ชุลมุนไปตามๆกันกับความไม่แน่นอนของการประมูลคลื่นความถี่1800 MHzที่แม้ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กำหนดกรอบเวลาการดำเนินการไว้ชัดเจน และประกาศอย่างหนักแน่นว่า ต้องประมูลภายในวันที่ 11 พ.ย.58จำนวน 2 ใบอนุญาต ๆ ละ12.5 MHzก็ตาม
เนื่องจากที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวจากทั้งฝั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รัฐวิสาหกิจ อย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ อย่าง ดีแทค และ ทรู ที่ต้องการให้เกิดการประมูล3ใบอนุญาตๆละ10 MHzโดย ทั้ง กสท และ ดีแทค ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทาน ยินดีคืนคลื่น5 MHzที่ไม่ได้ใช้งานจากที่เหลือ25 MHz มาเพิ่มให้ประมูลพร้อมกัน
ถึงขนาดขั้นที่ว่านำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติให้เป็นมติที่ประชุมในการนำคลื่น 5MHzมารวมกับ 25MHzเพื่อให้เปิดประมูลที่จำนวน 30MHzจนทำให้ลุ้นกันตัวโก่งว่าท้ายที่สุดแล้วจะทำได้หรือไม่และถ้าทำได้จะประมูล 2 หรือ 3 ใบอนุญาตกันแน่
***กสทช.ยันประมูลกรอบเวลาเดิม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14ก.ค. ที่ผ่านมา มติที่ประชุมกสทช. ยังคงยืนยันตามกรอบระยะเวลาเดิมที่จะเปิดประมูลในวันที่11พ.ย. โดยกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เป็น2ใบอนุญาตๆ ละ12.5 Mhzกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 11,600ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจาก70%ของมูลค่าคลื่นความถี่ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลผ่านคุณสมบัติน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่เปิดให้ประมูล จะเพิ่มราคาตั้งต้นเป็น16,575ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากมูลค่าคลื่นที่แท้จริง รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะนำความถี่ 900 MHz มาประมูลพร้อมกันกับความถี่ 1800 MHz
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า จากนี้ไปจะนำเงื่อนไขการประมูลประกาศลงเว็บไซต์ในวันที่ 17 ก.ค. โดยจะเริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. เป็นต้นไป และจะเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นแห่งแรกที่ จ.เชียงใหม่ในวันที่ 27ก.ค. และวันที่ 3ส.ค.ที่ กรุงเทพฯ โดยคาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่เกินวันที่ 26ส.ค. หลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่มารับเอกสารประกอบในการเตรียมการประมูล (รับซองประมูล) ได้ประมาณวันที่ 28ส.ค.-28ก.ย.และกำหนดให้ผู้สนใจสามารถยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ (ยื่นซองประมูล) ในวันที่ 30ก.ย.
ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายในช่วงระหว่างวันที่ 30ก.ย.-2ต.ค.และจะสามารถประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติได้ในวันที่ 21ต.ค. หลังจากนั้น มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกฎกติกาการประมูลให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงระยะเวลาวันที่ 22ต.ค.-10พ.ย. ภายหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนกระบวนการทั้งหมด สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่1800MHzได้ในวันที่11พ.ย.และจะสามารถรับรองผลและประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ภายในไม่เกินวันที่ 25พ.ย. ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูลและรับใบอนุญาตภายในเดือน ธ.ค.58
การที่มติที่ประชุมยังคงยึดตามกรอบระยะเวลาเดิม เนื่องจาก กสท ไม่ได้คืนคลื่นให้ กสทช. ก่อนมีการประชุมที่กำหนดไว้ในวันที่14ก.ค.เพราะเงื่อนไขที่ กสท ขอมา กสทช.ทำไม่ได้ คือการขอขยายระยะเวลาคลื่นความถี่ 20 MHzที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 61ออกไปเป็นปี 68นั้น ไม่ใช่อำนาจของ กสทช. เนื่องจากกรมไปรษณีย์โทรเลขได้กำหนดชัดเจนให้สิ้นสุดในปี 61 ซึ่งหาก กสท ต้องการขยายระยะเวลาจะต้องทำการปรับปรุงคลื่นความถี่ จาก 2Gเป็นLTEก่อนปี 61 แต่หากคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือบอร์ดดีอี มีมติให้ กสทช.นำคลื่นมาร่วมประมูลพร้อมกัน กสทช.ก็พร้อมปฏิบัติตามแต่ กสทช.ยืนยันว่า กสท ต้องทำ กระบวนการทุกอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ระหว่าง กสท และ ดีแทค ให้เสร็จก่อนวันที่ 17ก.ค.ไม่เช่นนั้น จะทำให้กระบวนการประมูลตามกรอบเวลาเดิมเลื่อนออกไป1-2เดือนได้ เพราะหากล่าช้าไปเพียง 1 วัน จะมีผลให้ล่าช้าเป็นเดือน เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนั้น ต้องทำอย่างน้อย 30 วัน
***บอร์ดดีอี เคาะประมูล 30 MHz ต้องคืนคลื่นแบบไม่มีเงื่อนไข
สิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษา ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า บอร์ดดีอี มีมติให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม ต้องคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 5 MHz ให้กสทช.มาประมูลพร้อมกับคลื่น 1800 MHz ที่ กสทช. จะเปิดประมูลในวันที่ 11 พ.ย.นี้ ทำให้มีจำนวนคลื่นประมูล 30 MHz จากเดิมที่มีอยู่ 25 MHz โดยไม่มีเงื่อนไขตามที่ กสท ขอให้คลื่นอีก 20 MHz ที่เหลือขยายระยะเวลาการถือครองคลื่นออกไปถึงปี 68
สำหรับมติดังกล่าว ประธาน กสทช. พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ก็ยินดีรับไปปฏิบัติตาม ขณะที่พรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที รับปากว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท และ ดีแทค พร้อมกับรายงานคณะกรรมการตามมาตรา 43 ได้ทันภายในวัน 17 ก.ค. เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเห็นชอบ
'เรื่องนี้ กสท ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะคลื่นถือเป็นสมบัติของประเทศชาติ ไม่ใช่ของ กสท ความจริงควรจะคืนมามากกว่านี้ด้วยซ้ำ ส่วนหาก กสท ไม่พอใจเรื่อง 20 MHz ที่เหลือและจะไปฟ้องร้อง กสทช. ก็เป็นเรื่องของ กสท บอร์ดดีอีไม่นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกัน'
ด้าน พรชัย กล่าวว่า การที่ กสท ต้องการเสนอเงื่อนไขดังกล่าว เพราะเกรงว่าอนาคตกสทช.จะขอคลื่นคืนมาทั้งหมด จึงขอสงวนสิทธิ์ในการยึดเวลาในการหมดอายุในปี 68 ดังนั้น กสท จะไปฟ้อง กสทช.ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับมติบอร์ดครั้งนี้ และขอย้ำว่าการประมูลต้องเกิดขึ้นตามกำหนดการเดิมไม่เลื่อนแม้แต่วันเดียว
***25 MHzศึกครั้งนี้เพื่อใคร
หากย้อนกลับไปตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จะพบว่า กสท มีความพยายามในการคืนคลื่นที่มีสัญญาสัมปทานกับดีแทคอยู่จำนวน 25MHzที่ไม่ได้ใช้งานคืนให้กสทช.มาประมูลทั้งหมดด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมีการนำเรื่องเข้าบอร์ดดีอีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุชัดเจนว่า ไม่ควรนำมารวมกันพร้อมยืนยันว่า หากอะไรที่ยังมีปัญหา หรือเจรจากันไม่เรียบร้อย ก็ต้องยึดประมูลในคลื่นที่ว่าง และพร้อมเท่านั้น ซึ่งอำนาจการจัดประมูลต้องขึ้นอยู่กับ กสทช.เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายชัดเจน ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากบอร์ดดีอี กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า ดีแทค และ กสท ตกลงจะนำคลื่นดังกล่าวแบ่งให้ 5 MHzเพื่อมาประมูลรวมกันเท่านั้น แต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรไม่เห็นด้วยในสิ่งที่ยังไม่ได้ข้อสรุป พร้อมบอกให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ในการดำเนินการประมูลกับคลื่นที่ว่างอยู่เท่านั้น
แต่ความพยายามของ กสท ก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.58 พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท เดินทางมาพบเลขาธิการกสทช.เพื่อเจรจาคืนคลื่นให้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผลการเจรจาได้ข้อสรุปที่น่าพอใจว่า กสทช.จะรอให้ กสท มาคืน และจะนำมาประมูลที่ 30 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตๆละ 15 MHz แต่ต้องคืนให้ทันเวลา ปราศจากเงื่อนไข เพื่อไม่ให้กระทบกรอบเวลาเดิม
พร้อมกับมีกระแสว่า ดีแทค ต้องการคืนแบบมีเงื่อนไขโดยต้องการให้ประมูล 3 ใบอนุญาตๆละ 10 MHzทำให้ เลขาธิการกสทช.ถึงกับต้องทำวาระเสนอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เรื่อง การกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องถือครองคลื่นความถี่โทรคมนาคม ทั้งที่อยู่ในสัญญาสัมปทาน และไม่ได้อยู่ในสัญญาสัมปทานรวมแล้วไม่เกิน60 MHzซึ่งจะนับรวมคลื่นทั้งของบริษัทที่เข้าร่วมประมูล และบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกันทุกด้านไม่ว่าพฤตินัยและนิตินัย หากผู้เข้าร่วมประมูลถือครองคลื่นความถี่เกินจำนวนดังกล่าวต้องคืนคลื่นจำนวนไม่น้อยกว่าที่ประมูลได้คืนให้เจ้าของคลื่น หากต้องการคืนคลื่นที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทานก็ให้คืนกับเจ้าของสัญญาสัมปทาน เพื่อนำไปใช้งานต่อได้ แต่หากเป็นคลื่นที่ได้มาจาก กสทช.ก็ให้คืนมายัง กสทช.ซึ่งเงื่อนไขนี้ได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุมกสทช.ในที่สุด
เงื่อนไขการจำกัดการถือครองความถี่ จึงกระทบกับดีแทคอย่างจัง เพราะมีคลื่นความถี่ 850 MHzจำนวน10 MHzคลื่น1800 MHzจำนวน50 MHzที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของ กสท และจะหมดสัญญาในปี 61นอกจากนี้ ยังมีคลื่น2100 MHzอีกจำนวน15 MHzจึงนับว่าเป็นผู้ประกอบการที่คลื่นมากที่สุดถึง75 MHz
แต่เกมการคืนคลื่นก็ยังเดินหน้าต่อไป เมื่อ รมว.ไอซีที พร้อมจะช่วยเต็มที่โดยในการประชุมคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ประชุมก็มีมติให้กสท คืนคลื่น 5 MHzให้กับ กสทช.มาประมูลพร้อมกันตามเจตนาที่กสท ต้องการ แต่ต้องไม่มีปัญหากับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของ กสท เอง ทำให้ในวันที่ 3 ก.ค.ซีอีโอดีแทค ลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ชัยยศ จิรบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ควงคู่มากับซีอีโอ กสท เพื่อมายืนยันการคืนคลื่นอีกครั้งกับ กสทช. อย่างไม่ได้มีเงื่อนไข และพร้อมจะส่งจดหมายคืนคลื่นอย่างเป็นทางการให้ กสท เพื่อให้ กสท นำเข้าที่ประชุมบอร์ดและมีมติคืนให้กสทช.ต่อไป
แม้ว่าจดหมายของดีแทคจะส่งมาให้ กสท ภายในวันที่ 9 ก.ค.และสำเนาถึงมือกสทช.แล้วก็ตาม และถึงแม้ กสท จะนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 13 ก.ค.ทันก็ตาม แต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างที่คิด พร้อมกับแรงต้านจากสหภาพแรงงานฯ ที่ถามถึงอำนาจในการคืนคลื่นว่าควรเป็นของใครกันแน่ ทำให้เกมคืนคลื่นต้องเบนเข็มให้ผู้มีอำนาจอีกฝากหนึ่งที่ไม่ใช่ กสทช.ตัดสินนั่นคือบอร์ดดีอี
พ.อ.สรรพชัย ให้เหตุผลว่าบอร์ดไม่ขัดข้องในการให้คืนคลื่นจำนวนดังกล่าวแต่ขอให้กระทรวงไอซีทีพิจารณาขอความชัดเจนจาก กสทช. ในเรื่องสิทธิ์ถือครองคลื่นที่เหลืออีก 20MHzยังเป็นสิทธิ์ของ กสท เพราะดีแทคยังไม่เคยมีการใช้งานจึงถือว่าไม่รวมอยู่ในสัญญาสัมปทาน ที่จะหมดลงในปี 61 จึงขอเป็นสิทธิ์เดิมของกสท ที่จะนำมาใช้ตามใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะหมดอายุปี 68ซึ่งที่ผ่านมา กสท ได้ส่งหนังสือไปถึง กสทช. เพื่อขอยืนยันสิทธิ์และขอปรับปรุงคลื่นความถี่1800 Mhzหลายครั้งแล้วแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และขอยืนยันว่าการคืนคลื่นจะขึ้นอยู่กับ กสท นโยบายกระทรวงไอซีทีและบอร์ดดีอี โดยหลังจาก กสท ได้ความชัดเจนเรื่องสิทธิของ กสท แล้ว นโยบายและการตัดสินใจขั้นต่อไปเป็นการพิจารณาของกระทรวงไอซีทีและบอร์ดดีอี ซึ่ง กสท ไม่ขัดข้องและยินดีปฎิบัติตามซึ่งขั้นตอนต่อไปคือจะต้องส่งเรื่องเข้าสู่กระทรวงไอซีที แจ้งกระทรวงการคลังและผ่านคณะกรรมการมาตรา43
ดังนั้นจึงต้องการให้ กสทช. มองภาพรวมของการใช้ประโยชน์ที่ประเทศจะได้จากการประมูลคลื่นจำนวน25 MHzซึ่งหากรอให้สามารถเพิ่มได้เป็น30 MHzประเทศชาติประชาชนจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นและเมื่อมีความชัดเจนในเรื่องสิทธิในการดำเนินการของคลื่นที่เป็นปัญหาอยู่ ก็จะสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งและปัญหาต่างๆ อันเป็นผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ เพราะ กสท เองก็มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ทั้งหมด ผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะมีขึ้นจากความชัดเจนในครั้งนี้ ก็จะตกแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติประชาชนต่อไป
แหล่งข่าวระดับสูงจากกสทช. กล่าวว่า สิ่งที่ กสท ทำ เพื่อจะขยายเวลาการถือครองคลื่น จำนวน20MHzออกไปอีกนั้น มองว่าไม่ได้ต้องการทำ4Gกับ ดีแทค แน่นอน เพราะหากขยายระยะเวลาแล้วก็เหลือเวลาอีกเพียง 9 ปี ดีแทคต้องลงทุนและพัฒนาใหม่หมดนั้น เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า แต่หาก กสท จะหันไปทำร่วมกับทรู ซึ่งมี บีเอฟเคที ของทรูอยู่แล้วน่าจะง่ายกว่าและทรูก็ไม่ต้องประมูล เพราะที่ผ่านมาทรูก็พยายามเสนอความเห็นผ่านสื่อตลอดว่าต้องการให้ประมูล 3 ใบอนุญาต ๆ ละ 10MHzเพื่อจะได้ไม่ต้องแข่งขันกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เคยให้ความเห็นว่าแบนด์วิธขั้นต่ำของใบอนุญาต 4Gควรอยู่ที่ 15MHz
'ประเด็นเรื่องขยายเวลาของ 20MHzที่เหลือ คิดว่าคงทำตามเงื่อนไขนี้ไม่ได้ นอกจาก กสทช.ไม่มีอำนาจเพราะผิดกฎหมายแล้ว บอร์ดดีอีหรือ ครม.ก็ไม่น่าจะกล้าทำ คงต้องรอให้ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ก่อน แต่พ.ร.บ.ก็ไม่ได้บอกให้ขยาย มีแต่เรื่องเยียวยา'
Company Related Link :
กสทช.