xs
xsm
sm
md
lg

แอมดอกซ์โชว์ 3 ฟีเจอร์เด่นลุยบิ๊กดาต้าโทรคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายยรรยง เต็งติชวลิต ผู้อำนวยการด้านการขาย บริษัท แอมดอกซ์ ประเทศไทย
แอมดอกซ์ (Amdocs) เปิดเกมรุกวิเคราะห์บิ๊กดาต้า โชว์ 3 ฟีเจอร์พัฒนาใหม่ เสริมศักยภาพผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทย หลังแนวโน้มการใช้งานวอยซ์ลดลง ชี้ชัดพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ส่งผลให้เกิดข้อมูลมหาศาล ลั่นเดินหน้าแปรข้อมูลบิ๊กดาต้าสู่รูปแบบการตลาดที่เหมาะสมให้ผู้ให้บริการมือถือ คาดเห็นความเปลี่ยนแปลงจากบิ๊กดาต้าภายในปี 2559

นายยรรยง เต็งติชวลิต ผู้อำนวยการด้านการขาย บริษัท แอมดอกซ์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมดอกซ์เริ่มนำเสนอโซลูชันอย่างจริงจังในการแปรเปลี่ยนข้อมูลมากมายมหาศาลที่เกิดขึ้นจากโลกอินเทอร์เน็ต หรือ บิ๊กดาต้า ให้กับผู้ให้บริการในประเทศไทย โดยพุ่งเป้าที่โอเปอเรเตอร์มือถือ 3 รายใหญ่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น โดยนำข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ของลูกค้า การบริหารรายได้ และระบบเครือข่าย มาลงในแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถรวบรวมและใช้งานข้อมูลบิ๊กดาต้าสำหรับการวิเคราะห์ความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อคิดหากลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม ตรงความต้องการ ตลอดจนช่วยเป็นเครื่องมือในการเลือกใช้นวัตกรรมได้อย่างคุ้มค่า และช่วยบริหารโครงข่ายภายใต้การให้บริการได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด

ทั้งนี้ แอมดอกซ์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านระบบบริการลูกค้า ได้ประกาศพัฒนาแอปพลิเคชันด้านการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเฉพาะด้านการสื่อสารรูปแบบใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมสามารถรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายพฤติกรรมเข้าไว้ด้วยกัน แล้วนำข้อมูลมาสร้างรูปแบบเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจ ประหนึ่งคำแนะนำจากลูกค้าที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การประกาศครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความสำเร็จมาจากการประกาศเปิดตัวเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าของแอมดอกซ์เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งได้นำเสนอเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อการสื่อสารโดยเฉพาะระหว่างต้นทางถึงปลายทางเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ข้อมูลเป็นระเบียบ เข้าถึงได้ และนำไปใช้งานได้จริง เพื่อให้ผู้ให้บริการหรือกลุ่มภายนอกสามารถเสริมสร้างนวัตกรรม

“ทิศทางการนำข้อมูลบิ๊กดาต้ามาใช้ จะเกิดหลังจากการพัฒนาโครงข่ายเข้าสู่ 4G LTE ของผู้ให้บริการทั้งหมด และด้วยความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เริ่มใช้ดาต้ามากกว่าเสียงในปัจจุบัน ซึ่งยืนยันได้จากการแถลงวิสัยทัศน์ของยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารไทยที่ยอมรับว่าในอนาคตจำนวนการใช้วอยซ์จะลดลง 5% ขณะที่จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านบัญชีในเร็ววันนี้ พร้อมกันกับจำนวนสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ สิ่งเหล่านี้จะหลอมรวมเป็นจำนวนข้อมูลที่มากมายมหาศาล ซึ่งหากผู้ให้บริการรายใดสามารถเรียกใช้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตนเองได้ก่อน ย่อมหมายถึงข้อได้เปรียบในการสร้างบริการที่ตรงความต้องการมากยิ่งขึ้น”

กลุ่มธุรกิจบิ๊กดาต้าที่เพิ่มขึ้นของแอมดอกซ์ ได้ผสมผสานทักษะความรู้กับเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ เพื่อรวบรวม จัดเก็บ และประมวลผลข้อมูล นอกจากเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจบิ๊กดาต้าแล้ว แอมดอกซ์ยังมีบริการจัดการข้อมูลหลากหลายแบบ เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และช่วยผู้ให้บริการแยกข้อมูลที่มีค่ากว่าออกจากข้อมูลเหล่านั้นด้วย ในตอนนี้แอมดอกซ์กำลังร่วมงานกับผู้ให้บริการหลายรายในการพัฒนาคลังข้อมูลของผู้ให้บริการ ให้กลายเป็นระบบการบริหารข้อมูลที่คุ้มค่าเชิงต้นทุนและปรับขนาดได้ ตัวอย่างหนึ่งคือ Telefónica ซึ่งได้ประกาศนำโซลูชันจัดเก็บข้อมูลเชิงปฏิบัติการของแอมดอกซ์ มาใช้ดำเนินงานในประเทศชิลีและเปรู เพื่อรวมข้อมูลจากหลายแหล่งเข้าด้วยกันและสร้างข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจที่นำมาปฏิบัติได้ให้สามารถพิจารณาตัดสินใจได้ฉับไวยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยครั้งใหญ่จะส่งผลให้เกิดการบริโภคข้อมูลเพิ่มสูงขึ้น การแข่งขันอันดุเดือดระหว่างผู้ให้บริการโครงข่ายแบบดั้งเดิมกับผู้ให้บริการเสริมที่เรียกว่า Over-the-top (OTT) จะช่วยเร่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้โตวันโตคืน และการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต่างๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ผู้ให้บริการต้องหันมาใช้เทคโนโลยีและกลยุทธ์รูปแบบใหม่ ขณะที่ปัจจุบันผู้ให้บริการยังต้องเผชิญกับความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ลูกค้าต้องการการเชื่อมต่อที่ลื่นไหลโดยไม่คำนึงถึงอุปกรณ์หรือสถานที่ ตลอดจนการบริการรูปแบบใหม่ ล้ำหน้า และทันยุคทันสมัย

โดยระบบบิ๊กดาต้าของแอมดอกซ์ที่พัฒนาใหม่จะทำให้โอเปอเรเตอร์สามารถวิเคราะห์ทิศทางการตลาดได้อย่างละเอียดมากขึ้น ด้วยฟีเจอร์ 1.Amdocs High Definition Marketing Analytics ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งานปริมาณมาก เทรนด์การท่องเว็บ เนื้อหาสรุปผ่านโซเชียล และช่องทางการดูแล เพื่อช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในการบริการลูกค้าและเพิ่มยอดขาย โดยใช้การแบ่งส่วนพฤติกรรมลูกค้าแบบจุลภาค เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าได้ตรงความต้องการมากขึ้น ตลอดจนการวิเคราะห์ตามสถานการณ์เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่เหมาะสมที่สุด ทั้งหมดนี้รวมถึงการปฏิสัมพันธ์ผ่านหลายช่องทางและประสานระหว่างแคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ของผู้ให้บริการและระบบการบริหารแคมเปญ

2.Amdocs Deep Network Analytics ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์เน็ตเวิร์กเชิงลึกจากการรวบรวมผ่านการไหลของข้อมูลในเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นการตรวจสอบแพกเก็ตข้อมูลในเชิงลึก (deep packet inspection) จากเน็ตเวิร์ก โดยผลที่ได้จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์จัดสรรงบการลงทุนด้านเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อสร้างประสบการณ์การเชื่อมต่อที่ดี ตลอดจนสามารถระบุข้อบกพร่องของเครือข่ายก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงปัจจัยของเครือข่ายที่จะส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าอย่างเหมาะสม

3.Amdocs Consumer and Business Satisfaction Analytics ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้บริโภคและธุรกิจ Amdocs ช่วยให้ผู้บริหารสามารถแก้ไขระบบการทำงานที่แต่ละหน่วยธุรกิจปฏิเสธการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยให้ผู้จัดการธุรกิจเข้าใจปัจจัยที่ขับเคลื่อนผลการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า (Net Promoter Score - NPS) และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ได้ก่อนที่จะกระทบต่อความพึงพอใจของลูกค้า เครื่องมือวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ยังช่วยปรับปรุงการทำงานของคอลเซ็นเตอร์และประสิทธิภาพการดูแลตนเอง ช่วยให้มอบประสบการณ์ที่น่าพอใจแก่ลูกค้า

“ปัจจุบันลูกค้าของแอมดอกซ์ในประเทศไทยคือกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยพุ่งเป้าการให้บริการระบบวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่ผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย และด้วยความเชี่ยวชาญของแอมดอกซ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มียอดเติบโตในตลาดโลกกว่า 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2014 เติบโตจากปีก่อนหน้าที่มียอดรายได้ 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าในปีหน้าประเทศไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านบิ๊กดาต้าอย่างชัดเจนมากขึ้น”

Company Related Link :
แอมดอกซ์

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น