เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จะเลื่อนให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 15 ธ.ค.58 เป็นวันที่ 12 พ.ย.58 หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เคาะวันประมูลไปเมื่อครั้งที่ประชุมในวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เสนอให้คณะกรรมการบริษัทลงมติว่าควรจะฟ้องหรือไม่ฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อรักษาสิทธิการใช้ความถี่ 900 MHz ให้เป็นของทีโอทีต่อไปจนถึงปี 2568
ทีโอทีในวันนี้ถือว่ายืนอยู่บนเงื่อนไขการสืบชะตาต่อชีวิต หรือการฝืนยืนแห้งตายซาก ยืนอยู่ระหว่างทาง 2 แพร่ง ที่ด้านหนึ่งความคิดยังยึดโยงอยู่กับระบบเก่า ระบบเดิมๆ ที่ตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง มีลูกไล่รับสัมปทานแบบมือรับปันผลประโยชน์ กับแนวคิดธุรกิจยุคใหม่ที่จำเป็นต้องหาพันธมิตรมาต่อลมหายใจ พัฒนาธุรกิจที่ทรัพย์สมบัติเดิมยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างรายได้ ท่ามกลางปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายผู้บริหาร และความไร้น้ำยาของบางคนที่ดันกุมหางเสือองค์กรนี้
***ประมูลดีกว่าประเทศชาติได้ประโยชน์
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ กทค.ลงมติให้ประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ 12 พ.ย.นั้น พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค.กล่าวว่า เกิดจากการท้วงติงของผู้ใหญ่หลายๆ คน ตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม รวมถึงผู้ใหญ่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ทบทวนวันในการจัดประมูลเสียใหม่ เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องจัดคนละเดือนกันทำให้เปลืองงบประมาณในการจัดประมูล ประกอบกับการเตรียมการเพื่อประมูลที่ทาง กสทช.เตรียมการล่วงหน้าไว้เสร็จก่อนเวลา จึงได้ทบทวน และทำตามที่ผู้ใหญ่เสนอ ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะจัดวันเดียวกันกับการประมูลคลื่น 1800 MHz แต่ก็เกรงว่าจะมีเวลาไม่พอ จึงขอขยับเป็นวันรุ่งขึ้นแทน และได้เสนอให้ ครม.รับทราบเรียบร้อยแล้ว
ส่วนเรื่องทีโอทีจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง กสทช.นั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีผลอย่างไร ขึ้นอยู่กับทีโอทีว่าจะฟ้องในแง่ไหน โดย กสทช.มั่นใจว่าทำในสิ่งที่ถูกต้อง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ที่มีความชัดเจนว่าคลื่นต้องนำมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูลและจะเป็นประโยชน์ต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล
ทั้งนี้ หากมีการประมูลคลื่น 900 MHz จะช่วยให้มีเม็ดเงินไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจ และมีเงินส่งให้รัฐมหาศาล โดยประมาณการจะมีเงินให้รัฐจากรายได้ของการประมูลคลื่น 2 ใบอนุญาตที่ ประมาณ 3.65 หมื่นล้านบาท และสร้างเงินสะพัดในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกเกือบแสนล้านบาท โดยคิดจากการลงทุนด้านโครงข่ายที่ใบอนุญาตละ 4 หมื่นล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา กสทช.เปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ซึ่งมีเอกชน 4 รายเดิมที่ยื่นประมูลความถี่ 1800 MHz เข้ายื่นเอกสาร ประกอบด้วย บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กทค.ให้ความเห็นว่า การฟ้องร้องต่อศาลปกครองของทีโอทีนั้นต้องอยู่ที่ว่าเนื้อหาในการฟ้องคืออะไร หากอ้างในเรื่องของสิทธิในการถือครองคลื่น 900 MHz มีความเห็นว่ามีน้ำหนักน้อยไป เพราะกฎหมายของ กสทช.บอกว่าต้องนำคลื่นมาจัดสรรใหม่ด้วยการประมูล หรือจะมาอ้างว่าแผนแม่บทของ กสทช.ผิด ก็ควรมีการท้วงติงไปตั้งแต่ 3 ปีก่อนที่ กสทช.ออกแผนมาแล้ว เพราะเมื่อแผนแม่บทออกมาถือเป็นกฎหมายปกครองที่ต้องปฏิบัติตาม
“ทีโอที ควรเลือกว่าจะฟ้อง หรือเจรจาหาพันธมิตรกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เพราะหากยังมีข้อพิพาท การเจรจาจะจบลงได้อย่างไร และทีโอทีจะเดินทางรอดทางไหน”
สอดคล้องต่อคำพูดที่หนักแน่นของ บรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กล่าวว่า ทีโอทีเป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่น่าเป็นห่วง และต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูองค์กร เรื่องคลื่น 900 MHz ทีโอทีควรถอย เพราะทีโอทีเคยพิสูจน์มาแล้วในการบริหารคลื่น 2100 MHz ด้วยตัวเอง ลงทุนไป 2 หมื่นล้านบาท มีลูกค้าเพียง 4.7 แสนราย เมื่อแข่งกับเอกชนปรากฏว่า เอกชนมีลูกค้ารวมกันถึง 38 ล้านราย เป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพของทีโอทีว่าควรถอย
ขณะที่ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นสิทธิของทีโอที แต่อยากให้ทีโอทีหาทางรอดด้วยการนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้ที่ยั่งยืนขององค์กร ซึ่งล่าสุด กระทรวงไอซีทีได้เจรจากับ กสทช.เพื่อให้ทีโอทีสามารถนำคลื่น 2300 MHz มาอัปเกรดเทคโนโลยีเพื่อให้บริการบรอดแบนด์ไปจนถึงปี 68
ทั้งนี้ กสทช.ขอให้ทีโอทีเสนอแผนธุรกิจมาให้สำนักงาน กสทช.เพื่อนำแผนดังกล่าวพิจารณาในที่ประชุม กทค.ในวันที่ 29 ต.ค.นี้
***ประเคนความถี่จะเสียหาย
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ประเด็นการขอคงสิทธิการใช้งานคลื่น 900 MHz ของทีโอทีนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายหลายอย่าง เช่น 1.รัฐบาลขาดโอกาสรายได้จากการนำคลื่น 900 MHz มาประมูลเพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐเป็นจำนวนหลายหมื่นล้าน 2.อุตสาหกรรมขาดโอกาสในการลงทุนสร้างโครงข่ายบนคลื่น 900 MHz (ถ้าทีโอทีลงทุนเองจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้น) เป็นจำนวนหลายหมื่นล้าน และขาดโอกาสสร้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ หลายพันตำแหน่ง 3.อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องขาดโอกาสที่จะขยายพื้นที่บริการบนโครงข่ายใหม่ของคลื่น 900 MHz เป็นจำนวนแสนล้าน และขาดโอกาสสร้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ หลายหมื่นตำแหน่ง
4.ก่อให้เกิดปัญหาการกักตุนคลื่นความถี่ (Spectrum Hoarding) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน โดย ทีโอที นอกเหนือจากคลื่นย่าน 900 MHz แล้วยังมีคลื่นความถี่ย่านอื่นเป็นจำนวนมากที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็น 3G หรือ 4G ได้ และสามารถมีสิทธิใช้งานได้จนถึงปี 68 ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHzจำนวน 15x2 MHz ที่ทีโอทีได้สิทธิการใช้มาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพียง 400,000 ราย คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ที่มีขนาด 64x1 MHz สามารถให้บริการ 4G TD-LTE ได้ คลื่นความถี่ย่าน 1900 MHz ที่มีขนาด 15x1 MHz สามารถให้บริการ 4G TD-LTE ได้ และ 5.ราคาการให้บริการต่อประชาชนบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ผ่านการประมูลให้บริการประชาชนบนเทคโนโลยี 3G, 4G ในราคา 84 สตางค์ต่อนาที และในการประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz ผู้ชนะการประมูลจะมีเงื่อนไขในการลดราคาการให้บริการลงไปที่ 75 สตางค์ต่อนาที ในขณะที่คลื่นย่าน 900 MHz ที่อยู่ใต้สัมปทานทีโอที มีการให้บริการที่ 99 สตางค์ต่อนาที
***ทีโอทีลังเล ฟ้อง-ไม่ฟ้อง
มนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการทีโอที เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดทีโอทียังไม่ได้ลงมติว่าจะฟ้อง กสทช.หรือไม่ เพราะบอร์ดเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และทางออกขององค์กรไม่ได้อยู่ที่การฟ้องร้องเพียงทางเดียว จึงให้ฝ่ายบริหารกลับไปวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียที่มีต่อองค์กร และอุตสาหกรรมโดยรวมว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง และสิ่งที่ทีโอทีเสนอแผนในการให้บริการบนคลื่น 900 MHz เองนั้นจะสามารถสร้างรายได้ให้ทีโอทีในอนาคตได้จริงหรือไม่ เพราะอย่างที่รู้กันว่าทีโอทีเคยมีประวัติให้บริการ 3G ความถี่ 2100 MHz แข่งกับเอกชนไม่ได้
อีกประการหนึ่งที่ต้องคิดคือ การมีตัวแปรสำคัญของคลื่น 2300 MHz ที่ รมว.ไอซีทีไปเจรจาอัปเกรดเทคโนโลยีกับ กสทช.ทำให้ทีโอทีสามารถทำธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ ต่อไปได้อีก 10 ปี จนถึงปี 68 แต่ทางฝั่งผู้บริหารเองก็ต้องไม่ลืมประเด็นการละเลยปฏิบัติหน้าที่ด้วย หากไม่ฟ้องร้องก็อาจผิดมาตรา 157 จึงยังตอบไม่ได้ว่าเป็นในทิศทางใด โดยในวันที่ 30 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ฝ่ายบริหารจะนำเสนอให้บอร์ดทีโอทีพิจารณาว่าจะลงมติฟ้องหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่าฝ่ายกฎหมายจะให้คำปรึกษาอย่างไร ฟ้องแล้วทีโอทีจะมีโอกาสแพ้ หรือชนะสูงกว่ากัน
***เร่งสรุปพาร์ตเนอร์ก่อนเจ๊ง
ส่วนประเด็นเรื่องการหาข้อสรุปในการหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งเรื่องธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และกลุ่มธุรกิจเสาโทรคมนาคมนั้นก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารเสนอให้บอร์ดรับทราบในสิ่งที่บอร์ดถามเมื่อการประชุมครั้งก่อนหน้านี้ว่า หากใช้แนวทางในการร่วมทุนจะผิด พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือไม่นั้น ซึ่งฝ่ายบริหารก็แจ้งให้ทราบแต่เพียงว่า สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการนำทรัพย์สินที่ทีโอทีมีอยู่ให้เอกชนทำ และแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทีโอทีต้องการจะทำต่อ ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น ฝ่ายบริหารจะพยายามทำให้เรื่องการหาพันธมิตรทั้ง 2 กลุ่มได้ข้อสรุปก่อนกลางเดือน พ.ย.
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การตัดสินใจล่าช้า และเลื่อนมาตลอดเวลาเป็นเพราะว่าอยู่ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ ซึ่งขณะนี้กลุ่มโทรศัพท์มือถือเหลือพันธมิตรที่เข้าตาอยู่ไม่เกิน 2 ราย จาก 5 ราย ที่เสนอมา และหาก 2 รายนี้เป็นผู้ชนะการประมูลก็จะยิ่งเป็นโอกาสให้นำคลื่น 900 MHz มาใช้ร่วมกับคลื่น 2100 MHz ที่ทีโอทีมีอยู่ได้ ส่วนเรื่องกลุ่มธุรกิจเสาโทรคมนาคม ทีโอทีมีคำตอบในใจแล้วว่าจะให้สรุปที่การให้เอกชนเช่าใช้เสาโทรคมนาคมเพื่อติดตั้งสายอากาศ
“ดังนั้น ทีโอที ต้องรีบหาข้อสรุปเรื่องพาร์ตเนอร์ให้จบก่อนสิ้นปี ไม่เช่นนั้นทีโอที เหนื่อยแน่ และการลงทุนในคลื่น 900 MHz กว่า 20,000 ล้านบาท จะถูกตีด้อยค่าทางบัญชีเป็นศูนย์ทันที”
ด้าน อนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพทีโอที กล่าวว่า สหภาพฯ ยังคงยืนยันตามเดิมที่จะขอสิทธิในการขอคลื่น 900 MHz มาบริหารเอง และขอย้ำว่า การเจรจานำคลื่น 2300 MHz มาให้ทีโอที เพื่อแลกกับ 900 MHz เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ อย่ามาหลอก เร็วๆ นี้สหภาพฯ จะนำพนักงานทีโอทีทั่วประเทศเดินทางมาคัดค้านที่สำนักงานใหญ่อย่างแน่นอน
สุดท้าย การประมูล หรือการต่อสู้เพื่อให้คนมาประเคนความถี่ 900 MHz อาจเป็นบทสรุปว่า อยากเห็นองค์กรนี้เป็นอย่างไรในอนาคต
Company Related Link :
กสทช.