“ปีวอก” ช่างเป็นปีที่วงการโทรคมนาคมอลเวง เสียจริงๆ เพราะหลังการประมูลคลื่น1800 MHz ผู้ชนะทั้ง 2 ราย อย่าง เอไอเอส และ ทรู ก็ต้องเร่งวางโครงข่าย พร้อมทั้งประกาศความเป็นผู้นำในตลาดเพื่อให้พื้นที่ในการให้บริการครอบคลุมมากที่สุด
ขณะที่คลื่น 900 MHz ที่มีการเคาะราคากันสูงลิ่ว สุดท้ายคนชนะอย่างแจส กลับทิ้งใบอนุญาตไปซะเฉยๆ ขณะที่ฐานลูกค้าเดิมที่ค้างอยู่ในระบบกับเอไอเอส ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีค้างอยู่ประมาณ 4 แสนเลขหมาย ก็หวั่นว่าซิมจะดับหรือไม่ เพราะเมื่อทรู ผู้ที่ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz อีกใบอนุญาตหนึ่ง มารับใบอนุญาตก็จะทำให้ซิมดับทันที ทำให้เอไอเอสเองต้องฟ้องกสทช.เพื่อให้ศาลคุ้มครองผู้ใช้งานชั่วคราวให้สามารถใช้งานได้อีก 3 เดือน จนกว่าจะมีรายใหม่ได้รับใบอนุญาต
แต่ทว่าคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ประกาศใช้ม. 44 ออกมาก่อนศาลจะตัดสินเพื่อช่วยคุ้มครองให้มีการใช้งานต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.59 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จะได้ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รอบใหม่ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว เอไอเอส ก็คือ โอเปอเรเตอร์ผู้เดียวที่เดินมาเอาใบอนุญาตคลื่นดังกล่าวไปเองก็ตาม แต่กว่าเรื่องราวจะลงเอยก็เล่นเอางงงวยไปตามๆกัน
***เหนื่อยที่สุดในรอบ 25 ปี
“ต้องบอกว่าปีนี้ เป็นปีที่เอไอเอส เหนื่อยที่สุด ในรอบ 25 ปี มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นกับเอไอเอส ขณะที่เราก็ต้องเร่งขยายเน็ตเวิร์ก ปีนี้เราลงทุน 4 หมื่นล้าน เราต้องทำให้เน็ตเวิร์ก 4G และ 3G ครอบคลุม 98% ของประชากร หรือเทียบเท่าการให้บริการ 2G เดิม ซึ่งเร็วกว่าที่ กสทช. กำหนดไว้เดิมถึง 1 ปี” สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าว
ที่ผ่านมา เอไอเอสประมูลคลื่น 1800 MHz มาได้ก็จริง แต่คลื่น 900 MHz ก็เป็นสิ่งที่เอไอเอสต้องการ ทว่าสุดท้ายเมื่อราคาถูกเคาะสูงเกินไป เอไอเอส ก็ต้องหยุด และเอไอเอสก็หันมาจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในคลื่น 2100 MHz เพื่อให้มีเน็ตเวิร์กในมือมากขึ้น แทน ซึ่งแม้ว่ากว่าจะได้ทำสัญญาทดลองกับทีโอทีล่าช้าก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วเมื่อ “แจส” ทิ้งใบอนุญาต เอไอเอสก็ตัดสินใจเสียบแทนเพราะเห็นว่าราคาที่แจสเสนอยังถูกกว่าราคาที่เอไอเอสเคาะในการประมูลครั้งก่อน
เอไอเอสใช้เงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนเน็ตเวิร์กให้ครอบคลุมอย่างเร็วที่สุด ขณะที่เรื่องการเจรจาพันธมิตรกับทีโอที และเรื่องราวการเยียวยาลูกค้าคลื่น 900 MHz ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่เช่นกัน แม้ว่าท้ายที่สุดเอไอเอสจะได้คลื่นดังกล่าวมา ก็ตาม !!!
***พนักงานต้อง 'Find U'
ถามว่าปีนี้เอไอเอสจะให้โบนัสพนักงานกี่เดือน สมชัย ตอบแต่เพียงว่า ต้องดูผลประกอบการก่อนซึ่งขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ แต่เอไอเอสไม่มีแนวคิดในการปลดพนักงานออกแน่นอน แต่จะเทรนด์พนักงานให้รับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จริงอยู่เอไอเอส เป็นเบอร์หนึ่งในแง่จำนวนลูกค้า เน็ตเวิร์ก และด้านบริการ แต่เอไอเอสต้องคิดเสมอว่าคู่แข่งคนอื่นก็ย่อมทำได้ หากเอไอเอสนิ่งเฉยไม่ปรับปรุงอะไรเลย
สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในองค์กร ภายใต้แนวคิด 'Find U' ที่ประกอบด้วย Fighting Spirits พนักงานต้องมีหัวใจนักสู้ เพื่อรับกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น ถัดมาคือ Innovation ในการมีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งวิธีการทำงาน และวิธีการให้บริการมีอินโนเวทีฟ ตามด้วย New ability ที่ต้องมีความรู้ใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อน อย่างพนักงานในศูนย์บริการ ที่ต้องมีความรู้ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มความรู้ในแง่การให้บริการฟิกซ์บรอดแบนด์ จากเดิมที่ให้บริการเฉพาะโมบายล์
และเพื่อให้ปรับตัวรับกับ Digital Service พนักงานต้องเข้าใจถึงบริการที่เอไอเอสให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการลองใช้บริการต่างๆ สุดท้ายคือ Sense of Urgency ให้พนักงานมีความรวดเร็วในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบทันทีทันใด
***โอเปอเรเตอร์ต้องเป็นพี่ใหญ่
สมชัย ให้มุมมองที่น่าสนใจถึงอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในอนาคตว่าโอเปอเรเตอร์จะไม่ได้มุ่งเน้นที่การให้บริการลูกค้าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้บริษัทกลายเป็นพี่ใหญ่ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพราะปัจจุบันโอเปอเรเตอร์แต่ละรายมีข้อมูลของลูกค้าอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ให้ละเอียด
“ปัจจุบันผู้ให้บริการมือถือจะนำข้อมูลการใช้งานของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาการโทร. ปริมาณในการใช้งานดาต้ามาวิเคราะห์ เพื่อดูถึงพฤติกรรมในการใช้งานเพื่อออกแพกเกจ หรือโปรโมชันให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค แต่ในอนาคตโอเปอเรเตอร์ต้องวิเคราะห์ข้อมูลลึกกว่านั้น ด้วยการดูเข้าไปถึงประเภทของคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคสนใจเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาช่วยพาร์ทเนอร์ในการให้บริการแก่ลูกค้า”
อนาคตของโอเปอเรเตอร์ต้องกลายเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ ผู้ผลิตวิดีโอในแต่ละท้องถิ่นเลือกใช้งาน ด้วยการนำเสนอผลประโยชน์ที่ดีกว่าไม่ว่าจะเป็นในแง่ของส่วนแบ่งรายได้ การเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมาก มาเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นได้ในอนาคต
จากเดิมเมื่อมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติเข้ามาให้บริการ และได้รับความนิยม โอเปอเรเตอร์จะมีรายได้จากค่าบริการดาต้าเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าโอเปอเเรเตอร์กลายเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม กลายเป็นพี่ใหญ่ในอุตสาหกรรม ก็จะช่วยทั้งในแง่ของการสร้างรายได้เพิ่มเติม และช่วยผู้ผลิตคอนเทนต์ในท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยแนวคิดดังกล่าว ได้ถูกนำเสนอให้แก่ระดับซีอีโอของ กลุ่มสิงเทล (Singtel) ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และกำลังอยู่ในช่วงศึกษาถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้น ทำให้เห็นได้ว่าการให้บริการของเอไอเอสในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นรองผู้ให้บริการรายอื่นๆในภูมิภาค และยังมีแนวคิดที่น่าสนใจเพื่อขยายบริการออกไปในอนาคต
แน่นอนว่า ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ส่งผลให้ในอนาคต เอไอเอส ต้องมีการตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาเพื่อทำการศึกษาข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคแบบเจาะลึกมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือต้องอยู่ภายใต้สิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่จะไม่เข้าไปละเมิด และเน้นไปที่การนำเสนอแต่สิ่งที่ผู้บริโภคสนใจ และได้ประโยชน์
แม้ว่าปีนี้จะเจอความท้าทายที่ทำให้ “เหนื่อย” ที่สุดในรอบ 25 ปี แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า ปีหน้า จะ “ไม่เหนื่อย” เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเสพข้อมูลดิจิตอลมากขึ้น และคลื่นที่ยังมีให้ประมูลอีกมากตามแผนที่กสทช.กำหนดไว้