“อีริคสัน” เผยพฤติกรรมผู้ใช้บริโภคหันมารับชมคอนเทนต์วิดีโอผ่านโมบายดีไวซ์เพิ่มสูงขึ้น โดยคิดเป็นดาต้าทราฟฟิกในสัดส่วนกว่า 50% ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2020 พร้อมระบุผู้ให้บริการคอนเทนต์ต้องปรับตัวให้รับต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อีริคสันได้มีการเปิดเผยผลสำรวจผู้บริโภคในด้านอุตสาหกรรมทีวีและมีเดีย จากการสำรวจจากประชากรกว่า 2.25 หมื่นคน เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมในการรับชมทีวีของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการรับชมผ่านสมาร์ทดีไวซ์มากยิ่งขึ้น
“อีริคสัน เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในด้านของทีวี และมีเดียตั้งแต่ปี 2007 ในการทำอุปกรณ์กระจายสัญญาณ บริษัทให้คำปรึกษา ระบบบริหารจัดการการถ่ายทอดสด การให้บริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) ดังนั้น การทำผลสำรวจทางด้านทีวีจึงเกิดขึ้นเพื่อให้อุตสาหกรรมมีการหล่อหลอมเข้าหากันระหว่างมีเดีย และโทรคมนาคม”
โดยข้อมูลหลักที่คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2020 จะมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 9 พันล้านเครื่อง ปริมาณการใช้งานดาต้าผ่านมือถือเพิ่มขึ้น 12 เท่า ในช่วงปี 2013-2019 โดย 60% ของดาต้าทราฟฟิกจะมาจากวิดีโอ นอกจากนี้ สังคมแห่งโลกเครือข่ายจะเกิดมากขึ้นผ่าน 2.6 หมื่นล้านอุปกรณ์ โดยในจำนวนนี้ 1.5 หมื่นล้านรองรับการแสดงผลวิดีโอ
“เมื่อดูถึงข้อมูลดังกล่าวจะเริ่มเห็นแนวโน้มในการรวมตัวของผู้ให้บริการทางโทรคม และคอนเทนต์ในการนำคอนเทนต์มาถ่ายทอดสดบนสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการให้บริการแบบออนดีมานด์ ที่ผู้ใช้สามารถรับชมที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้”
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่ไม่มีเครือข่าย (OTT) แต่เป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตที่เป็นผู้ให้บริการหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดมากขึ้น เพราะมีการประเมินไว้ว่า ตลาดนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020 และถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก
ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจภายใน Ericsson Consumerlab TV & Media Report 2015 พบว่า จากเทรนด์การใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนการใช้งานดาต้าเกือบๆ 50% จะมาจากคอนเทนต์ที่เป็นเป็นวิดีโอ แต่ถ้าดูในการเชื่อมต่อทั้งรูปแบบที่เป็นไร้สาย และมีสายรวมกันจะมีการสัดส่วนการใช้งานเกือบ 80% เป็นวิดีโอ
โดยแบ่งผลการสำรวจที่น่าสนใจ คือ 1.การใช้บริการสตรีมมิ่งผ่านโครงข่ายมากยิ่งขึ้น 2.การดูทีวียังคงมีความสำคัญอยู่ และไม่คิดว่าจะหายไป 3.การดูซีรีส์ หรือภาพยนตร์ผ่านการถ่ายทอดจะลดน้อยลง และหันไปดูแบบออนดีมานด์มากยิ่งขึ้น 4.พฤติกรรมการดูทีวีของประชากรยุคใหม่แตกต่างไป โดยเฉพาะในช่วงปี 2011-2015 มีการดูผ่านสมาร์ทดีไวซ์กว่า 70% ในช่วงอายุ 16-34 ปี และ 5.ความต้องการในการเข้าถึงคอนเทนต์หลากหลายขึ้น
ผลสำรวจนี้จะสะท้อนถึงเทรนด์ในประเทศไทยว่า สอดคล้องต่อผู้บริโภคชาวไทย และมีบางส่วนที่มีพฤติกรรมการใช้งานสูงกว่าเทรนด์ทั่วโลก โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ การขยายตัวของชุมชนเมือง และการเติบโตของปริมาณผู้ใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น
“พฤติกรรมการรับชมโมบายทีวีของไทยในส่วนของการรับชมคลิปสั้นๆ ผ่านสมาร์ทโฟนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สูงถึง 66% ในขณะที่ทั่วโลกจะอยู่ราว 57% แต่ถ้าเป็นการดูคลิปที่มีระยะเวลายาว 44% จะดูจนจบ ในขณะที่ทั่วโลกจะอยู่ที่ราว 39%”
อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความเร็วในการใช้งานโมบายดาต้าจะช่วยเพิ่มอัตราการรับชมผ่านโมบายมากขึ้น เพราะในการใช้งานผ่านเครือข่าย 3G จะมีสัดส่วนราว 68% ขณะที่ผู้ที่ใช้งานเครือข่าย 4G จะรับชมสูงถึง 86% ทำให้เห็นว่าความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีผลต่อการรับชมอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเพียงแค่คอนเทนต์ท้องถิ่น แต่รวมไปถึงการเข้าถึงคอนเทนต์จากทั่วโลก ดังนั้น ผู้ให้บริการทีวีในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัว อย่างเช่น การรับชมต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้เริ่มเห็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น และเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตแบบรวดเร็ว
“ตอนนี้ 50% ของผู้บริโภคมีการดูวิดีโอออนดีมานด์ผ่านสตรีมมิ่งวันละครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2012 ที่อยู่ราว 30% โดยรวมแล้วในแต่ละสัปดาห์จะมีการรับชมนานขึ้นเป็น 6 ชั่วโมงจากเดิมที่อยู่เกือบๆ 3 ชั่วโมงในปี 2011”
ขณะที่ในมุมของผู้ให้บริการควรที่จะเข้าใจถึงข้อจำกัด และอุปสรรคของผู้บริโภคในการเข้าใช้บริการ มีอยู่หลักๆ 3 ส่วน คือ ศักยภาพในการใช้จ่ายด้านมีเดีย เพราะค่าใช้จ่ายในการสร้างความบันเทิงเฉลี่ยทั่วโลกจะอยู่ที่ราว 105 เหรียญสหรัฐต่อเดือน มีอัตราการเติบโตประมาณ 5% ต่อปี
“ผู้บริโภคที่เคยใช้งานทีวีแบบบอกรับสมาชิกรายเดือนจะเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น และมีโฆษณาเพิ่มขึ้น ทำให้กว่า 50% ของคนกลุ่มนี้ไม่อยากจ่ายเงินเพื่อใช้บริการ แต่อย่างไรก็ตาม กว่า 22% ของกลุ่มคนที่ไม่เคยจ่ายค่าบริการมีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ให้บริการแบบ OTT”
ถัดมาคือ ความคาดหวังของไลฟ์สไตล์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิดว่าต้องการทันที ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ รวมถึงการเข้าถึงมัลติสกรีน ในระดับราคาต้นทุนที่สามารถเข้าถึงได้ สุดท้ายคือ ความหลากหลายของผู้บริโภค ทำให้ผู้ให้บริการต้องมีการตอบโจทย์การใช้งานของทุกกลุ่มผู้ใช้
ที่น่าสนใจคือ ผู้ให้บริการคอนเทนต์ในต่างประเทศจะเปลี่ยนวิธีการในการให้บริการ โดยเฉพาะการฉายซีรีส์ ที่เปลี่ยนจากการฉายสัปดาห์ละตอน กลายเป็นการปล่อยคอนเทนต์ออกมารวดเดียวจบผ่านผู้ให้บริการสตรีมมิ่งวิดีโอออนดีมานด์ แต่ก็ยังไม่ทิ้งการฉายผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งจะตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน
“ผลสำรวจนี้ทำให้ระบุได้ว่า การมาของดิจิตอลทีวีในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในทุกแง่มุมให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะการฉายผ่านหน้าจอโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับผู้ให้บริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกที่ต้องนำเทรนด์เหล่านี้ไปปรับใช้งาน โดยเฉพาะเรื่องของคอนเทนต์ที่จะมีความสำคัญมากที่สุด”
Company Relate Link :
Ericsson