กลุ่มทรูดอดเจรจา กสท โทรคมนาคม แก้ไขสัญญาบีเอฟเคที อัปเกรดเทคโนโลยีเป็น 4G คาดได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2559 ขณะที่บอร์ดสั่งฝ่ายบริหารรีบตามภาระค้างจ่ายที่ สตง.ตรวจพบ ด้านแจสเจรจาขอเช่าเสาจาก กสท โทรคมนาคม ให้บริการ 4G
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เจรจาขอแก้ไขสัญญาคลื่นความถี่ 850 MHz บนโครงข่ายระบบเอชเอสพีเอของบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ที่ทำสัญญากับ กสท โทรคมนาคม ตั้งแต่ 28 ม.ค.2554 ถึงปี 2568 อายุสัญญา 14 ปี ที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือเอชเอสพีเอ จำนวน 15 MHz นั้น ล่าสุด กลุ่มทรูได้ขออัปเกรดคลื่นในการให้บริการจากเดิม 3G เป็นเทคโนโลยี 4G เนื่องจากจำนวนเสาโทรคมนาคมที่บีเอฟเคทีสร้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิม 8,000 แห่ง เป็น 14,000 แห่งในปัจจุบัน ทำให้ความสามารถในการรองรับลูกค้ามีเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการปรับสัดส่วนการขายส่งขายต่อบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ (เอ็มวีเอ็นโอ) จาก 80:20 ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะเปลี่ยนเป็นสัดส่วนเท่าไร เพื่อให้ กสท โทรคมนาคม สามารถหาเอ็มวีเอ็นโอรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ การแก้ไขสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาที่ทำตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหาของสัญญาทุกๆ 3 ปี ทั้งนี้ ภายหลังจากการเจรจาในรายละเอียดของสัญญาแล้วเสร็จ เชื่อว่ากลุ่มทรูจะให้บริการ 4G บนคลื่น 850 MHz ได้ในปลายปี 2559
อย่างไรก็ดี ภายใต้สัญญาดังกล่าวที่ถูก สตง.พบว่ามีการกระทำให้หน่วยงานรัฐเสียหาย ที่ประชุมบอร์ดได้มีมติให้ฝ่ายจัดการเร่งติดตามเรื่องการเก็บค่าบริการที่ค้างชำระจากสัญญาต่างๆ ดังนี้ 1.การขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเอชเอสพีเอแก่บริษัท เรียลมูฟ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.2554 ถึง ธ.ค.2557 การขายส่งบริการบนโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบเอชเอสพีเอซึ่งเป็นเงินค่าบริการทั้งสิ้น 49,865 ล้านบาทนั้น กสท โทรคมนาคม ได้รับการชำระเงิน แบ่งเป็นจากเรียลมูฟ ซึ่งแบ่งชำระเงินค่าบริการ 23 งวด งวดแรกวันที่ 10 เม.ย.2557 และงวดสุดท้ายในวันที่ 25 ก.ย.2558 เป็นเงิน 37,666 ล้านบาท และในปี 2558 ได้รับชำระแล้ว 3 งวด เป็นเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท ทำให้ที่ผ่านมา กสท โทรคมนาคม ได้รับเงินจากเรียลมูฟแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 52,666 ล้านบาท สำหรับส่วนที่เหลือยังไม่ชำระอีกประมาณ 12,199 ล้านบาท
ดังนั้น ยืนยันว่า กสท โทรคมนาคม ไม่ได้นิ่งนอนใจในการติดตามเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งหนังสือกำชับมา ทั้งนี้ รายได้จากค่าเช่าที่ผ่านมาได้รับแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท และเชื่อว่าอีก 10 ปี จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท
“ส่วนการเจรจาล่าสุดเรื่องการใช้งานความจุโครงข่ายส่วนเพิ่มสามารถตกลงกันได้ในเบื้องต้นแ ละจะเรียกเก็บค่าบริการกันในโอกาสต่อไป ขณะที่ประเด็นที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ เรื่องวันเปิดให้บริการขายส่งบริการอย่างเป็นทางการแก่เรียลมูฟนั้น เรียลมูฟขอส่วนลดค่าบริการขายส่ง เรื่องการใช้เสาโทรคมนาคมที่เป็นข้อพิพาท ใบแจ้งหนี้ที่ กสท เรียกเก็บนั้น กสท ยังเร่งติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งได้แจ้งเรียกเก็บค่าดอกเบี้ยจากการที่เรียลมูฟค้างชำระค่าบริการขายส่งบริการ”
พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะเจรจาขอเช่าเสาโทรคมนาคมต่อหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น ขณะนี้ยอมรับว่าอยู่ในช่วงการเจรจาระหว่างกัน เนื่องจาก แจส ต้องการใช้เสาโทรคมนาคมของ กสท โทรคมนาคม ไปให้บริการ 4G จำนวน 1,000-1,300 ต้น ซึ่งความคืบหน้าในการเจรจาขณะนี้บรรลุผลไปแล้วกว่าครึ่ง ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจเบื้องต้นทาง แจส จะเช่าเสาสัญญาณเพื่อให้บริการ 4G รับส่งบริการข้อมูล (ดาต้า) เต็มจำนวน 10 MHz ที่ แจส ชนะการประมูลมา รวมถึง แจส จะมีการเจรจากับ กสท โทรคมนาคม เพื่อขอเช่าใช้คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz เพื่อให้บริการเสียง (วอยซ์) แก่ลูกค้า หรือการโรมมิ่ง
สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงเทคโนโลยีแอลทีอีบนคลื่นความถี่ 1800 MHz บอร์ด กสท โทรคมนาคม ได้อนุมัติให้แต่งตั้งทีมเจรจาระดับคณะกรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของ กสท โทรคมนาคม เพื่อเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เกี่ยวกับความร่วมมือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ด้วยเทคโนโลยีแอลทีอี เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำ 4 G ตามที่ กสทช. มีมติอนุมัติให้มีการปรับปรุงคลื่นความถี่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2558 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ม.ค.2559
Company Related Link :
กสท