ทันทีที่สิ้นสุดการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ก้าวต่อไปของทั้งผู้ชนะ คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด กับบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด คือ การขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ภายใน 4 ปี และ 80% ภายใน 8 ปี ซึ่งสำหรับทรูมูฟนั้นไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นผู้ที่มีคลื่นอยู่ในมือมากที่สุดในขณะนี้ (55 MHz)
แต่ที่น่าจับตามองคือ แจส ซึ่งได้ออกตัวแล้วว่าต้องเช่าใช้โครงข่ายของผู้ที่มีอยู่ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเสาโทรคมนาคมของทีโอที ขณะที่ผู้ประมูลเกือบชนะอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ก็ประกาศออกมาแล้วว่าได้บรรลุข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรกับทีโอที สำหรับคลื่น 2100 จำนวน 15 MHz เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า ถึงไม่ได้คลื่น 900 MHz ก็ยังมีคลื่นที่จะให้บริการต่อทีโอทีอย่างแน่นอน
งานนี้คนที่ท่าจะเนื้อหอมที่สุดจึงหนีไม่พ้น ทีโอที ที่ตอนแรกก็ลุ้นกันตัวโก่งว่าจะฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ล้มประมูลหรือไม่ แต่ดูจากรูปการณ์แล้วการไม่ฟ้องมีแนวโน้มที่จะมีรายได้มากกว่านำคลื่นมาทำเอง
รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายหลังการประมูลคลื่น 900 MHz สิ้นสุดลง ทำให้เห็นอนาคตของทีโอทีมากขึ้น ตอนนี้ทีโอทีพร้อมเป็นผู้ให้บริการเสาโทรคมนาคมสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาเจรจากับทีโอทีได้เลย ซึ่งทีโอทีเห็นโอกาสในการเป็นผู้ให้เช่าใช้มากกว่าจะนำมาทำเองแล้ว
ซึ่งปัจจุบัน ทีโอทีได้รับโอนมอบทรัพย์สินจากคู่สัญญาสัมปทานคลื่น 900 MHz จากเอไอเอส ในระบบ 2G จำนวน 13,198 เสาโทรคมนาคม รวมกับในระบบ 2G ที่เอไอเอสนำไปอัปเกรดเป็น 3G อีก 3,700 แห่ง และเสาโทรคมนาคมของทีโอทีในย่าน 2100 MHz จำนวน 5,320 แห่ง ทำให้ทีโอทีมีทรัพย์สินเสาโทรคมนาคม จำนวน 22,218 แห่ง
ทั้งนี้ ทีโอที ยอมรับว่าหลังจากสิ้นสุดสุญญาสัมปทานกับเอไอเอสไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 รายได้ทีโอทีหายเป็นหลักหมื่นล้านบาท ดังนั้น ทีโอทีจึงต้องมีความพร้อมอย่างเร็วที่สุดสำหรับการเจรจากับผู้ให้บริการที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz ทั้ง 2 ราย ได้แก่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด แต่ทีโอทียังไม่สามารถออกตัวได้มาก และการเจรจาต่อรองราคาในการเช่าใช้เสาโทรคมนาคมก็ต้องเป็นราคาที่น่าพอใจสำหรับทีโอทีด้วย ซึ่งตนเองประเมินเบื้องต้นว่า เสาโทรคมนาคมแต่ละเสาน่าจะมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้มาเช่าใช้ด้วยว่าจะต้องการปริมาณมากน้อยเพียงใด
ส่วนผู้ที่ไม่ชนะการประมูลอย่างเอไอเอส ก็ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับทีโอทีในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3G คลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz ซึ่งจะเป็นผลดีทำให้ทีโอทีมีสถานีฐานเพิ่มขึ้นจากการที่เอไอเอสสร้างมากขึ้นตามเงื่อนไขการเป็นพันธมิตร ทำให้ทีโอทีสามารถทำการตลาด 3G ได้อย่างเต็มที่
รวมถึงการหาเอ็มวีเอ็นโอรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย อันจะเป็นการปิดข้อด้อยในการทำการตลาดของทีโอที ที่กำลังพยายามผูกสินค้าหลายๆ ประเภทเพื่อนำเสนอลูกค้าเช่น แพกเกจ “คุ้มยกแพ็ก” ในราคา 599 บาทต่อเดือน สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วดาวน์โหลด 10MB และอัปโหลด 1MB พร้อมแถมบริการโทรศัพท์บ้านวงเงิน 599 บาทต่อเดือน กรณีใช้โทรศัพท์บ้านโทร.ไปโทรศัพท์บ้าน ส่วนเกินวงเงิน โทร.ท้องถิ่นครั้งละ 2 บาท โทร.ทางไกลในอัตรานาทีละ 2 บาท และรับชมทีวีผ่านกล่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต (ไอพีทีวี) หากโครงข่าย 3G ของทีโอที สามารถขยายได้เพิ่มขึ้นก็จะสามารถนำมาทำการตลาดร่วมกันได้ ซึ่งปัจจุบันทีโอทีมีลูกค้า 3G อยู่ประมาณ 500,000-600,000 เลขหมาย
ก่อนหน้านี้ มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส เป็นการเซ็นสัญญาเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องร่วมกันสร้างสถานีฐานเพิ่มขึ้นในระยะแรกอีก 10,000 สถานีฐาน จากเดิมที่ทีโอทีมีอยู่ 5,320 สถานีฐาน ส่วนรายได้ที่ทีโอทีจะได้นั้น เอไอเอสต้องจ่ายรายได้ขั้นต่ำให้ทีโอที 3,500 ล้านบาทต่อปี โดยเอไอเอสได้ความจุของโครงข่าย 80% ไปทำตลาด ที่เหลือของความจุของโครงข่ายอีก 20% ทีโอทีจะได้สิทธิในการให้บริการ
“รูปแบบการเป็นพันธมิตรของเราไม่เหมือนกับ สัญญาบีเอฟเคที ที่ กสท โทรคมนาคม ทำอย่างแน่นอน เพราะของ กสท คือ ไม่มีเสาแล้วมาสร้าง แต่ของทีโอทีคือ มีเสาอยู่แล้ว ดังนั้น การที่เอไอเอสเข้ามาเป็นพันธมิตรก็ทำให้ทีโอทีไม่ต้องลงทุนสถานฐานีเอง เพราะหากทำเองต้องใช้เงินถึง 40,000-50,000 ล้านบาท และการลงนามกับเอไอเอสเราก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องทำกับเอไอเอสรายเดียว เรายังเปิดกว้างให้ทุกรายเข้ามาได้ ที่สำคัญปีหน้าทีโอทีต้องตั้งสายงานโมบายขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะเพื่อให้ทำงานคล่องตัวแบบวัน สต็อป เซอร์วิส”
รังสรรค์ กล่าวว่า สำหรับปีหน้าทีโอทีจะยังคงเดินหน้าทำตลาดบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่องโดยเน้นการทำตลาดดิจิตอลแบบ 360 องศา คือ ทุกช่องทางของดิจิตอล มีเดีย รวมถึงการทำไลน์เป็นของตนเอง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานโทรศัพท์มือถือด้วย ปัจจุบัน ทีโอทีมีลูกค้าในบริการบรอดแบนด์ทั้งสิ้น 1.3 ล้านราย คาดว่าปีหน้าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านราย
โดยก่อนหน้านี้ ทีโอที ใช้งบการตลาด จำนวน 60 ล้านบาท จากจำนวนงบการตลาดที่มีตลอดทั้งปี คือ 200 ล้านบาท ด้วยการเลือก “ชาคริต แย้มนาม และวุ้นเส้น วิริฒิพา ภักดีประสงค์” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ตัวแทนของครอบครัวคนรุ่นใหม่ มีไลฟ์สไตล์ทันสมัย มีความมั่นใจ ชื่นชอบเทคโนโลยี มีธุรกิจที่ต้องดูแลไปพร้อมๆ กับกิจกรรมที่เป็น Live ตลอดทั้งวัน ทำให้ลูกค้าบรอดแบนด์เติบโตขึ้น
อนาคตของทีโอทีเริ่มดูสดใสมากขึ้น รับกับโอกาสใหม่ๆ ที่เปิดกว้างเข้ามา ซึ่งอาจทำให้ทีโอทีพลิกฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง ที่เหลือเพียงอยู่ที่ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันได้มากน้อยแค่ไหน เพราะน่าจะหมดเวลาทะเลาะกัน และมุ่งหน้าทำธุรกิจให้บริการประชาชนได้แล้ว
ชิต เหล่าวัฒนา ประธานบอร์ดยุทธศาสตร์ ทีโอที กล่าวว่า“การที่เอไอเอสประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ไม่ได้ น่าจะเป็นผลดีต่อทีโอที เพราะทำให้ทีโอทีดูเป็นสาวงามขึ้นมาทันที แต่เราจะไม่ยอมให้เอาเปรียบเช่นในอดีตที่ผ่านมา”
Company Related Link :
ทีโอที