เมื่อโลกเทคโนโลยีถูกย่อส่วนให้สามารถเข้ามาทดแทนอุปกรณ์ที่มนุษย์ใช้กันจนเคยชินอย่างเช่น นาฬิกาบนข้อมือได้แล้ว แพลตฟอร์ม หรือระบบปฏิบัติการกลางที่ทุกอุปกรณ์สามารถใช้งานได้ ภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรเครื่องที่มีหน่วยประมวลผล และพื้นที่การจัดการข้อมูลไม่มากนัก กลายเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถตอบสนองการใช้งานที่มากกว่าสมาร์ทโฟนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
แอนดรอยด์แวร์ ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มกลางที่น่าจับตามอง ทั้งด้วยความเป็นกูเกิลเอง และความอิสระของผู้พัฒนาที่จะสามารถต่อยอดแอปพลิเคชันได้หลากหลาย ตลอดจนผู้ผลิตอุปกรณ์ที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเชื่อมต่อกับบิ๊กดาต้าให้แสดงผลได้แบบง่ายๆ และทันที
***รู้จักแอนดรอยด์แวร์
แอนดรอยด์แวร์ แพลตฟอร์มกลางแบบเปิดสำหรับสมาร์ทวอทช์ และอุปกรณ์สวมใส่ที่การันตีความต่อเนื่องในการพัฒนาโดยกูเกิล ซึ่งสามารถจับคู่กับระบบแอนดรอยด์ในเวอร์ชันตั้งแต่ 4.3 เป็นต้นไป และที่สำคัญสามารถจับคู่ข้ามแพลตฟอร์มไปยัง IOS ตั้งแต่เวอร์ชัน 8.2 เป็นต้นไปได้เช่นกัน
แน่นอนว่าความสามารถของแพลตฟอร์มไม่ใช่เพียงการสร้างแล้วปล่อยให้เกิดการทำงานของแอปพลิเคชันเองจากนักพัฒนาภายนอกเท่านั้น แอนดรอยด์แวร์ยังควบรวมความสามารถของบริการกูเกิลที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทั้งหมดเข้าไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Google Now ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความอัจฉริยะมากขึ้น โดยสามารถค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อตอบสนองพฤติกรรมในแต่ละวันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการเตือนนัดหมายที่สำคัญโดยที่ไม่ต้องสร้างปฏิทินเองให้ยุ่งยาก หรือบริการกูเกิลฟิต (Google Fit) ที่ติดตามกิจกรรมส่วนตัวเพื่อประเมินค่าการเผาผลาญพลังงาน ติดตามการทำกิจกรรม ตลอดจนเป็นโค้ชเพื่อแนะนำการออกกำลังที่เหมาะสมแบบเฉพาะบุคคล นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์การวัดต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างสะดวก
ไม่เพียงเท่านั้นแพลตฟอร์มแอนดรอยด์แวร์ยังรองรับคำสั่งเสียงเพื่อการสั่งการที่สะดวกมากยิ่งขึ้น และยังสามารถพ่วงบริการของกูเกิลเข้ามาไว้ในอุปกรณ์ที่พัฒนาได้อย่างไม่จำกัด พร้อมทั้งรองรับแอปพลิเคชันบนเพลย์สโตร์ได้ โดยนับเป็นระบบ Ecosystem ขนาดเล็กที่สามารถบรรจุอยู่ในหลายๆ อุปกรณ์สวมใส่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมในปี 2014 ที่ผ่านมา เพียงแค่ 6 เดือนแรกสามารถจัดส่งอุปกรณ์ภายใต้ระบบแอนดรอยด์แวร์ไปแล้วกว่า 720,000 ชิ้น และนับจนถึงเดือนพฤษภาคม 2015 มีการเรียกติดตั้งแอปพลิเคชันแอนดรอยด์แวร์ไปแล้วกว่า 5 ล้านครั้ง
***ที่สุดของความร่วมมือ
ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของพันธมิตรที่สำคัญหลายแบรนด์ซึ่งพัฒนาสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น โมโตโรล่า ที่พัฒนา MOTO 360 ด้วยราคาเริ่มต้นกว่า 5,000 บาท ออกแบบให้เหมาะสมตามเพศ และกิจกรรมที่ผู้สวมใส่ต้องการ ด้านแอลจี ได้ผลิต LG G Watch ออกมาเป็นรุ่นแรก และพัฒนาต่อเป็นรุ่น G Watch R โดยเพิ่มฟีเจอร์ที่มากขึ้น พร้อมเปลี่ยนหน้าจอให้เป็น OLED เพื่อการประหยัดพลังงาน และประสิทธิภาพที่มากขึ้น ขณะที่เบอร์ 1 อย่างซัมซุง แม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มของสมาร์ทดีไวซ์เป็นของตนเองอยู่แล้ว ก็ยังได้พัฒนา Samsung Gear Live เพื่อตอบรับการเติบโตของตลาดแอนดรอยด์แวร์อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรที่เข้าร่วมการพัฒนาสินค้าอีกมากมาย เช่น ASUS ที่พัฒนา ZenWatch ออกมาได้ราคาเริ่มต้นที่ 149 เหรียญสหรัฐ พร้อมทั้งพัฒนารุ่นต่อไปในชื่อว่า Asus ZenWatch 2 ด้าน Fossil และ TAG Heuer ผู้ผลิตนาฬิกาชื่อดังก็ร่วมวงสมาร์ทวอทช์โดยการพัฒนา Fossil Q Founder และTAG Heuer Connected สุดหรู ที่นับว่าเรื่องเทคโนโลยีไม่เป็นรองบริษัทผู้ผลิตชื่อดังอย่างแน่นอน อีกทั้ง HTC ที่จับมือเป็นพันธมิตรมาตั้งแต่เริ่มต้น แม้ว่าจะยังไม่มีตัวเครื่องออกมาเป็นจริงเป็นจัง แต่ก็มีข่าวลือว่าจะมีออกมาให้ยลโฉมในปีหน้าที่จะถึงนี้
ขณะที่ผู้ผลิตชิปชื่อดังต่างตบเท้าเข้าพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างจริงจัง นับตั้งแต่ Intel, MediaTek, Imagination Technologies, Qualcomm และ Broadcom เพื่อพัฒนาให้อุปกรณ์ทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อได้ในทุกการสื่อสารเต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าตัวอุปกรณ์จะมีขนาดที่จำกัด โดยสามารถสื่อสารได้ทั้งบลูทูธ ไวไฟ NFC และแม้กระทั่งการใส่นาโนซิมการ์ดเพื่อการสื่อสารที่เต็มประสิทธิภาพให้แก่อุปกรณ์
***อนาคตแอนดรอยด์แวร์
ด้านนักวิเคราะห์มองว่าความต้องการของการใช้งานแอนดรอยด์แวร์ในอนาคตควรจะต้องรองรับการโทร.ออก และรับสายภายในตัวเครื่องเสร็จสรรพ พร้อมทั้งสามารถส่งข้อความผ่านโปรแกรมแชตทั้งหลายที่มีทั้งหมดในตลาด เช่น Whatsapp, WeChat, Line, Viber โดยผ่านการพิมพ์ด้วยเสียง หรือสัมผัสหน้าจอก็ตามแต่ อีกทั้งควรออกแบบการสัมผัสด้วยท่าทางใหม่เพื่อการสั่งการด้วยมือเดียวได้อย่างถนัดโดยที่ไม่เปลืองแบตเตอรี่มากนัก และควรเพิ่มความสามารถของแบตเตอรี่ให้มีขนาดที่เล็ก และเบาลงแต่ใช้งานได้นานขึ้น รวมทั้งการพัฒนาด้านภาษาที่รองรับสำหรับการสั่งการให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
สอดรับต่อการประกาศเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ Android Wear 1.4 ที่มาพร้อมการวาดมือสั่งการแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้มีความสะดวกจากการใช้มือข้างเดียวสั่งการมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับพลังงานจากแบตเตอรี่จนผู้ใช้ส่วนใหญ่มักปิดฟีเจอร์นี้ออกไป กระนั้นความหวังใหม่ที่สดใสจากคำพูดของ อาพาร์น่า เชนนาพรากาดา บนเวที Google I/O 2015 หญิงเก่งผู้กุมโปรเจกต์ Google Now ฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล ที่เชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุปกรณ์เทคโนโลยีจะกลายเป็นตัวกลางที่ดึงข้อมูลจากทั่วทุกสารทิศ มาแสดงผลเพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้งานได้ใช้ชีวิตที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่การค้นหาข้อมูลด้วยเสียงแบบโต้ตอบทันทีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรูปแบบการสั่งการในชีวิตประจำวันทั้งหมดในอนาคตอีกด้วย และนั่นก็น่าจะเป็นอนาคตของแพลตฟอร์มแอนดรอยด์แวร์ที่ควบรวมความสามารถหลักของ Google Now เข้าไว้นั่นเอง