xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ย ชี้โอเปอเรเตอร์ต้องมีคลื่น 300 MHz เพื่อให้บริการ 4G เต็มประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หัวเว่ย แนะไทยพร้อมขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการ 4G LTE ได้ ถ้ามีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเพียงพอ ระบุในอนาคตโอเปอเรเตอร์แต่ละรายต้องการคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 300 MHz เพื่อนำมาให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือประสิทธิภาพสูง ในระดับ 4.5G ก่อนเข้าสู่ยุค 5G หลังปี 2020

เสี่ยว หยู รองประธานบริหารด้านโซลูชัน และการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด กล่าวว่า ทางหัวเว่ย มองว่าการที่ทาง กสทช.จะเปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ในช่วงปลายปีนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการให้บริการ 4G LTE ในประเทศไทย แม้ว่าคลื่นความถี่ที่มีจะไม่เพียงพอต่อการให้บริการในระยะยาว

“ในการนำคลื่นความถี่มาให้บริการ 4G LTE ในภูมิภาคยุโรป ผู้ให้บริการมีคลื่นความถี่ในการให้บริการกว่า 150 MHz และคาดว่าจะต้องมีการเพิ่มเป็น 300 MHz ในอนาคตอันใกล้ เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ผู้บริโภค”

โดยทางหัวเว่ย มีการศึกษา และมั่นใจว่าภายในสิ้นปี 2015 จะมีผู้ใช้บริการ 4G LTE ทั่วโลกกว่า 1 พันล้านราย และในปี 2020 จะเพิ่มเป็น 3 พันล้านราย ในขณะที่ความเร็วในการเชื่อมต่อจะเพิ่มจาก 100 Mbps ในปัจจุบัน ไปสู่ 450 Mbps ภายในสิ้นปีนี้ และภายในสิ้นปีหน้าความเร็วสูงสุดจะขึ้นไปสูงถึง 1 Gbps

แน่นอนว่าในการให้บริการได้ถึง 1 Gbps ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ที่เพียงพอต่อการให้บริการ คือ 300 MHz และจะถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุค 4.5G ที่จะได้ความเร็วในการเชื่อมต่อสูงกว่า 1 Gbps อุปกรณ์ทุกชนิดจะเริ่มเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต โดยแต่ละสถานีฐานจะรับปริมาณผู้ใช้งานได้กว่า 1 แสนรายพร้อมๆ กัน ขณะที่ความเร็วในการติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ (Latency) จะอยู่ที่ราว 10ms

บ็อบ ไช่ ประธานโครงข่าย LTE TDD หัวเว่ย มองถึง 3 ส่วนหลักๆ ที่หัวเว่ยจะช่วยให้ไทยสามารถเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้ คือ การที่ผู้ให้บริการจะต้องวางเป้าหมายในการให้บริการ 4G LTE ความเร็วไม่ต่ำกว่า 300 Mbps ภายในปี 2020 ขณะเดียวกัน ต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออยู่ รวมไปถึงคลื่นที่เหมาะสมอื่นๆ อย่าง 700 MHz 2300 MHz และ 2500 MHz

สุดท้ายคือ ความร่วมมือกับ หัวเว่ย ที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่า 50% ซึ่งพร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย ไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส ดีแทค และทรู ในการที่จะผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการ 4G LTE ในภูมิภาคนี้ ทั้งในแง่ของพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม และประสิทธิภาพในการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ของโอเปอเรเตอร์เชื่อว่าจะมีการลดลงเหมือนกรณีการเปลี่ยนผ่านจาก 2G ไป 3G เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ 4G LTE จะสร้างรายได้จากการโทรศัพท์น้อยลง ทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องหาช่องทางอื่นในกาสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการให้บริการด้านอื่นๆ ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อย่างการนำคอนเทนต์เฉพาะมาให้บริการ

Company Relate Link :
Huawei
กำลังโหลดความคิดเห็น