ทูทรีเปอร์สเปกทีฟ คาดยอดรายได้ปีนี้จะเติบโตเพียง 30% ลดลงจากช่วงปีก่อนหน้าที่โตคงที่ 40-50% เผยเศรษฐกิจซบเป็นปัจจัยสำคัญ ส่วนแผนปีหน้ามุ่งกลยุทธ์การเช่าใช้แบบ As a Service และร่วมทำการตลาดกับลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มรายได้ ชี้รัฐยังไม่สนใจเอสเอ็มอีที่มีโอกาสเติบโตเท่ากับการให้ความสำคัญต่อสตาร์ทอัปเกิดใหม่ ทำให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักใช้ดิจิตอลให้เกิดประโยชน์
นายธนพงพรรณ์ ธัญญรัตตกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ทู ทรี เปอร์สเปกทีฟ จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของการให้บริการอีคอมเมิร์ซ และโมบายคอมเมิร์ซ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไม่ได้เติบโตมากนัก และเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมียอดรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30% ลดจากปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ 40-50% ดังนั้น กลยุทธ์ในปีหน้าจะเน้นการเข้าร่วมทำกลยุทธ์กับลูกค้าอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวช่วยในการวางแผนร่วมกับลูกค้าในการสร้างการขายผ่านช่องทางอื่นๆ
รวมไปถึงเน้นการขายแบบให้ลูกค้าเช่าใช้ หรือ As a Service จากเดิมที่ลูกค้ามักจะเน้นการซื้อทั้งระบบ ซึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะยังไปได้ดีทั้งในปีนี้ และปีหน้า คือ กลุ่มธุรกิจบริการ รวมไปถึงกลุ่มโรงพยาบาล ในขณะที่กลุ่มท่องเที่ยวค่อนข้างระวังตัว ส่วนกลุ่มรีเทลก็เริ่มหันเข้ามาหาดิจิตอลมากขึ้น เพื่อรับมือต่อภาวะกำลังซื้อที่ลดลง และหันมาเน้นการใช้ไอทีในการวิเคราะห์ลูกค้าเพื่อให้สามารถเจาะเข้าถึงได้อย่างตรงเป้าหมาย
“การดำเนินธุรกิจในปีนี้ไม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบ แต่ธุรกิจยังคงเติบโตได้แต่ไม่มากนัก เพราะรัฐยังไม่เอาเงินเข้าในระบบมากนัก กลุ่มทุนใหญ่ๆ ลดการลงทุนลง ซึ่งแม้ว่าดิจิตอลจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การลงทุนก็ไม่ได้เข้ามามากนักเพราะคิดมากขึ้นในการใช้เงิน แต่ทั้งนี้ด้วยขนาดตลาดการให้บริการทางด้านดิจิตอลค่อนข้างใหญ่ทำให้ยอดรายได้ของบริษัทยังสามารถเติบโตได้”
นายธนพงพรรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนระบบเว็บ อีคอมเมิร์ซ โมบายคอมเมิร์ซ อย่างต่อเนื่อง และขณะนี้พร้อมที่จะให้บริการผ่านคลาวด์ในรูปแบบการเช่าใช้ หรือ As a Service แล้ว ซึ่งคาดว่าในปีหน้าทุกกิจการน่าจะเข้าสู่ระบบไอทีและดิจิตอลมากขึ้น ทางบริษัทจะนำเสนอโซลูชันให้แก่ทุกความต้องการของลูกค้า และเป็นโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ลูกค้าให้มากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีของภาครัฐยังถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเป็นการทำให้รายใหญ่ทำการค้าขายได้ดี แต่ยังไม่มีนโยบายที่เข้ามาสนับสนุนเอสเอ็มอีที่ชัดเจนมากนัก รวมไปถึงยังไม่สนับสนุนบริษัทไอที หรือกลุ่มซอฟต์แวร์ไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีความชัดเจนในการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน เอสเอ็มอีที่พอจะทำธุรกิจได้แล้วกลับยังไม่ได้รับความสำคัญ
ปัจจุบัน เอสเอ็มอีที่มีอยู่นับล้านรายยังไม่เข้าถึงการตลาดแบบดิจิตอล บริษัทจึงพยายามกระตุ้นให้เอสเอ็มอีตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ด้วยเครื่องมือต่างๆ มากมาย จะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ได้อย่างไร บางครั้งเอสเอ็มอียังคงรู้เพียงแค่ว่าสื่อดิจิตอลคืออะไร แต่ยังไม่รู้จะปรับใช้กับตัวธุรกิจของตนเองได้อย่างไร
“เทรนด์สำคัญที่ถือได้ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยประกอบไปด้วย โมบิลิตี โซเชียล คลาวด์ และบิ๊กดาต้า ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ ในเทรนด์ดังกล่าวหากนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ก็จะสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถสร้างการเติบโตไปสู่ตลาดโลกได้เช่นกัน”