ETDA เผยมูลค่าอี คอมเมิร์ซไทยปี 58 เติบโตต่อเนื่อง 3.65% คิดเป็นมูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท จากปัจจัยการก้าวสู่เออีซีเต็มรูปแบบ ขณะที่มูลค่าอี คอมเมิร์ซปี 57 มีกว่า 2.03 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น B2B มูลค่า 1.23 ล้านล้านบาท B2C มูลค่า 0.41 ล้านล้านบาท และ B2G มูลค่า 0.39 ล้านล้านบาท
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เปิดเผยว่า แนวโน้มมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า เติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 2,107,692.88 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B จำนวน 1,230,160.23 ล้านบาท (58.32%) มูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2C จำนวน 474,648.91 ล้านบาท (22.57%) และมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2G จำนวน 402,883.74 ล้านบาท (19.11%)
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการคาดการณ์มูลค่าในปี 2558 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร 658,909.76 ล้านบาท (38.4%) หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 350,286.83 ล้านบาท (20.4%) และหมวดอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง 325,077.48 ล้านบาท (19.0%)
ทั้งนี้ จากการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้น พบว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย (รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างออนไลน์ของหน่วยงานภาครัฐ) มีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น โดยในปี 2558 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 3.65% โดยมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2C ในปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 15.29 % และมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2G ในปี 2558 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2557 คิดเป็น 3.96% แต่มีเพียงมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B ในปี 2558 ที่หดตัวลงจากปี 2557 เพียงเล็กน้อย คิดเป็น 0.34% ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง โดยมีผู้สนใจลงทุนค้าขาย รวมถึงใช้บริการในปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้ รวมถึงการเพิ่มขึ้นในด้านการลงทุน ด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ จะส่งผลให้ในอนาคตธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงมีแนวโน้มเติบโตไปได้อย่างมากขึ้น และยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศที่จะขยายช่องทางการค้าไปสู่รูปแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคให้มีช่องทางเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งมีนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไม่ซบเซาอีกต่อไป
สำหรับมูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2557 มีมูลค่า 2,033,493.4 ล้านบาท เป็นมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2B จำนวน 1,234,226.18 ล้านบาท (60.69%) ผู้ประกอบการ B2C จำนวน 411,715.41 ล้านบาท (20.25%) และผู้ประกอบการ B2G จำนวน 387,551.76 ล้านบาท (19.06%) โดยในส่วนของมูลค่าขายจากผู้ประกอบการ B2G จะมาจากมูลค่าที่ได้จากการสำรวจซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการขายออนไลน์กับภาครัฐโดยตรง ไม่ผ่านวิธีการประมูลงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของภาครัฐ (e-Auction) จำนวน 7,496.30 ล้านบาท (0.37%) อีกส่วนหนึ่งจะมาจากมูลค่าที่ได้จากการจัดซื้อจัดจ้างโดย e-Auction ที่ได้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง จำนวน 380,055.46 ล้านบาท (18.69%)
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า E-Commerce ในปี 2557 มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก 630,159.13 ล้านบาท (38.1%) หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 440,614.78 ล้านบาท (26.6%) และหมวดอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 264,863.87 ล้านบาท (16.02%)
ทั้งนี้ ETDA ได้ดำเนินการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนรวมทั้งสิ้น 502,676 ราย โดยเริ่มจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม 2558
ส่วนของการศึกษาเพื่อวิเคราะห์มูลค่าอี คอมเมิร์ซในประเทศไทยครั้งนี้ มีขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1.การสำรวจด้วยแบบสอบถามออนไลน์ (Online Survey) จากกลุ่มผู้ประกอบการที่มีมูลค่าการขายออนไลน์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ล้านบาทต่อปี และ 2.การสัมภาษณ์เชิงลึก (Face to Face Interview) กับกลุ่มผู้ประกอบการมีมูลค่าการขายออนไลน์มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี โดยได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงอนุมาน จัดแบ่ง หรือแสดงผลออกมาเป็น 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.การผลิต 2.การค้าปลีกและการค้าส่ง3 .การขนส่ง 4.การให้บริการที่พัก 5.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 6.การประกันภัย 7.ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ และ 8.กิจการบริการด้านอื่นๆ