ดีแทค เร่ง กสทช. ดำเนินการพร้อมตอบข้อสรุปการคืนคลื่น 4.8 MHz รวมถึงการรีฟาร์มมิ่งคลื่น 1800 MHz เพื่อให้สามารถจัดสรรได้ทันก่อนการประมูล ยืนยันพร้อมเข้าร่วมประมูลทั้ง 2 คลื่นอย่างแน่นอน
ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า หลังจากที่ดีแทคมีการเสนอคืนคลื่นความถี่ และได้ส่งหนังสือยืนยันไปทางบริษัท กสท โทรคมนาคมเรียบร้อยแล้ว ก็เหลือเพียงขั้นตอนในการอนุมัติของทาง กสทช. เพื่อให้ดีแทคสามารถบริหารจัดการคลื่นได้
“ก่อนหน้านี้ วิธีการประมูลที่ทาง กสทช.กำหนดขึ้น คือ การนำคลื่น 1800 MHz ที่หมดอายุสัมปทาน 12.5 MHz ของทรูมูฟ และ 12.5 MHz ของดีพีซี มาเข้าประมูล แต่หลังจากที่ทางดีแทคทำข้อเสนอในการคืนคลื่น 4.8 MHz ไปก็มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนการประมูลมาเป็นใบละ 15 MHz”
โดยการที่ดีแทคจะคืนคลื่นจำนวน 4.8 MHz เพื่อนำไปประมูลร่วมกับ 1800 MHz จำเป็นต้องมีการย้ายคลื่นที่ดีแทคถือครองเดิม (รีฟาร์มมิ่ง) มาใช้บนช่วงคลื่นของดีพีซีเดิมแทน เมื่อย้ายสำเร็จแล้วจะทำให้ กสทช. มีคลื่น 1800 MHz นำไปประมูลใบละ 15 MHz 2 ใบ เพียงแต่เดิม กสทช.กำหนดไว้ว่า การคืนคลื่นต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 25 กันยายน 2558 ไม่เช่นนั้นทาง กสทช.ก็จะหันกลับไปใช้การประมูลวิธีแรก (ใบอนุญาตละ 12.5 MHz)
เบื้องต้น ดีแทควางระยะเวลาไว้ประมาณ 3 เดือน ในการจัดการคลื่นความถี่ โดยหลังจากที่ดีพีซี เคลียร์คลื่นเสร็จเรียบร้อย ทางดีแทคจะต้องมีการเข้าไปตรวจสอบคลื่นรบกวน (interference) ทั่วประเทศ แล้วจึงทยอยย้ายคลื่น โดยอาจจะมีการย้ายทีละครึ่ง เพื่อทดลองก่อนย้ายตามมาทั้งหมด
“ดีแทค เสนอว่า แต่เดิมที่ กสทช.กำหนดให้มีการยื่นซองประมูลล่วงหน้า ผู้เข้าร่วมประมูลก็อาจจะยื่นในรูปแบบของการประมูลคลื่นบน 15 MHz ก่อน เพราะเชื่อว่าทุกรายที่เข้าร่วมประมูลต่างต้องการคลื่นให้ครบ 15 MHz มากกว่า แต่ถ้าไม่สามารถรีฟาร์มคลื่นได้ก็กลับมาประมูลที่ 12.5 MHz เหมือนเดิม”
ทั้งนี้ ปัจจุบันดีแทคมีลูกค้าที่ใช้งานบนคลื่น 1800 MHz เหลืออยู่ราว 7 ล้านราย ในขณะที่บนคลื่น 1800 MHz ของดีพีซีที่หมดอายุสัมปทานไปแล้วนั้น เหลือลูกค้าค้างในระบบราว 5 พันราย ซึ่งทางเอไอเอสรอหนังสือยืนยันจากทาง กสทช.ในการตัดระบบอยู่ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็พร้อมที่จะคืนคลื่นทั้งหมด
นอกจากนี้ ดีแทคยังมองไปถึงวิธีการประมูลที่เหมาะสมที่สุด คือ การประมูล แบบมัลติแบนด์ เพราะจะทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถเลือกได้ว่าจะประมูลคลื่นใด แต่ถ้าจับแยกกันประมูลจะทำให้ผู้เข้าประมูลตัดสินใจลำบากมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยคลื่นความถี่เพียง 1800 MHz และ 900 MHz ที่นำมาประมูลนั้นไม่เพียงพอต่อการนำมาให้บริการในอนาคต ดังนั้น ทาง กสทช.ควรจะมีแผนการนำคลื่นความถี่อื่นมาประมูลให้ชัดเจนต่อไป อย่างเช่นจะมีการประมูลคลื่นใดบ้าง ในช่วงเวลาใด เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถบริหารจัดการคลื่นความถี่ในการนำมาใช้งานได้เหมาะสม
ลาร์ส กล่าวต่อว่า เป้าหมายหลักของดีแทค คือ เพิ่มปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ ให้เพิ่มขึ้นเป็น 80% จาก 55% ในปัจจุบัน ภายในปี 2017 เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ต้องเริ่มมีการให้บริการ 4G หลังจากที่มีการประมูลคลื่นความถี่
“แน่นอนว่า คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด จึงเห็นว่า การประมูลทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz เมื่อประสบความสำเร็จก็จะสามารถนำมาให้บริการได้ดียิ่งขึ้น โดยแน่นอนว่าดีแทคสนใจประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่”
ส่วนในกรณีของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยปัจจุบันยังไม่ส่งผลกระทบกับดีแทค และยืนยันที่จะลงทุนต่อไป ตามแผนที่กำหนดไว้ในช่วงครึ่งปีหลัง คือ การเร่งขยายพื้นที่ 3G ให้ครอบคลุมประชากร 95% และตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีจะเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 4G ที่เร็วที่สุด พร้อมการปรับโครงสร้างองค์กรให้ครอบคลุม 5 ภูมิภาค ภายใต้งบ 2 หมื่นล้านบาท ที่เพิ่งปรับเพิ่มขึ้นมาจากที่ตั้งไว้ 1.4 หมื่นล้านบาท
ขณะที่การปรับเปลี่ยน คณะรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถือเป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามา แต่เชื่อว่าทางรัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการประมูลโดยเร็ว เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
Company Related Link :
ดีแทค