อินเทล เดินหน้าผลักดันตลาดพีซี หลังทยอยเปิดตัวหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ 6th Generation ในภูมิภาคเอเชียแปชิฟิก และญี่ปุ่น พร้อมกับการเปิดตัวที่ประเทศไทย เชื่อ 3 ปัจจัยหลักจะมาช่วยกระตุ้นตลาดพีซี คือ ซีพียูใหม่ของอินเทล ระบบปฏิบัติการใหม่อย่างวินโดวส์ 10 และเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่จากผู้ผลิตทั้งหลาย
เกรกอรี่ ไบรอัน รองประธาน และผู้จัดการทั่วไปด้านแพลตฟอร์มสำหรับลูกค้าเดสก์ท็อป บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาจากผลสำรวจรวมถึงการคาดการณ์ต่างๆ ที่ระบุว่าตลาดพีซีกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็เชื่อว่ายังมีตลาดบางกลุ่มที่ยังมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดอยู่ พร้อมกับมีปัจจัยสำคัญที่จะมากระตุ้นตลาดในช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า น่าจะทำให้ตลาดพีซีกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
“ในฝั่งของผู้ผลิตหน่วยประมวลผลอย่างอินเทล แน่นอนว่าเมื่อมีการเปิดตัวหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น และได้ร่วมมือกับทางไมโครซอฟท์ในการพัฒนาฟังก์ชันเฉพาะมาใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 เช่นเดียวกับความร่วมมือกับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด”
อินเทล มองว่า จากโอกาสที่ทั้ง 3 ฝ่ายคือ ผู้ผลิตชิปเซ็ต ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ และผู้ผลิตเครื่องต่างอยู่ในช่วงอัดสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดพีซีกลับคืนมา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ใช้งานอยู่เดิม เมื่อได้เห็นประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้นก็จะเกิดความต้องการในการเปลี่ยนเครื่อง
“ที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดรวมพีซีจะตกลง แต่ก็ยังมีในกลุ่มของโน้ตบุ๊ก 2 in 1 ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดออลอินวันพีซี ในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการคอมพิวเตอร์ไปใช้งานในบ้าน และที่สำคัญคือ กลุ่มคอเกมที่จะมีอัตราเฉลี่ยในการเปลี่ยนเครื่องใหม่ทุก 2-3 ปี”
เพียงแต่ด้วยการที่ปัจจุบันผู้บริโภคจะมองว่า พีซี ที่ใช้งานอยู่ยังสามารถใช้งานได้ ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยน และหันไปซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่แทน ทำให้อินเทล และเหล่าพันธมิตรต้องหันกลับมากระตุ้นกลุ่มผู้ใช้งานเฉพาะให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการพยายามนำเสนอแง่มุมต่างๆ ในการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งาน นอกเหนือไปจากการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน
ล่าสุด อินเทลได้จัดงานเปิดตัวหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ Intel 6th Generation Processer (ในชื่อรหัส Skylake) ที่ครอบคลุมกลุ่มสินค้าใน Intel Core M Intel Core I และ Intel Xeon ในการออกเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก เดสก์ท็อป รวมถึงเครื่องเวิร์กสเตชันประสิทธิภาพสูง และเครื่องเซิร์ฟเวอร์ ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเลือกจัดงานที่ ซิดนีย์ โอเปรา เฮาส์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เพิ่งเป็นพันธมิตรกับทางอินเทลในการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน
โดยการแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ส่วนของอินเทลจะเพิ่มความชัดเจนให้มากยิ่งขึ้น อย่าง Intel Core M ในอนาคตก็จะมีออกเป็นรุ่น Core M3 Core M5 และ Core M7 ในการแบ่งรุ่นของซีพียูในซีรีส์นี้ เช่นเดียวกับที่มีการแบ่งในกลุ่ม Core i3 Core i5 และ Core i7
ซึ่งพื้นฐานของ Intel Core M จะจับกลุ่มผู้ที่ต้องการโน้ตบุ๊ก หรือแท็บเล็ตที่บางมากๆ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนส่งผลให้ไม่ต้องใส่พัดลมมาใช้งานควบคู่ไปด้วย และที่สำคัญคือเรื่องของแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น
ขณะที่กลุ่ม Intel Core i ก็จะเน้นไปที่กลุ่มโน้ตบุ๊กที่มีขนาดบาง เบา แต่จะถือว่าหนา และหนักกว่ารุ่น Core M เน้นที่ประสิทธิภาพการใช้งานที่ครอบคลุม โดยเฉพาะในรุ่น Core i7 ทางอินเทลจะมีการออกรุ่นที่รองรับการโอเวอร์คล็อก (Overclock) จากโรงงานมาให้ผู้ใช้เข้าไปปรับเร่งประสิทธิภาพเครื่องในขณะที่ต้องการรีดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องให้มากขึ้น
“ตอนนี้จะเห็นว่าฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์เริ่มหันมาใช้โน้ตบุ๊กในการประมวลผลมากยิ่งขึ้น การเพิ่มความสามารถในการโอเวอร์คล็อกเข้ามาจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเรนเดอร์งานภาพเคลื่อนไหว หรือภาพ 3 มิติได้รวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมก็จะสามารถใช้งานโน้ตบุ๊กรีดประสิทธิภาพของเกมออกมาได้เช่นเดียวกัน”
แน่นอนว่าในกลุ่มลูกค้าเดสก์ท็อปก็ยังคงเป็นกลุ่มของ Intel Core i เช่นเดียวกัน โดยในรุ่นใหม่นอกจากจะได้รับความสามารถในแง่การประมวลผลที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็จะเพิ่มในส่วนของการประมวลผลภาพที่รองรับระดับ 4K ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตัดต่อวิดีโอได้รวดเร็วมากขึ้น หรือทำงานในกลุ่มโปรดักชันได้ดีขึ้น
ในขณะที่กลุ่มของ Intel Xeon ที่เดิมจะอยู่ในกลุ่มคอมพิวเตอร์ที่เป็นเซิร์ฟเวอร์ ก็ได้มีการแตกไลน์ออกมาจับกลุ่มลูกค้าโน้ตบุ๊กในระดับเวิร์กสเตชันด้วย โดยจะเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นวิศวกรต้องการใช้งานโน้ตบุ๊กประสิทธิภาพสูงระดับเดียวกับเดสก์ท็อปแต่ก็สามารถพกพาด้วยได้
***เน้นโชว์นำไปใช้งานจริง
ภายในงานเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่ของอินเทล ได้มีการจำลองการใช้งานในกลุ่มผู้ใช้ที่ถือเป็นเมนสตรีมในการนำซีพียูที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปใช้ อย่างกลุ่มโปรดิวเซอร์ และดีเจ ที่สามารถนำโน้ตบุ๊กมาช่วยสร้างคอนเทนต์เพลงคุณภาพสูงออกมา กลุ่มผู้ใช้งานแอ็กชันแอดเวนเจอร์ที่มีการบันทึกภาพวิดีโอระดับ 4K และนำมาใช้ในการตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูง กลุ่มคอเกมที่สามารถต่อเกมออก 3 จอภาพที่ให้ความละเอียดระดับ 4K
นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการทำงานร่วมกันระหว่างอินเทล และไมโครซอฟท์ ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 กับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายหลักอย่าง เอเซอร์ เอซุส เดลล์ โตชิบา เอชพี ที่มีไลน์สินค้าที่เป็นโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่พร้อมออกวางจำหน่าย
อย่างเช่นในแง่ของความปลอดภัย สามารถนำเทคโนโลยี Intel Truekey มาช่วยในการปลดล็อกตัวเครื่องด้วยใบหน้า การนำเทคโนโลยี Intel RealSense ในการทำให้กล้องถ่ายภาพสามารถบันทึกภาพออกมาในรูปแบบ 3 มิติได้ทันที รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ในวินโดวส์ 10 อย่างการปรับโหมดใช้งานระหว่างเดสก์ท็อป และแท็บเล็ตอัตโนมัติในเครื่องที่เป็น 2 in 1 การทำงานร่วมกับตอบรับคำสั่งเสียง Cortana เป็นต้น
และยังมีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของอินเทลที่นำซีพียูรุ่นใหม่ไปใช้อย่าง Intel NUC ที่เป็นคอมพิวเตอร์ที่มากับพอร์ตการเชื่อมต่อครบถ้วนในขนาดเล็ก IntelStick คอมพ์จิ๋วที่เชื่อมต่อกับจอผ่าน HDMI ให้กลายเป็นคอมพิวเตอร์ได้ทันที
***พันธมิตรซิดนีย์ โอเปรา เฮาส์ สร้างพลังผลักดันแบรนด์เทคโนโลยี
เนื่องจากตัวหน่วยประมวลผล 6th Gen ได้มีการเปิดตัวในระดับโลกไปก่อนหน้านี้ ทำให้ทางอินเทลมีการค้นหาพันธมิตรที่จะนำหน่วยประมวลผลไปใช้งาน ประกอบกับทางซิดนีย์ โอเปรา เฮาส์ มีแผนที่จะเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในการใช้งานจากเดิมที่เป็นแอนะล็อกควบคู่กับดิจิตอล มาเป็นแบบดิจิตอลเต็มตัว ทำให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวขึ้นมา
ทางอินเทลได้เข้าไปสนับสนุนในส่วนของ Intel Broadcast Studio ที่ถือเป็นห้องควบคุมเวทีการแสดงต่างๆ ในซิดนีย์ โอเปรา เฮาส์ ที่มีผู้เข้าชมมากกว่า 1.2 ล้านคนในแต่ละปี จาก Concert Hall รองรับผู้เข้าชม 2,679 ที่นั่ง Joan Sutherland Theatre 1,507 ที่นั่ง Drama Theatre 544 ที่นั่ง Playhouse 398 ที่นั่ง The Studio 400 ที่นั่ง และ Utzon Room จุคนได้ราว 210 คน รวมเป็นทั้งหมด 5,738 ที่นั่ง เพื่อนำคอนเทนต์ที่ได้บันทึกมาตัดต่อ รวมถึงการถ่ายทอดสดผ่านระบบดิจิตอลได้ทันที
แน่นอนว่าการมาของหน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ของอินเทล ทำให้ทางโอเปรา เฮาส์ สามารถส่งต่อข้อมูลผ่านไฟเบอร์ออปติกมาทำการประมวลผลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมกับคุณภาพของคอนเทนต์ที่ได้ก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
***อินเทล มั่นใจตลาดไทยเริ่มฟื้นตัว
สนธิญา หนูจีนเส้ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ชิปประมวลผลรุ่นใหม่เจเนอเรชันที่ 6 (Intel 6th Generation Processer) จะช่วยให้ตลาดคึกคักขึ้น และก่อให้เกิดการซื้อขายรอบใหม่ โดยน่าจะเริ่มเห็นได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ไปถึงกลางปีหน้า เนื่องจากจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมารองรับ นอกจากนี้ เมื่อมองทางด้านความมั่นใจทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคกำลังจะเริ่มเป็นบวก น่าจะทำให้การซื้อขายในตลาดคึกคักมากขึ้น
ทั้งนี้ ไอดีซีประเมินว่า ตลาดรวมโน้ตบุ๊ก และเดสก์ท็อปในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2.55 ล้านเครื่อง หรือโตขึ้นแค่ 2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มียอดขาย 2.5 ล้านเครื่อง ซึ่งคาดว่ายอดขายในปีหน้าจะเติบโตขึ้น และไม่น่าลดลงไปจากนี้อีกแล้ว โดยเมื่อแบ่งสัดส่วนตลาดจะแบ่งได้เป็นตลาดคอนซูเมอร์ 65% และถ้ารวมเอสเอ็มบีที่ซื้อจากรีเทลก็จะเป็น 80% ที่เหลือเป็นราชการ และองค์กรขนาดใหญ่ 20%
“ปัจจุบันตลาดทดแทนเครื่องพีซีนั้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 ล้านเครื่องที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คิดจากการซื้อเมื่อ 5-8 ปีที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนเครื่องส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ใช้โน้ตบุ๊กอยู่แล้ว และสนใจต่อวินโดวส์ 10 รวมไปถึงกลุ่มพวกเล่นเกม ไฮเอนด์ ที่พร้อมจะเปลี่ยนเครื่องที่รับกับชิปประมวลผลรุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์ 5 ราย พร้อมวางตลาดแล้ว 20-30 รุ่น เช่น เดลล์ เอซุส เอเซอร์ เอชพี เลอโนโว โดยคาดว่าจะเห็นครบทุกไลน์ผลิตภัณฑ์ในประมาณไตรมาสแรกของปีหน้า”
อินเทลคอร์โปรเซสเซอร์ เจเนอเรชันที่ 6 จะออกทำตลาดภายใต้ชื่อ Intel Core M3, M5 และ M7 มีคุณสมบัติที่จะทำให้อุปกรณ์บางและเบากว่าเดิม ซึ่งอาจจะบางและเบากว่าเดิมถึงเท่าตัว เพราะมีขนาดเพียง 14 นาโนเมตร พร้อมใช้งานอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเร็วขึ้น 2.5 เท่า แบตเตอรี่ทนทานขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีสมรรถนะด้านกราฟิกดีกว่าเดิม 30 เท่าตัว เพื่อให้การเล่นเกม และรับชมคอนเทนต์วิดีโอได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานเข้ากับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 เพื่อสร้างการใช้งานที่สะดวกสบาย และปลอดภัยมากขึ้นโดยชิปตัวใหม่นี้รองรับทุกอุปกรณ์ตั้งแต่ อินเทลสติ๊ก ไปจนถึงเดสก์ท็อปออลอินวัน และยังมีชิปอินเทลซีออนที่จะใช้กับเวิร์กสเตชันขนาดพกพา นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการใช้งานใหม่ๆ เช่น ดิจิตอลไซน์เนส หรือแม้แต่การที่ผู้ใช้งานทั่วไปนำอินเทลสติ๊ก ไปใช้งานเป็นมีเดียเพลเยอร์ เปิดแอปพลิเคชันบนทีวี เล่นภาพยนตร์สตรีมมิ่ง รวมไปถึงการรองรับเทคโนโลยีธันเดอร์โบลท์ 3 เพื่อให้ยูเอสบี ไทพ์-ซี สามารถรองรับทุกอุปกรณ์ได้ในพอร์ตเดียว
ทั้งนี้ เกมที่เล่นไม่ได้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ขณะนี้เล่นได้แล้ว ส่วนในฝั่งโปรดักชัน 3D หรืออัปเกรดกราฟิกเป็น 4K นั้น ชิปรุ่นใหม่จะสร้างความรวดเร็วในการทำงานได้มากกว่าเดิม เช่น กรณีการแต่งภาพด้วยฟิลเตอร์ ที่อาจจะเร็วขึ้นถึง 45%
นอกจากนี้ อินเทลยังนำเสนอนวัตกรรมใหม่สำหรับอุปกรณ์ในกลุ่มโมบาย ในชิปตระกูล K ด้วยการโอเวอร์คล็อก ชิป อินเทลคอร์ i5 แบบควอตคอร์ ที่จะช่วยให้การใช้งานหลายแอปพร้อมกันรวดเร็วขึ้น 60% และชิปอินเทล ซีออน E3 สำหรับแล็ปท็อปเพื่อการทำงานในระดับเวิร์กสเตชัน
อินเทล ยังได้เตรียมตัวเปิดโปรเซสเซอร์รุ่นที่ 6 นี้อีกมากกว่า 48 รุ่น ที่จะมาพร้อมหน่วยประมวลผลกราฟิก อินเทล ไอริส และไอริส โปร เช่นเดียวกับ อินเทล ซีออน โปรเซสเซอร์ สำหรับเวิร์กสเตชันแบบพกพา และอินเทล วีโปร สำหรับภาคธุรกิจ ก็จะทยอยออกวางจำหน่ายเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของ Internet of Things หรือ IoT ที่ใช้อินเทลคอร์โปรเซสเซอร์รุ่นที่ 6 จะออกมาอีกถึง 25 รุ่น ตั้งแต่อุปกรณ์ปลายทาง ไปจนถึงระบบคลาวด์ที่เป็นศูนย์กลาง สามารถตอบสนองการใช้งานทั้งวงการค้าปลีก การแพทย์ อุตสาหกรรรม หรือในกลุ่มรักษาความปลอดภัย
Company Related Link :
Intel