อีริคสันเผยแนวโน้มการใช้งานดาต้าผ่านอุปกรณ์สื่อสารเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด คาดในปี 2019 วิดีโอจะกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ถูกใช้งานผ่านโมบายล์บรอดแบนด์มากกว่า 50% พร้อมร่วมมือพันธมิตรลุยขยาย 4G ในไทย
นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าตัวเทคโนโลยีการสื่อสารจะมีการนำไปใช้ในวงกว้างแบบก้าวกระโดดในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ซึ่งถือเป็นแนวคิดสำคัญของอีริคสันที่มุ่งเน้นมาตลอด
โดยอีริคสันคาดว่าจากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อการสื่อสารจาก 5 พันล้านรายในปี 2010 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านรายภายในปี 2020 ขณะเดียวกัน ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2019 จะมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ทั้งหมด 9.3 พันล้านราย โดยภายในจำนวนนี้จะมีโมบายล์บรอดแบนด์ราว 8 พันล้านเลขหมาย โดยแบ่งเป็นสมาร์ทโฟนราว 5.6 พันล้านราย และเป็นพีซี และแท็บเล็ตราว 750 ล้านราย
ในขณะที่ปี 2013 ที่ผ่านมามีรายงานสรุปรวมยอดผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือว่ามีผู้ใช้ทั่วโลกอยู่ราว 6.4 พันล้านเลขหมาย โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ปี 2013 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 109 ล้านราย ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานประมาณ 4.5 พันล้านคนเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจลงไปถึงในแง่ของปริมาณการใช้งานดาต้าต่อเดือนเมื่อสิ้นปี 2013 ผ่านสมาร์ทโฟนมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6 GB ต่อเดือนต่อคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.2 GB ภายในปี 2019 ส่วนแท็บเล็ตจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1 GB และจะเพิ่มเป็น 4.5 GB ส่วนการใช้งานพีซีที่เชื่อมต่อโมบายล์ดาต้าจาก 3.3 GB จะเพิ่มเป็น 13 GB
“อัตราเฉลี่ยการใช้งานดาต้าทั่วโลกจะเห็นได้ว่าค่อนข้างต่ำ เนื่องมาจากในโลกยังมีหลายประเทศที่การครอบคลุมของ 3G หรือ 4G ยังไม่ทั่วถึง แต่เชื่อว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปเชื่อมต่อผู้คนจะได้เห็นการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”
โดยคอนเทนต์หลักที่จะมีการใช้งานบนโมบายล์ดาต้าคือ การสตรีมมิ่งวิดีโอ หรือการดาวน์โหลดมัลติมีเดียที่เป็นวิดีโอ ซึ่งเชื่อว่าจะมีสัดส่วนเกิน 50% ใน 5 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกัน จากปัจจุบันที่อยู่ราว 30% แต่ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มให้บริการ 4G ในปัจจุบันแล้วมีสัดส่วนการใช้งานคอนเทนต์วิดีโอประมาณ 48%
ดังนั้นจากภาพรวมตลาดที่มีอัตราการเติบโตดังกล่าว ส่งผลให้เทรนด์ของตลาดต้องมองไปที่ 6 ส่วนสำคัญ คือ 1. คลื่นความถี่จะกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดสำหรับผู้ให้บริการ เนื่องมาจากข้อจำกัดสำคัญคือคลื่นความถี่ที่ถูกนำมาใช้จะต่ำว่า 3.5 GHz
2. ผู้ใช้งานจะไม่ได้สนใจที่สัญญาณบนหน้าจอโทรศัพท์ว่าเต็มหรือไม่เต็ม แต่ดูว่าแบนด์วิดท์ที่ส่งมาให้ในเครื่องเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในเขตเมืองเป็นหลัก เนื่องจากมีการใช้งานหนาแน่น 3. ตลาดองค์กรเริ่มให้ความสำคัญต่ออุปกรณ์พกพาไร้สายมากขึ้น 4. มีการผสานรวมโครงสร้างเน็ตเวิร์กให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น 5. อุตสาหกรรมจะมองโครงสร้างให้กลายเป็นระบบ และสุดท้ายคือ 6. การรวมกันของเทเลคอม ดาต้าคอม และมีเดีย รวมกันแล้ว
“ต่อไปผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะมองที่คุณภาพของเครือข่ายมากที่สุด รองลงมาคือในแง่ของความคุ้มค่า พื้นที่ครอบคลุมการติดต่อสื่อสาร แพกเกจที่มีให้เลือก และคอลเซ็นเตอร์”
นอกจากนี้ภายในงาน MWC 2014 ที่ผ่านมา อีริคสันได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันผ่านบริการและโซลูชันต่างๆ มากกว่าการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ เพราะมองว่าท้ายที่สุดแล้วเพียงผลิตภัณฑ์เดียวจะไม่สามารถตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคได้
โดยได้มีการนำเสนอแนวคิดอย่าง ซีโรไซต์ (Zero Site) ที่อีริคสันร่วมกับฟิลลิปส์พัฒนาออกแบบเสาโคมไฟถนนที่สามารถส่งสัญญาณ การเชื่อมต่อเครือข่ายโมบายล์บรอดแบนด์ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา 2 เรื่องสำหรับเมืองในอนาคต คือ ระบบการใช้พลังงานแสงสว่างแบบ LED ที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดพลังงาน พร้อมทั้งช่วยให้ผู้บริการเครือข่ายใช้เป็นสถานีในการส่งสัญญาณโมบายล์บรอดแบนด์เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและพื้นที่ครอบคลุมของเครือข่ายอีกด้วย
รวมถึงแนวคิดของ Small Cell as a Service ที่นำ Radio Dot System ซึ่งเป็นสถานีส่งสัญญาณที่มีกำลังส่งต่ำ ครอบคลุมพื้นที่ไม่มาก มาติดตั้งเพิ่มเติมเพื่อช่วยเสริมความสามารถของเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิมผ่านสายแลน เพื่อลดการลงทุนในการติดตั้งสถานีฐานภายในตัวตึก
“ผู้ให้บริการส่วนใหญ่สนใจแนวคิดในการนำ Radio Dot System เข้ามาใช้ ซึ่งอีริคสันจะเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดโลกช่วงไตรมาส 2 และคาดว่าจะเข้ามาในประเทศไทยภายในปีนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทางผู้กำกับดูแลใบอนุญาตด้วย เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่”
ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนของผู้ให้บริการเครือข่ายในไทย อีริคสัน ก็พร้อมที่จะซัปพอร์ตในการขยายการให้บริการ 4G อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในส่วนที่อีริคสันเป็นพันธมิตรอยู่กับทางดีแทค และกลุ่มทรู ในหลายพื้นที่
“ตอนนี้ผู้ให้บริการระบบโครงข่ายส่วนใหญ่จะแข่งขันกันที่ความรวดเร็วในการนำเสนอ ผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด ดังนั้นรายใดที่สามารถตอบสนองความต้องการของโอเปอเรเตอร์ได้เร็วที่สุดก็จะเป็นผู้นำในตลาดนี้”
Company Relate Link :
Ericsson