xs
xsm
sm
md
lg

“ทรู” ชนะ 900 มั่นใจ 5 ปีข้างหน้ามีส่วนแบ่งตลาดมือถือ 34%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น
ทรู มั่นใจหลังประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ได้จะสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดได้เป็น 34% ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ชี้ราคาที่ประมูลได้มาถือว่ามีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะช่วยลดต้นทุนค่าโครงข่ายได้ถึง 45,000 ล้านบาท และเป็นคลื่นที่มีลูกค้าใช้งานอยู่แล้ว และมีศักยภาพสูงในการใช้งานในอาคาร ที่สำคัญถือเป็นการชิงคลื่นจากคู่แข่งได้สำเร็จ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมา ทำให้ทรูเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่รวม 55 MHz โดยทรูจะทำการบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ โดยได้ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 34% ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% จากมูลค่าตลาดรวมโทรคมนาคมอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งทรูจะทำการลงทุนเพิ่มเติมอีก 55,000 ล้าน ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่ครั้งล่าสุดนี้จะทำให้ทรูเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่รวมทั้งสิ้น 4 คลื่น ประกอบด้วย คลื่นความถี่ 850 MHz, 900 MHz, 1800 MHz และ 2100 MHz ซึ่งจะทำให้ทรูสามารถบริหารจัดการการใช้งานคลื่น 2G-4G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจในระยะยาว และจะสามารถขยายฐานลูกค้าของทรูมูฟเอชที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“คลื่นความถี่ 900 MHz เป็นคลื่นที่มีประสิทธิภาพ และการประมูลในราคาที่ได้มาถือว่าไม่แพง เนื่องจากเป็นคลื่นที่มีลูกค้าใช้งานอยู่แล้ว ปัจจุบันยังมีลูกค้าที่ใช้งาน 2G ในคลื่นความถี่ 900 MHz อยู่ประมาณ 15 ล้านราย ไม่ใช่คลื่นเปล่าเหมือนในต่างประเทศ รวมถึงเป็นคลื่นที่มีอุปกรณ์ และชิปเซ็ตที่มีความพร้อมอยู่แล้ว จึงช่วยลดต้นทุนในการขยายโครงข่ายได้กว่า 45,000 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีมูลค่า และมีศักยภาพในการพัฒนาสูงมาก โดยเฉพาะการใช้สัญญาณภายในอาคาร จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก นอกจากนี้ ยังถือเป็นการทำให้คู่แข่งมีแบนด์วิธที่ลดลงด้วย”

นายศุภชัย กล่าวว่า การประมูลให้ได้มาซึ่งคลื่น 900 MHz ของทรูค่อนข้างแตกต่างจากคู่แข่ง โดยทรูคำนึงถึงเรื่องการสร้างศักยภาพทางด้านเครือข่ายเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ และเอื้อต่อการเติบโต ในขณะที่คู่แข่งทั้ง 2 ราย เป็นการประมูลเพื่อรักษาฐานลูกค้ามากกว่า โดยเฉพาะในส่วนของผู้นำตลาดที่มีลูกค้ามากกว่าทรู 2 เท่า ในขณะที่การใช้งานแบนด์วิธค่อนข้างแคบกว่าคือมีเพียง 30 MHz เท่านั้น

การแข่งขันนับจากนี้จะขึ้นอยู่กับสินค้า และบริการที่ดี รวมไปถึงโครงข่ายที่ดี ซึ่งการลงทุนในคลื่นความถี่ก็ถือว่าหนึ่งในกลยุทธ์ในการสร้างเครือข่ายที่ดีเพื่อบริการที่ดี นอกจากนี้ ทรูจะยังเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งโครงข่ายมีสาย และไร้สาย ซึ่งจะเป็นเสมือนสปริงบอร์ดให้ทรูสามารถก้าวไปสู่อีกจุดหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังถือเป็นการมีส่วนช่วยผลักดันให้การใช้งาน 4G ในเมืองไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย จากปัจจุบันที่มีการเติบโตอยู่ที่ 50-100% ก็จะไปสู่ 100-200% เนื่องจากทุกรายพร้อมที่จะลงสนามแข่ง 4G กันทุกรายแล้ว

ปัจจุบัน ทรูมีหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.5 เท่า แต่เนื่องจากเงื่อนไขในการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ในครั้งนี้ถือว่ามีความยืดหยุ่นมาก ประกอบกับทรูยังมีช่องทางในการจัดสรรแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการชำระค่าใบอนุญาต และเพื่อพัฒนาโครงข่ายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสดของบริษัท เงินกู้ หรือสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมไปถึงการจำหน่ายสินทรัพย์เพิ่มเติมเข้ากองทุน และหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิตอล (DIF) อีกทั้งยังได้รับเครดิตจากกลุ่มผู้จำหน่ายอุปกรณ์ (Vendor Financing) อีกด้วย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าทรูจะพร้อมเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย และบริการได้อย่างต่อเนื่อง

Company Related Link :
ทรู



Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น