยังรอความชัดเจนจากบริษัทแม่เป็นหลัก แต่คาดว่าจะมีการจัดตั้งทีมเข้ามาดูแลโดยเฉพาะ และงบการตลาดในส่วนของโมบายจะมีการทุ่มงบการตลาดมากกว่า 5 เท่า เพื่อสร้างการรับรู้ด้านสมาร์ทโฟนให้เกิดขึ้นภายใต้แบรนด์ TP-Link NEFFOS
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประมาณกลางไตรมาสที่ 1 น่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าเจาะตลาดกลุ่มล่าง-กลางในช่วงแรกราว 2 รุ่น โดยจะเป็นมือถือที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากยิ่งขึ้นจากการดึงจุดแข็งด้านเน็ตเวิร์กที่เรามี ซึ่งตัวเครื่องจะรองรับ 4G ในราคาไม่แพงแต่ตอบโจทย์สเปกแรงราคาถูก ด้วยจุดเด่นของทีพี-ลิงค์