xs
xsm
sm
md
lg

GSMA ชี้ไทยมีหลายอุปสรรคในการก้าวสู่ Digital Economy

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรยายภาพ - เจียร์-รง โลว์ ผู้อำนวยการด้านการวางแผนกลยุทธ์และการสร้างสรรค์ องค์กรบริหารทรัพยากรโดเมนโลก(ไอคานน์), สาเมียร์ ชาร์มา ที่ปรึกษาอาวุโส สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก, คริส ซุล ผู้อำนวยการการให้คำปรึกษาด้านความถี่ สมาคมจีเอสเอ็ม ประจำทวีปเอเซีย, และดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหาร อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ (ไอซอก) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) แนะนโยบาย Digital Economy จะสำเร็จ ต้องข้ามผ่านหลายอุปสรรค ชี้ไทยเริ่มเดินถูกทางหลังมีความชัดเจนในการประมูล 4G ด้านไอคานน์-ไอซอก แนะต้องใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลักในการให้ประชาชนในชนบทเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเนื้อหาในเว็บต้องเป็นภาษาไทย ขณะที่ไอทียูเผยจับมือไอซีทีศึกษาการก้าวสู่ Digital Economy หวังเป็นโมเดลต้นแบบให้ประเทศอื่น

นายคริส ซุล ผู้อำนวยการให้คำปรึกษาด้านความถี่ประจำทวีปเอเชีย สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) กล่าวว่า นโยบาย Digital Economy ของประเทศไทยจะประสบความสำเร็จได้ ต้องก้าวผ่านอุปสรรคที่สำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปองค์กรในประเทศไทยต้องมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง เช่น แนวคิดในการรวมทรัพยากรมาใช้งานร่วมกันของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน ) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ต้องการให้ประเทศไทยนำมาตรฐานระดับสากลมาใช้ในการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล ตลอดจนการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และพร้อมนำความคิดเห็นมาแก้ไขและปรับใช้ให้เหมาะสม ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็นต้นแบบให้ประชาชนดูก่อน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการส่งสัญญาณที่ดีที่จะเปิดให้มีการประมูล 4G ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งไทยควรสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน มีคลื่นความถี่ต่อใบอนุญาตที่เหมาะสม จะได้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือหลายรายเข้ามาร่วมลงทุน

ด้านนายเจียร์-รง โลว์ ผู้อำนวยการด้านการวางกลยุทธ์และการสร้างสรรค์ องค์กรบริหารทรัพยากรโดเมนโลก (ไอคานน์) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 48 จาก 65 ประเทศ ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยไปถึงนโยบายดังกล่าว คือ ให้ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้มากที่สุด โดยรัฐบาลต้องสร้างเนื้อหาให้เป็นภาษาไทยเพื่อให้ประชาชนสนใจอ่านและเข้าถึงมากขึ้น

ขณะที่นางสาวดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหาร อินเทอร์เน็ต โซไซตี้ สิงคโปร์ (ไอซอก) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ประชากรในประเทศไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ถึง 30 % ดังนั้น โทรศัพท์มือถือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชากรในชนบทเข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายที่สุด ขณะเดียวกัน อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมีแอปพลิเคชันในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา หรือรถยนต์ ต้องมีระบบปฏิบัติการที่เชื่อมต่อกันได้ รัฐบาลจึงต้องสร้างให้มีระบบปฏิบัติการแบบเปิดเพื่อให้แอปพลิเคชันแต่ละแอปเชื่อมโยงกันได้ โดยรัฐบาลสามารถสนับสนุนให้คนไทยพัฒนาแอปพลิเคชันได้เองโดยไม่ต้องใช้ของต่างประเทศ

ทั้งนี้ นายสาเมียร์ ชาร์มา ที่ปรึกษาอาวุโส สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ ไอทียู กล่าวว่า ประเทศไทยมีอุปสรรคในการเข้าถึงบรอดแบนด์สูง ส่งผลให้เป็นประเทศที่มีจีดีพีระดับกลาง เพราะประชากรส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ดังนั้น รัฐบาลต้องผลักดันให้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และต้องพัฒนาเนื้อหาในเว็บให้เป็นภาษาไทย

อย่างไรก็ตาม ไอทียู ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และรัฐบาลออสเตรเลีย ได้ร่วมมือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ในการทำโครงการการศึกษาและพัฒนาศักยภาพในการก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิตอล โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือน ก.ค.ถึงไตรมาสแรกของปี 59 เพื่อศึกษารายละเอียดเชิงลึกในการนำประเทศไทยไปสู่นโยบายดังกล่าว จัดให้มีการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และช่วยสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในการเป็นบุคลากรในยุค Digital Economy ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะกลายเป็นต้นแบบในการก้าวสู่ Digital Economy

นายคริส กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังจะก้าวสู่ Digital Econony แต่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีนโนบายไม่ต่างกัน ดังนั้น การประชุมนโยบายดิจิตอลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ประจำปี 2015 โดยสมาคมจีเอสเอ็มและไอทียู ซึ่งเป็นงานแรกที่สมาคมจีเอ็มเอสและไอทียูร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไอคานน์และไอซอก จึงได้รวบรวมผู้บริหารระดับที่มีอำนาจการตัดสินใจ ผู้บริหารระดับนโยบาย ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมและผู้ส่วนเกี่ยวข้องในงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จำนวนกว่า 100 คน เพื่อเข้าร่วมลงความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายสังคมดิจิตอลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งร่วมกันพิจารณานโยบายของชาติที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมดิจิตอลโดยใช้กรอบของผลการวิจัยและนโยบายอื่นๆ

การประชุมครั้งนี้ยังพุ่งประเด็นไปที่ความสำคัญของนโยบายด้านคลื่นความถี่ และประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ของโมบายล์บรอดแบนด์ โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายประเทศร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับเทรนด์ของโลก ด้านเทคโนโลยีและความต้องการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ รวมถึงอุปสรรคและโอกาสที่จะเกิดขึ้นระหว่างการก้าวไปสู่สังคมดิจิตอลทั่วภูมิภาคซึ่งมีความแตกต่างกัน

การประชุมนโยบายสังคม ดิจิตอลนำผู้เกี่ยวข้องหลักๆ ทั้งรัฐบาลและผู้ให้บริการมาทำงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่า เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโมบายเทคโนโลยีในแต่ละประเทศสามารถตอบโจทย์ของการพัฒนาสู่สังคมดิจิตอลได้ ทั้งนี้ การจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่เพียงพอ รวมทั้งมีเงื่อนไขด้านภาษีที่ดึงดูดการลงทุนมากพอ รวมถึงแคมเปญสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริการด้านดิจิตอล ที่ควรจะมีมากพอในหลากหลายช่องทางและในภาษาต่างๆ ปัจจุบันมี 6 ประเทศในภูมิภาคที่เข้าร่วมในแนวคิดเกี่ยวกับสังคมดิจิตอลประกอบด้วย บังคลาเทศ อินเดีย อินโดนีเชีย มาเลเชีย ปากีสถาน และประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่จัดการประชุมนี้และนับเป็นประเทศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

Company Related Link :
GSMA

Instagram


กำลังโหลดความคิดเห็น